คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น : ในความเป็น‘เพื่อน’ : โดย จันทร์รอน

ในยุคสมัยของสังคมออนไลน์ ที่พาเพื่อนเก่ากลับมารวมกลุ่มเจอะเจอกันมากมาย

ดูว่า “คุณธรรมน้ำมิตร” จะได้รับการนำเสนอเป็นเครื่องเตือนใจไม่น้อย คำคมทำนอง “เพื่อนกันไม่ทิ้งกัน” หรือ “ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความเป็นเพื่อน” นั้น

มีการคิดประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงกันมากมาย มีเพลงหลายเพลงที่แต่ง และร้องเพื่อในความหมายนี้

ในโลกที่ “วัตถุนิยม” รุ่งเรือง

Advertisement

เมื่อความสุขของคนเราฝากไว้กับ “ความมั่งมี”

ศรัทธาของผู้คนไปตั้งมั่นอยู่ที่ “ความร่ำรวย” ใครแสวงหาทรัพย์สมบัติได้มากกว่าถือเป็นผู้ที่มี “ความมั่นคง” ในชีวิตสูงกว่า

นำมาซึ่งความนับหน้าถือตา บารมี

Advertisement

สังคมเช่นนี้ แก่นแกนการคบหาสมาคมจึงไปอยู่ที่ “การมองไปที่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ” เป็นตัวกำหนด

เมื่อรู้จักกับใครสักคน คนในสังคมเช่นนี้จะเริ่มต้นด้วยการประเมินว่า “จะได้หรือไม่เสียอะไรบ้าง”

ถ้าประเมินแล้ว “ไม่ได้อะไร มีแต่ที่จะต้องเสีย” ที่จะตามมาคือจะหลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปเฉียดใกล้ เลยไปถึงขั้นแสดงท่าทีหมิ่นแคลน เพื่อปิดทาง ทำให้คนผู้นั้นรับรู้ว่าจะต้องออกไปให้ห่าง จะเกิดความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์

แต่ถ้าประเมินแล้ว เป็นคนที่หากคบหาสมาคมแล้ว มีแต่จะได้ ไม่มีเสียอะไร หรือได้มากกว่าเสีย จะเกิดความพยายามที่จะเข้าไปใกล้ชิด หาทางสนิทสนม เกิดความรู้สึกโหยหาความสัมพันธ์ที่ดีจากคนคนนั้น

และหากประเมินแล้วเกิดความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ได้ไม่เสียอะไรกับการคบหาสมาคม ที่จะตามมาคือ ไม่ใส่ใจ ไม่ให้คุณค่าอะไรกับคนคนนั้น เจอกันก็ทักทายกันไป ไม่หลีกหลบ แต่ไม่นึกถึง

มีคนจำนวนมาก หรือว่าไปเกือบทั้งหมด เติบโตมาในสังคมที่มีค่านิยมเช่นนี้

คบหา หรือสนิทชิดเชื้อกันด้วยผลประโยชน์แลกเปลี่ยน

หากจะคบกันต้องมีประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้กันได้

เป็นประโยชน์ในทางวัตถุ อำนาจ บารมี ช่องทางแสวงประโยชน์

เป็นความคิดในแบบ “คำคม” ประเภท “นกต้องมีขน คนต้องมีเพื่อน จึงจะเจริญรุ่งเรือง” หรืออะไรทำนองนั้น

การศึกษาที่ผ่านมาถูกออกแบบเพื่อให้เกิดค่านิยมเช่นนี้มากมาย

และหากพิจารณาให้ดี สังคมแบบนี้ นี่เองที่ทำให้ “เพื่อนเก่าที่กลับมาเจอกันใหม่ในด้วยสังคมออนไลน์” เรียกหามิตรภาพที่ต่างออกไป

เป็น “มิตรภาพ” ที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

เป็นเพื่อนที่ “มีน้ำใจต่อกันโดยไม่เจอด้วยความคาดหวังในผลประโยชน์อื่น”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความสัมพันธ์เช่นนั้น แม้จะโหยหาอยากให้เกิด เพราะเป็น “มิตรภาพที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก” แต่เกิดด้วย “จิตใจบริสุทธิกว่า” ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย

อาจจะเกิดขึ้นกับบางคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมชีวิตอย่างชิดใกล้มาก่อน

แต่กับส่วนใหญ่ ยังทำใจให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้

เพราะการคบหาสมาคมด้วยการประเมินผลประโยชน์ที่จะได้รับอยู่ตลอดเวลา ได้กลายเป็น “ค่านิยม” ที่ยึดครอง นำพาความรู้สึกนึกคิดไปแล้ว

อยู่ๆ จะมาให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

เช่น คบหาสมาคมกับเพื่อน เพื่อพัฒนาจิตใจของเราเองให้มีความเป็น “มิตรแท้” หรือ “เพื่อนที่มีแค่ให้” โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ตอบแทนนั้นเกิดขึ้นยาก

ทั้งที่ในทางจริยธรรม หรือคุณธรรมแล้ว

การคบหาสมาคมกันระหว่างมนุษย์ ในฐานะ “เพื่อนร่วมทุกข์” อันควรเข้าใจ และช่วยเหลือกันนั้นเป็นความดีงามที่ควรไปให้ถึง

จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาของเรา มีความมุ่งหมายในการนำพาผู้คนให้เติบโตไปในวิถีทางนั้น
เป็นเรื่องที่ควรจะคิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image