ความยุติธรรมที่มาไม่ถึง เรื่องจริงจาก “เหยื่อค้ามนุษย์”

แม้ว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับ “การค้ามนุษย์” ทั้งในแง่ของการป้องกันและปราบปรามอย่างแข็งขัน ทั้งตั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งศาลคดีค้ามนุษย์ไปจนถึงปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ

จนกระทั่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์หรือทิปรีพอร์ตประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยปรับสถานะของประเทศไทยขึ้นเป็นระดับเทียร์ 2 หรือประเทศที่มีความพยายามอย่างเห็นได้ชัดที่จะพัฒนาให้ถึงระดับมาตรฐาน

ซึ่งดีขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาที่ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง หรือประเทศที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

แม้จะได้รับการปรับให้มีระดับที่ดีขึ้น แต่ไทยก็ยังต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับ “ผู้เสียหาย” ที่ยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ทำให้หลายคนยังต้องเผชิญกับมรสุมที่ซ้ำเติมเข้ามาในชีวิต

Advertisement

มูลนิธิผู้หญิงและกลุ่มหญิงสู้ชีวิตจึงได้ร่วมกันนำเรื่องจริงที่ผู้เสียหายต้องเจอมาถ่ายทอดผ่านงานเสวนา ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง ณ ห้องประชุม 205 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการฉายภาพความเดือดร้อนของผู้เสียหายจาก “นี” ตัวแทนกลุ่มหญิงสู้ชีวิต เปิดเผยว่า จากการลงไปช่วยเคสผู้หญิงที่ถูกหลอกไปค้าประเวณี เราพบว่าผู้หญิงต้องพบกับความยากลำบากหลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือเรื่องระยะเวลาในการดำเนินคดีที่ยาวนาน ซึ่งกว่าจะได้รับความเป็นธรรมต้องใช้เวลาไม่น้อย อย่างกรณีบังคับค้าบริการที่ญี่ปุ่นปี 2543 กว่าคดีจะสิ้นสุดชั้นฎีกาก็ใช้เวลาถึง 12 ปี ค่าเสียหายมากกว่า 5.59 ล้าน นำมาสู่ปัญหาเรื่องที่ 2 อย่างค่าเสียหาย ที่ผู้หญิงก็มักไม่ได้รับชดเชย เพราะเมื่อจะยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จำเลยก็ยื่นพิทักษ์ทรัพย์อีก ซึ่งก่อนไปเหยื่อก็ต่างเป็นหนี้อยู่แล้ว หลายคนต้องขายบ้านเพื่อมาสู้คดีที่ยาวนานนี้ด้วย

นอกจากนั้น “นี” เผยว่ายังมีปัญหาเรื่องการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งเป็นไปได้ช้าและมีช่องว่าง อย่างกรณีของการบังคับค้ากามที่อิตาลี ปี 2549 แม้ผู้กระทำผิดถูกตัดสินให้จำคุก แต่ก็ไม่สามารถนำตัวมาลงโทษได้ ซ้ำร้ายยังบินไปกลับประเทศไทย-อิตาลีได้อีก ไม่เว้นแม้แต่เรื่องที่แอฟริกาใต้เมื่อปี 2559 กับการทลายร้านนวด เมื่อหลายหน่วยงานต่างพร้อมใจกันบินไปรับผู้เสียหายกลับไทย แต่จนวันนี้เหยื่อเหล่านั้นไม่อาจประสานหาผู้รับผิดชอบคดีนี้ได้อย่างแท้จริงเลย

นั่นทำให้ “นี” บอกว่า ปัญหาทั้งหมดส่งถึงจิตใจของเหยื่อผู้ถูกกระทำโดยตรง ตั้งแต่การไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านเดิมได้ เพราะจำเลยที่หลอกไปทำงานเมืองนอกก็เป็นคนในหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกัน ลูกๆ ของหญิงเหล่านี้ต้องถูกติฉินว่าเป็นลูกของผู้หญิงขายตัว มิหนำซ้ำเมื่อศาลตัดสินว่าชนะแต่ผู้ผิดยังลอยนวล ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าผิดเองเสียอีก

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของมุมมองทางด้านกฎหมาย ที่ ศิริพร สะโครบาเนค ประธานมูลนิธิผู้หญิง ชี้ไว้ เนื่องจากผู้พิจารณาคดีอาจเลือกใช้กฎหมายแตกต่างกันในชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา อย่างกฎหมายการค้ามนุษย์ และกฎหมายอาญา ทำให้โทษต่างๆ นั้น แตกต่างกันไปด้วย

กับเรื่องความยุติธรรมนั้น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ดูแลในเรื่องนี้มานาน มองว่า ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้พิจารณาเรื่องค้ามนุษย์ครอบคลุมอยู่ นับตั้งแต่ปี 2551 มา ไทยมีกฎหมายการค้ามนุษย์ใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็มีกฎหมายเรื่องการค้าประเวณีผู้หญิงและเด็กอยู่ หรือแม้แต่กฎหมายแรงงาน หากคดีใดไม่เข้าองค์ประกอบการค้ามนุษย์ก็สามารถใช้กฎหมายเดิมได้ ปัญหาจึงอยู่ที่การนำไปบังคับใช้ต่างหาก เรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของเทคนิคในการดำเนินคดี

“ที่สำคัญคือหากจะพูดเรื่องความยุติธรรมที่มองไม่เห็นจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่พูดเรื่องผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่แม้แต่จะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการ เพราะไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ช่องทาง ประเด็นสำคัญจึงควรอยู่ที่การให้ความรู้ เพื่อป้องกันปัญหาค้ามนุษย์เสียมากกว่า” พล.ต.อ.ชัชวาลย์เผย

นอกจากนี้ ในวงเสวนา “ไก่” ตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงสู้ ยังได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาไว้ว่า ควรจะมีการจัดตั้งกองทุนถาวรเพื่อดำเนินคดีการค้ามนุษย์ ให้ผู้เสียหาย หน่วยงาน ร้องขอได้เมื่อต้องการการสนับสนุนในการดำเนินคดี, ให้มีผู้จัดการรายกรณีในคดีค้ามนุษย์ ให้คำปรึกษา และประสานหน่วยงานต่างๆ ท้ายที่สุดคือควรมีกลไกติดตามบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการติดต่อกับต่างประเทศอีกด้วย

และแม้ว่าจะเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่การทำงานเพื่อเหยื่อค้ามนุษย์ยังคงต้องดำเนินต่อไป

 

ศิริพร สะโครบาเนค
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (ซ้าย)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image