เรื่องจริงจากผู้รอดมะเร็ง ‘จดบันทึก’ ช่วยชีวิต

จากสถิติแล้ว ไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึงปีละ 130,000 ราย และในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตถึง 60,000 ราย หรือเท่ากับ 1 คน ต่อ 7 นาที ถือได้ว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยมานับทศวรรษ

แม้ว่าจะเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หายจากมะเร็งชนิดต่างๆ จากการรักษาอย่างถูกวิธีและดูแล หมั่นสังเกตอาการตนเอง เป็นที่มาให้กลุ่มอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ จัดทำ “สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง” ขึ้น มอบให้กับผู้ป่วย 13,000 รายที่กำลังต่อสู้กับภัยร้าย พร้อมจัดงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 6 ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช โดยได้ ดร.นพ.อาจรบ คูหาภินันท์ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ดร.ศิวนนท์ จิรวัธโนทัย สาขาวิชาเภสัชวิทยาระดับโมเลกุล ภาควิชาเภสัชวิทยา ร่วมเสวนา

“ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์” อดีตผู้ป่วยมะเร็งหัวใจเจ้าของโครงการ เผยว่า ตอนที่เป็นมะเร็ง แพทย์หลายคนบอกว่าเป็นเคสที่ยากและอาจอยู่ได้ไม่นาน ครั้งหนึ่งเกิดช็อกไปไม่ได้สติ โชคดีที่เราเป็นคนบันทึกตลอดว่า แพ้ยาอะไร ให้คีโมวันไหน ใช้อะไรแล้วดีขึ้น ทำให้หมอใช้ข้อมูลตรงนี้ช่วยเราในยามวิกฤตให้รอดชีวิตได้ จึงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ก็ได้เอาประสบการณ์โดยตรงขณะป่วยมาเขียนเป็นหมวดต่างๆ

Advertisement

ดร.ศิวนนท์ให้ความรู้ว่า ความยากในการรักษาคือเซลล์มะเร็งนั้นอยู่ในร่างกายเราแต่แรก ไม่เหมือนโรคอื่นๆ จากการเก็บข้อมูล 10 ปีหลังเราพบว่า หากอายุยืนถึง 80 ปี ก็มีโอกาสจะป่วยเป็นมะเร็งถึง 80% ยิ่งหากอายุ 90 ปี ก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งถึง 100% แต่มะเร็งบางชนิดแสดงอาการช้าจนคนไข้อาจเสียชีวิตก่อนเป็นโรค เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่เชื่อได้ว่าหากเจาะตรวจชายอายุ 80 ปีขึ้นไป ย่อมพบทุกคน ซึ่งการรักษาก็มีด้วยกันหลายอย่าง วิธีหนึ่งคือการให้แอนติบอดี้เข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งนี้เอง ซึ่งการมีสุขภาพจิตที่ดี กำลังใจที่ดี มีความสุข ย่อมทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเราทำงานได้ดี

ดร.ศิวนนท์ – ดร.อาจรบ

ขณะที่ ดร.นพ.อาจรบเผยว่า การรักษาโรคมะเร็งทุกวันนี้มีวิธีแตกต่างกันไปเยอะมาก และจากประสบการณ์ก็จะพบว่าที่จริงแล้วเมื่อเริ่มมีอาการ คนไข้มักรู้ว่าอยู่แล้วว่าเป็นมะเร็ง แต่ไม่กล้ามาหาหมอเพราะกลัวความจริง บันทึกเล่มนี้จึงจะช่วยหมอได้ เมื่อเขาบันทึกว่าเขาเริ่มมีอาการเมื่อไหร่ เกิดอะไร เป็นก้อนที่ไหน เพื่อให้รู้ว่าระยะของมะเร็งถึงจุดไหนแล้ว ขณะที่คนไข้ที่เป็นมานานก็จะได้รู้ว่าเขาไปทำหรือทานยาอะไรไหม ผลข้างเคียงของการรักษาเป็นอย่างไรเพื่อจะได้รู้ว่าเขาควรรักษาทางไหน อย่างบางคนเกิดโรคแทรกซ้อน เป็นเริม หรือเป็นงูสวัด เพราะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ก็จะได้จดไว้ถามแพทย์ได้ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้การรักษาคนไข้ทำได้ง่ายขึ้นด้วย

พิชิตโรคร้าย

Advertisement
ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ นำเสวนา
ผู้ร่วมเสวนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image