เปิดมุมสะท้อนสังคม “นิสิต มศว” แง่คิดจาก”ถุงยางอนามัย”

หลายคนคุ้นชินกับผลโพลที่เป็นสถิติ รับรู้แล้วปล่อยผ่านไป แต่กับผลโพลนี้คงลืมไม่ลง เพราะถูกนำมาสะท้อนผ่านศิลปะการแสดง หาคำตอบได้ในงานมอบรางวัลการประกวดละครเยาวชน “Act Out Loud x U-Report ตอน เสียงของเยาวชน” ณ โรงละคอน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไทย

โดย นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เพราะเสียงของเด็กและเยาวชนมีความหมาย ไม่แพ้เสียงของผู้ใหญ่ ยูนิเซฟจึงสำรวจเสียงของเด็กและเยาวชนผ่านโครงการยูรีพอร์ต ซึ่งเก็บข้อมูลเยาวชนอายุระหว่าง 13-24 ปี ผ่านระบบเฟซบุ๊กแมสเสนเจอร์ จากนั้นจะนำข้อมูลมาเป็นสิ่งประกอบการวางแผน หรือดำเนินการด้านนโยบายแก่ยูนิเซฟ หรือส่งต่อไปยังรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ผลโพลดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจ ยูรีพอร์ตจึงร่วมกับภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อจัดประกวดดังกล่าว
การประกวดนี้มีนิสิตนักศึกษาจาก 18 สถาบัน รวม 100 กว่าชีวิตส่งผลงานเข้าประกวด โดยนำศิลปะการแสดง อาทิ ทอล์กโชว์ ละครเวที ยกผลโพลที่สำคัญให้ยิ่งจับต้องได้ และน่าสนใจ

อย่างแบบสอบถาม

  • ร้อยละ 77 ยอมรับได้หากผู้หญิงพกถุงยาง
  • มากกว่าครึ่งยังไม่เต็มใจที่จะปรึกษาเรื่องเพศกับพ่อแม่
  • ร้อยละ 61 พบเห็นหรือประสบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงความรุนแรงทาง กาย วาจา และจิตใจ
  • ร้อยละ 46 มองว่าความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติ
  • มีเพียงครึ่งหนี่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ที่เลือกจะแจ้งผู้ใหญ่หากพบเห็นการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ/ตักเตือน
  • ร้อยละ 70 ต้องการที่จะร่วมออกแบบและวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอนกับครูประจำชั้น
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

Advertisement

โดยทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศคือ ทีม The Talkative แสดงทอล์กโชว์ชื่อ ‘พ่อคับ…อันนี้คืออะไร’ ได้รับเสียงปรบมือล้นหลาม เนื่องจากเป็นการแสดงที่โต้ตอบกับผู้ชมโดยตรงและให้แง่คิด ระหว่างครอบครัวที่กล้าพูดเรื่องถุงยางอนามัยกับลูก และไม่กล้าพูด

นายพันธกิจ หลิมเทียนลี้ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ปัจจุบันแทบไม่มีเยาวชนคนไหนกล้าคุยเรื่องเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเลย โรงเรียนก็ไม่สอน ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทีมจึงทำการแสดงที่ทิ้งแง่คิดระหว่าง เยาวชนกล้าถามคำถามนี้กับคนในครอบครัว และไม่กล้าถามเหมือนเดิม

“มองว่าในยุคนี้ การคุยเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องต้องปิด แต่ควรเปิดกว้างและทำให้เป็นเรื่องปกติ ต้องทำให้เรื่องที่หลายคนมองว่าผิดศีลธรรม เป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องคุยกัน ไม่อย่างงั้นไทยก็คงเผชิญปัญหาท้องวัยรุ่นเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนตลอดไป” นายพันธกิจกล่าว

Advertisement

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นละครเวทีสะท้อนความรุนแรงหลายรูปแบบที่เยาวชนต้องเจอ ตั้งแต่ถูกหยอกล้อแกล้งในโรงเรียน ถูกทอดทิ้ง ถูกกดดัน ความรุนแรงในครอบครัว ผ่านการแสดงชื่อ ‘ร.ระบาย’
โดยนายอาทิตย์ กมุลทะรา พร้อมนางสาวชนาภา เขตหนองโพธิ์ ตัวแทนทีม The Smart นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น กล่าวว่า การแสดงนี้ต้องการให้ผู้ชมได้สำรวจตนเอง ว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงไหม เคยไปกระทำกับใครหรือไม่ เพื่อให้ผู้ชมตัดสินใจเองว่าจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ด้วยการไม่ทำ หรือปล่อยผ่านไป

และ นายธีรภัทร สร้อยสั้น พร้อมด้วย นางสาวปราณิสา แซ่ลิ้ม ตัวแทนจากทีม TSU Drama นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวถึงละครเวทีชื่อ ‘ทางออก’ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองว่า ละครของเราต้องการให้ผู้ชมเห็นว่า การให้โอกาสกันเยาวชนที่ผิดพลาดสำคัญอย่างไร โดยได้สะท้อนผ่านตัวละครนักเรียนหญิงมัธยมศึกษาคนหนึ่ง ที่ตั้งครรภ์ ถูกครอบครัว แฟนกดดันให้ทำแท้ง กลับไปเรียนไม่ได้ ถูกสังคมซ้ำเติมต่างๆ ไม่มีทางเลือก สุดท้ายตัดสินใจผูดคอตายจบชีวิตตัวเอง

“อย่างดิฉันเองแต่ก่อนเป็นคนเหลวไหลมาก จนเกือบเรียนไม่จบชั้นม.6 แต่เพราะครูและอาจารย์ที่ให้โอกาส จึงมุ่งมั่นตั้งใจเรียนด้านการแสดง พิสูจน์ความสามารถจนทำให้คนที่เคยดูถูกยอมรับในตนเองได้ ฉะนั้นอยากบอกว่าหากเราไม่ให้โอกาสกัน จะรู้หรอว่าเขาสามารถทำได้ดีแค่ไหน” นางสาวปราณิสากล่าวทิ้งท้าย

 

นายพันธกิจ หลิมเทียนลี้ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ
นายธีรภัทร สร้อยสั้น พร้อมด้วย นางสาวปราณิสา แซ่ลิ้ม ตัวแทนจากทีม TSU Drama นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
นายอาทิตย์ กมุลทะรา พร้อมนางสาวชนาภา เขตหนองโพธิ์ ตัวแทนทีม The Smart นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image