หลากมุมหลากความสุข ในครอบครัว “แอลจีบีที”

เริ่มต้นตอนเช้าของวันครอบครัวอย่างนี้ หลายคนคงอยากใช้โอกาสนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เติมเต็มความรัก สร้างความสุขให้แก่กันไม่น้อย

แต่ครอบครัวใช่ว่าจะมีเพียงแค่ พ่อ แม่ ลูก ที่จะประกอบร่างสร้างความสมบูรณ์แบบให้แก่คำๆ นี้เท่านั้น ทุกวันนี้ยังมีครอบครัวอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ “ครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ” หรือ “แอลจีบีที” (LGBT) ที่สร้างแบบฉบับของครอบครัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เปลี่ยนจากคู่รัก คู่ชีวิตมาสร้างสายสัมพันธ์อันอบอุ่นในแบบของตัวเองได้เช่นกัน

อย่างเช่นครอบครัวของหญิงรักหญิง “ดาว” และ “เพชร” ที่ใช้ชีวิตในแบบครอบครัวกันมากว่า 8 ปี ผ่านทั้งร้อนทั้งหนาวมากกว่าคำว่า “คู่ชีวิต” ไปแล้ว

ดาว (นามสมมุติ) พนักงานโรงแรมสาวแห่งหนึ่งในอำเภอปาย ย้อนเล่าเรื่องของเธอว่า เราพบรักกันบนอินเตอร์เน็ตเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็คุยกันเหมือนปกติ ถามสารทุกข์สุกดิบกัน พัฒนากลายเป็นความห่วงใย คุยกันได้ 4 เดือน ก็นัดเจอกัน หลังจากนั้นไม่นานอีกฝ่ายก็เข้ามาอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ แม้ไม่รู้ว่าความรักรูปแบบนี้มันจะดีหรือเปล่า ด้วยความที่เขาเด็กกว่าเราตั้ง 15 ปี เราเองก็ผ่านทั้งความรักที่ผิดหวังจากผู้หญิง และการแต่งงานที่ต้องเลิกราไป แต่ก็รู้สึกว่าต้องลองดู ใช้เวลาเรียนรู้กัน

Advertisement

“เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่ด้วยกัน จึงหางานให้แฟน พาไปสมัครงาน เขาขึ้นมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกันกว่า 5 ปี จนกระทั่งเราประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ขาหัก ต้องกลับไปอยู่บ้านของญาติ เขาก็คอยดูแลเอาใจใส่ ไม่เพียงดูแลเรา ยังดูแลครอบครัวเราด้วย ทำให้เราประทับใจเขามาก และนี่เองทำให้ที่บ้านเราซึ่งเคยรับไม่ได้กับการเป็นหญิงรักหญิงเริ่มเปิดใจ และรับได้ในวิถีของเรามากขึ้น”

“คู่ของเราเรียกได้ว่าโชคดีที่คนรอบข้างเปิดใจ ให้การยอมรับ อย่างตอนที่เลิกกับสามี แม่เสียใจมากเพราะว่าไม่อยากให้เราเป็นหญิงรักหญิง ตอนนั้นเขางอนไปพักใหญ่ แต่ด้วยความดีของเพชร และการที่เราใช้ความเข้าใจคุยกับแม่ ทุกวันนี้เวลาแฟนไปที่บ้าน แม่เราก็จะเรียกเขาลูก มันเติมเต็มครอบครัวเรา”

เช่นเดียวกับลูกติดของดาวกับสามีเก่า อีกหนึ่งสมาชิกในครอบครัว ที่พร้อมเปิดใจรับเช่นกัน

Advertisement

“ด้วยความที่เราเคยเลี้ยงลูกจน 8 ขวบ ก่อนที่จะให้ไปอยู่กับพ่อของเขา ลูกได้เห็นเราใช้ชีวิตกับแฟนผู้หญิง ได้เรียนรู้และเข้าใจเราตั้งแต่แรก จนลูกอายุ 21 ปี เขารับรู้ในความสัมพันธ์ของเรา ทุกวันนี้ปิดเทอมลูกจะมาอยู่กับเราใช้ชีวิตแบบครอบครัว ซึ่งเขาก็เปิดใจ ครั้งหนึ่งเคยถามเขาว่าอายไหมที่แม่เป็นแบบนี้ ลูกก็บอกว่าไม่อาย นี่คือความสุขของแม่ เราก็ไม่ถามเขาต่อเพราะไม่อยากให้เขาเสียใจ”

