สวีเดนคิดค้น’ไม้โปร่งแสง’สำเร็จ นำไปใช้แทนพลาสติกหรือกระจกได้ในอนาคต

ภาพ-KTH Royal Institute of Technology

ลาร์ส เบิร์กลุนด์ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีหลวงเคทีเอช แห่งสวีเดน ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัสดุสังเคราะห์แบบใหม่ที่ยังคงมีคุณสมบัติสำคัญของไม้ทุกประการ แต่โปร่งแสง สำหรับนำไปใช้ทดแทนพลาสติกหรือกระจกได้ในอนาคต เพราะแข็งแกร่งกว่า และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกและกระจก

ศ.เบิร์กลุนด์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการคิดค้นวัสดุใหม่ๆ มาแล้วหลายอย่าง อาทิ คาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษแต่แข็งแรงเป็นพิเศษ สำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการบินของสวีเดนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างนั้นเองที่ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้แนวคิดเกี่ยวกับเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของไม้ อันเป็นที่มาของการคิดค้นไม้โปร่งแสงได้ในเวลาต่อมานั่นเอง

ทั้งนี้สิ่งที่นักวิจัยผู้นี้คิดค้นขึ้นมานั้นก็คือ วิธีการที่ใช้ในการแยกชั้นเนื้อไม้บางๆ ออกจากกันด้วยกระบวนการทำนองเดียวกันกับการแยกเยื่อไม้สำหรับผลิตกระดาษด้วยเคมี จากนั้นก็นำเอาแถบลิกนิน ซึ่งเป็นสารที่นำให้เนื้อไม้มีสีน้ำตาลออกมาจากชิ้นไม้ แล้วแทนที่ด้วยโพลีเมอร์หนา 1 มม. ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเป็นพิเศษให้มีความโปร่งแสง 85% โดยเบิร์กลุนด์เชื่อว่าความโปร่งแสงดังกล่าวนี้สามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้อีกในอนาคต ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการนี้ก็คือ แผ่นไม้ที่มีคุณสมบัติของไม้แต่มีความโปร่งใสนั่นเอง

ไม้โปร่งใสที่ผลิตขึ้นตามกระบวนการของลาร์ส เบิร์กลุนด์ นี้มีความแข็งแกร่งของไม้อยู่เหมือนเดิม แต่สามารถปล่อยให้แสงสว่างลอดผ่านตัวมันเข้ามาได้ ทำให้เบิร์กลุนด์เชื่อว่าไม้โปร่งแสงที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้สามารถนำไปใช้สร้างสรรค์หลายสิ่งหลายอย่างได้ตามความต้องการของสถาปนิกหรือวิศวกร ตั้งแต่โครงสร้างไม้ที่โปร่งแสง เรื่อยไปจนถึงหน้าต่างแข็งแรงที่ไม่ปริร้าวหรือแตก แต่ยังมีคุณสมบัติใสเหมือนกระจก

Advertisement

“เราได้รับความสนใจจากสถาปนิกเป็นจำนวนมาก สถาปนิกเหล่านี้ต้องการให้อาคารที่พวกเขาสร้างมีแสงสว่างของธรรมชาติลอดเข้ามามากขึ้น เพื่อประหยัดพลังงาน” เบิร์กลุนด์กล่าว

นอกจากนั้น ไม้โปร่งแสงของเบิร์กลุนด์ยังคงคุณสมบัติสำคัญคือย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับไม้ทั่วๆ ไป ซึ่งส่งผลให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมลงไปได้อีก อาทิ ใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำจากไม้แทนที่จะเป็นกระจกซึ่งผ่านกระบวนการผลิตทางเคมีและไม่เน่าเปื่อยสลายตัวในธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เบิร์กลุนด์ยอมรับว่ายังคงมีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นก่อนที่จะสามารถผลิตให้สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง และไม่แน่ใจนักว่าเทคนิคการผลิตที่ใช้อยู่ในเวลานี้สามารถขยายออกไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้หรือไม่

Advertisement

แต่ความสำเร็จเบื้องต้นนี้ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการนักออกแบบและสถาปนิกทั้งหลายไม่น้อยแล้วในเวลานี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image