ขบคิดกฎหมายค้าประเวณี ‘ปรับแก้’ หรือ ‘ยกเลิก’

อยู่ในช่วงเดือนประกาศผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2018 (Trafficking in Persons (TIP) Report 2018) ซึ่งช่วงนี้หลายหน่วยงาน รวมถึงภาคเอ็นจีโอต่างจัดงานรณรงค์ต่อต้านการมนุษย์กันมากมาย

ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการพูดถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังดำเนินการปรับแก้

ดั่งเช่นในงาน “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” จัดโดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

Advertisement

ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี

น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2560 มูลนิธิได้ส่งรายงานคู่ขนานกับรายงานที่จัดทำโดยรัฐบาลไปยังคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือซีดอว์ (CEDAW) เพื่อให้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์บุกทลายร้านอาบอบนวดนาตารี ปรากฏว่าคณะกรรมการซีดอว์ได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทย คือ ให้ยกเลิกความผิดการค้าประเวณี แล้วให้ใช้กฎหมายแรงงานและสวัสดิการเข้ามาคุ้มครองพนักงานบริการ ทั้งนี้ เพราะจากเหตุการณ์บุกทลายอาบอบนวดนาตารีและวิคตอเรีย ซีเคร็ท ได้สะท้อนถึงปัญหาการล่อซื้อ ซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าข่ายสร้างหลักฐานโดยไม่สุจริต ตลอดจนการได้รับการคุ้มครองดูแลที่ไม่ดีเลยของหน่วยงานรัฐระหว่างกันตัวไว้เป็นพยาน ซึ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ พ.ร.บ.ค้าประเวณีฯตีตราให้อาชีพนี้ผิดกฎหมาย

“หากรัฐบาลปฏิบัติตามอนุสัญญาซีดอว์ คือยกเลิกกฎหมายค้าประเวณี จะทำให้พนักงานค้าบริการ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 300,000 คน ได้รับสิทธิและสวัสดิการเสมือนแรงงานทั่วไป เชื่อว่าเมื่อเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายแล้ว พวกเธอจะเป็นกลไกให้รัฐในการแจ้งเหตุ เมื่อพบผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีมาค้าบริการหรือผู้หญิงที่ถูกบังคับหลอกลวงมา ซึ่งเหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ” น.ส.ทันตากล่าว

Advertisement

 

ความ’ย้อนแย้ง’ที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2546 เพื่อให้สถานอาบอบนวดเปิดได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับกันว่าทุกคนที่เข้าไป ล้วนแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทั้งนั้น แต่ทำไมตัวพนักงานบริการเองยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะผิดกฎหมาย จึงเห็นด้วยกับการทำให้โสเภณีเป็นเรื่องถูกฎหมาย ให้มีการลงทะเบียน เพื่อนำมาสู่การยกระดับเป็นแรงงานสาขาหนึ่ง

“ด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจ ระดับความรู้ทางการศึกษา ทำให้ผู้หญิงอาจต้องออกมาเป็นพนักงานขายบริการ ซึ่งพอกฎหมายกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็เป็นช่องให้พวกเธอถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้า สถานบริการถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ เพื่อแลกกับการปล่อยปะละเลย และนำมาสู่ปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ดี” พ.ต.ท.กฤตธัชกล่าว

ภาพรอยเตอร์

 

สังคมไทย’หลอกตัวเอง’

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า จากกรณีสถานอาบอบนวดนาตารี สะท้อนว่าสังคมไทยกำลังหลอกตัวเองเรื่องการมีผัวเดียวเมียเดียว

“กฎหมายก็ยังมุ่งเอาผิดผู้หญิง พวกเธอต้องคลุมโม่ง เพื่อปิดบังอัตลักษณ์ ต้องอับอาย รู้สึกว่าตัวเองคือคนร้าย ส่วนผู้ชายที่มาซื้อบริการกลับถูกปล่อยหมดเลย”

ขณะนี้ สค.กำลังดำเนินการปรับปรุงกฎหมายค้าประเวณีอยู่ อังคณาฝากไว้ว่า อยากให้รับฟังความคิดเห็นของพนักงานขายบริการด้วย รวมถึงการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะไปมุ่งทำงานสงเคราะห์ผู้หญิงเท่านั้น

น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า มูลนิธิผู้หญิงก็เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เพราะจากที่ดู สค.ปรับแก้กฎหมาย เขาไม่เคยสนใจประเด็นความต้องการผู้หญิงค้าบริการเลย นึกแค่จะปรับปรุงอย่างไรให้ทันสมัย ป้องกันผู้หญิงถูกล่อลวง เอาผิดผู้ซื้อบริการเด็กได้อย่างไร ซึ่งตนคิดว่าอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมตรงนั้นคือ ไม่เอาผิดผู้หญิงที่ค้าบริการแล้วเอาคนเหล่านั้นมาเสริมการทำงาน

 

‘เยอรมนี’ต้นแบบแก้ค้าประเวณี

น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จ ในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในด้านค้าประเวณี เนื่องจากเขาไม่มีกฎหมายไล่จับผู้หญิง แต่มีกฎหมายที่เอาผิดผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับผู้หญิงเท่านั้น ภาครัฐของเขาจึงได้รับความร่วมมือจากผู้หญิงค้าบริการมาก แต่ของเราผิดตั้งแต่แนวคิดแล้ว ไปโทษผู้หญิงที่ค้าบริการว่าทำผิดศีลธรรมเหมือนผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ฉะนั้นจึงเห็นด้วยหากจะยกเลิกกฎหมายค้าประเวณีในไทย ส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้หญิงค้าบริการมาร่วมมือกับรัฐแก้ปัญหาค้ามนุษย์ต่อไป

“คิดว่า พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์เพียงพอแล้วกับประเด็นการบังคับค้าประเวณี ฉะนั้นก็อยากให้มาร่วมคิดว่า พ.ร.บ.ค้าประเวณีที่เอาผิดผู้ค้าบริการทั้งหมด ทั้งที่สมัครใจ จำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่”

“และบางทีดิฉันก็คิดว่าหากจะจับผู้ขายบริการ ทำไมไม่จับผู้ซื้อบริการด้วย นี่รัฐกำลังเลือกปฏิบัติอยู่หรือไม่” นา.ส.นัยนากล่าว

 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร
อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง
พ.ต.ท.กฤตธัช อ่วมสน รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image