World Update..ศาลเยอรมนีให้เฟซบุ๊กถือเป็น ‘มรดก’ แม่มีสิทธิเข้าเฟซบุ๊กของลูกสาวที่ตายไป

แม้จะไม่ใช่ข่าวดังครึกโครม แต่ก็เป็นข่าวที่มีสาระน่าสนใจ เมื่อศาลสูงของเยอรมนีมีคำพิพากษาไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้เฟซบุ๊กต้องยอมอนุญาตให้แม่รายหนึ่งมีสิทธิเข้าบัญชีเฟซบุ๊กของลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาที่สำคัญที่จะเป็นแบบอย่างต่อการจัดการกับข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย หลังจากเจ้าของข้อมูลได้เสียชีวิตลง

ทั้งนี้คณะผู้พิพากษาของ ศาลรัฐธรรมนูญ กลางเมืองคาร์ลสรูเออ ในรัฐบาเดิน-เวิอร์ทเทมแบร์ก ในเยอรมนี มีคำตัดสินบนพื้นฐานที่ว่าสัญญาที่ลูกสาวของคุณแม่รายนี้ทำไว้กับเฟซบุ๊ก ถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกของเธอ และควรต้องตกเป็นของแม่ ซึ่งควรมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของลูกสาว รวมทั้งมีสิทธิในข้อมูลที่ลูกสาวเธอโพสต์ลงเฟซบุ๊กและข้อมูลส่วนตัวทุกอย่าง

“สัญญาที่ครอบคลุมบัญชีผู้ใช้กับเครือข่ายโซเชียลใดๆ ก็ตาม ต้องถูกโอนถ่ายไปยังทายาทเจ้าของบัญชีดั้งเดิมนั้น” ข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏในคำพิพากษา

จากข่าวว่า แม่รายนี้ ซึ่งในรายงานข่าวไม่ได้ระบุชื่อ ได้ต่อสู้กับเฟซบุ๊กเป็นคดีในศาล มีการอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้งตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลังจากลูกสาววัย 15 ปีของเธอเสียชีวิตเมื่อปี 2555 จากอุบัติเหตุรถไฟใต้ดิน โดยเธอหวังว่าข้อมูลในเฟซบุ๊กของลูกสาวอาจช่วยให้ความกระจ่างแก่เธอว่าการเสียชีวิตของลูกสาวเธอเป็นอุบัติเหตุ หรือการตั้งใจฆ่าตัวตาย

Advertisement

ในเอกสารคำพิพากษาของศาลยังกล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ นอกจากจะช่วยเยียวยาด้านอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เป็นแม่ได้แล้ว ยังจะเป็นหลักฐานด้วยว่าคนขับรถไฟใต้ดินควรจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าชดเชยหรือไม่ ถ้าหากเด็กสาวคนนั้นฆ่าตัวตายเอง

ทั้งนี้ แม่ของเด็กสาวผู้ตายอ้างต่อศาลว่า ข้อมูลในเฟซบุ๊กของลูกสาวเธอก็เปรียบเหมือนสมุดบันทึก หรือจดหมายส่วนตัวที่จะต้องตกเป็นของสมาชิกครอบครัวหรือทายาท หลังจากบุคคลผู้นั้นเสียชีวิต

Advertisement

จากข่าวเล่าว่า ตั้งแต่แรก ศาลในกรุงเบอร์ลินได้มีคำพิพากษาตัดสินเห็นด้วยว่า สัญญาที่ผู้ตายทำไว้กับเฟซบุ๊กนั้นถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายมรดก ซึ่งระบุครอบคลุมถึงเนื้อหาทางด้านดิจิทัล ที่ปรากฏในเฟซบุ๊กด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงศาลอุทธรณ์ในกรุงเบอร์ลินเมื่อปี 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเห็นด้วยกับเฟซบุ๊ก ที่อ้างเหตุผลว่า “ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อ สื่อสาร ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกสาวของคุณแม่รายนี้ และบุคคลที่ลูกสาวของเธอติดต่อ ส่งข้อความถึงกันด้วย”

คณะผู้พิพากษาศาลสูงยังให้เหตุผลเพิ่มเติมถึงการตัดสินที่ให้แม่ของเด็กสาวมีสิทธิในเฟซบุ๊กของลูกว่า เป็นเพราะวิธีทำงานของเฟซบุ๊กยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า มีแต่เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่จะเข้าถึงเนื้อหาในบัญชีของตน ไม่มีบุคคลที่สามเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าของอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นของส่วนตัวของบุคคลนั้น ควรตกเป็นของทายาท หลังจากบุคคลนั้นเสียชีวิต เช่นเดียวกับสมุดบันทึกหรือจดหมายส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ในเอเอฟพีระบุว่า แม้แต่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ GDPR ก็ไม่เห็นด้วยกับการโอนถ่ายสิทธิดังกล่าว โดยมองว่าเป็นกฎหมายที่คุ้มครองแต่ผู้ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีทางเลือกเพียง 2 ทางให้แก่ครอบครัวและญาติหลังจากเจ้าของเฟซบุ๊กเสียชีวิตลง หนึ่งก็คืออนุญาตให้เปลี่ยนบัญชีเฟซบุ๊กเป็นเพจเพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแสดงความไว้อาลัย แต่ไม่สามารถเข้าไปแตะต้องข้อความส่วนตัวของผู้ตาย กับอีกทางก็คือให้ญาติยื่นขอให้ทางเฟซบุ๊กลบบัญชีเฟซบุ๊กของผู้ตาย

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีนับเป็นประเทศแรกที่มีการต่อสู้ทางกฎหมาย และทางด้านจริยธรรมต่อการที่จะจัดการกับข้อมูลทางดิจิทัลอย่างไรเมื่อเจ้าของข้อมูลเสียชีวิตไป

อนึ่งย้อนไปเมื่อปี 2559 แอปเปิลได้คัดค้านความพยายามของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่จะขอ “ปลดล็อก” โทรศัพท์ไอโฟน ซึ่งเป็นของ 1 ใน 2 คนร้ายที่ก่อเหตุกราดยิง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 รายในเมืองซาน เบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 แต่เมื่อปี 2559 แอปเปิลก็ยอมผ่อนปรนให้แก่พ่อชาวอิตาเลียนที่ขอให้บริษัทช่วย “ปลดล็อก” โทรศัพท์ของลูกที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เพื่อให้เขาเข้าไปเก็บข้อมูลและรูปถ่ายต่างๆ ที่เป็นความทรงจำอันมีค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image