‘พ่อแม่’ ช่างสังเกต ช่วย ‘ลูก’ พ้นภัยออนไลน์

เดี๋ยวนี้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็รู้ไม่เท่าทันภัยออนไลน์ เกิดเป็นปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมตามมา เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ รัฐบาลโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือศูนย์โคแพท (COPAT-Child Online Protection Action Thailand) ทำหน้าที่พัฒนากลไกการทำงาน ข้อกฎหมาย สร้างองค์ความรู้ ความตระหนัก และรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขและป้องกันปัญหาภัยออนไลน์คุกคามเด็กและเยาวชนไทย โดยขณะนี้เปิดดำเนินการสู่เดือนที่ 5 แล้ว

นางปิยวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เล่าว่าจากการสำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนมีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงขึ้น ผลกระทบที่ตามมาก็สูงตามไปด้วย ภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ที่น่าห่วงสุดคือการถูกล่อลวงไปละเมิดทางเพศ เนื่องจากเด็กยังขาดวุฒิภาวะ อีกทั้งมีความคึกคะนอง กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีจึงมักมาล่อลวง ข่มขู่ แบล๊กเมล์เด็ก เพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง รองลงมาเป็นปัญหาเด็กติดเกม เล่นพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์

ปัญหานี้ไม่เพียงหน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานเชิงรุก เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที หน่วยที่ใกล้ชิดกับตัวเด็กที่สุดคือ “สถาบันครอบครัว” ก็จะต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน ปิยวดีระบุว่า เราอาจมองว่าปัญหานี้คงไม่มาเกิดกับลูกของเรา แต่จริงๆ ปัญหานี้เกิดได้ในทุกครอบครัว

เมื่อเกิดไปแล้วมีแต่แย่…กับแย่

Advertisement

“ถ้าไม่อยากให้ลูกประสบกับภัยออนไลน์ ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้ อย่างแรกคือต้องรู้ว่าช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่น่ากลัวบ้างบนโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันเมื่อเห็นลูกเป็นเด็กติดสมาร์ทโฟนแท็บเล็ตตลอดเวลา ต้องคอยหมั่นซักถามอย่างมีเทคนิคพูดคุย เพื่อให้รู้ว่าลูกคุยอยู่กับใคร ดูอะไร แต่ก็ต้องเป็นการพูดคุยที่พร้อมเข้าใจเขาด้วย ไม่ใช่ไปปิดกั้นเลย และอาจเสริมด้วยคำแนะนำ” ปิยวดีกล่าวทิ้งท้าย

อย่าปล่อยให้เด็กตัวเล็กท่องโลกใบใหญ่ตามลำพัง…

ปิยวดี พงศ์ไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image