แต่กว่าจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวมานานถึง 8 ปี ดาวย้ำว่า ต้องผ่านอะไรด้วยกันมาไม่น้อย อย่างเช่นเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับเพชร ที่ทำให้พบกับอุปสรรคใหญ่ในชีวิต ครั้งนั้นด้วยเพชรถูกรถชนหนักที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านเกิด ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ และอาจต้องผ่าตัด จำเป็นต้องมีคนเซ็นรับรอง แต่ดาวทำได้เพียงบอกว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกันจึงไม่มีสิทธิอนุมัติอะไรทั้งสิ้น ทำให้ต้องพาแม่แฟนไปด้วยถึงเชียงใหม่ ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่แข็งแรงนัก ต้องเช่าหออยู่ และลำบากในการเดินทาง

ทำให้รู้ว่าเรื่องกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ

“แม้เราจะไม่เคยคิดว่าเราอยากจดทะเบียนสมรส หรือจัดงานแต่งงานใหญ่โตเพราะเรารู้ว่าเราอยู่กันอย่างเป็นครอบครัว และเรารักกัน แต่เหตุการณ์นั้นเราคิดจริงๆ ว่าแม้ไม่จดทะเบียนสมรสกัน ก็อยากให้มีกฎหมายรับรองเรา เพื่อให้เรามีอำนาจตัดสินใจในช่วงนาทีชีวิตได้

“ทุกวันนี้ถามว่าอยากแต่งงานไหม ใจหนึ่งก็อยาก แต่รู้ว่าสัมคมไทยยังรับไม่ได้ขนาดนั้น ก็มีไปถ่ายเวดดิ้งด้วยกัน เก็บไว้เป็นภาพประทับใจ ถือว่าทำฝันเราสำเร็จแล้ว เราเองแค่อยากให้สังคมเปิดรับ เพราะเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่แตกต่างกับคู่อื่นๆ อยากมีกฎหมาย สิทธิเหมือนคู่อื่นๆ ก็เท่านั้นเอง” ดาวกล่าว

เช่นเดียวกับครอบครัวของเป้และแฟน ครอบครัวชายรักชาย ที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ สร้างสถานะคนในครอบครัวของกันและกันมากว่า 7 ปี ต้องผ่านอะไรมาด้วยกันไม่น้อยกว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของความรักของคนทั้งคู่นั้น เป้เล่าว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัย พัฒนาความสัมพันธ์จากรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นคนรัก และเริ่มคิดจะสร้างอนาคต สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตครอบครัวของคนทั้งคู่ ล้มลุกคลุกคลานอยู่มาก จนกระทั่งวันนี้ทั้งคู่เริ่มมีทั้งกิจการร้านกาแฟและชีวิตครอบครัวร่วมกัน

“เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาขนาดนี้ สิ่งสำคัญคือการปรับตัวเข้าหากัน อย่างแรกๆ เราเป็นคนชอบเที่ยว แต่แฟนไม่ชอบ ก็เริ่มต้องคุยกันปรับไปเรื่อยๆ เคยทะเลาะกันใหญ่โต ตีกันจนตำรวจมาบ้านก็เคย”

“ส่วนเรื่องอื่น ครอบครัวเราก็เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไป กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง เอาใจใส่กัน ส่วนตัวคิดว่าชีวิตครอบครัวไม่เกี่ยวกับเพศ การจะมองว่าคู่ชายชาย หญิงหญิงไม่ยั่งยืนก็คงไม่ถูก เรื่องนี้อยู่ที่ความเข้าใจมากกว่า มีบ้างตอนที่ธุรกิจล้มเหลว เหลือเงินติดตัวแค่ 4 บาทก็คิดว่าอยากจะเลิกกัน ไม่อยากไปต่อ แต่ก็รู้สึกว่าเราต้องสู้ต่อ เพราะเราเริ่มครอบครัวเราขึ้นมาแล้ว”

“และไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหนก็คือครอบครัวเหมือนกัน” เป้ย้ำ

ส่วนอุปสรรคต่างๆ ของชีวิตคู่อย่างที่คู่หลากหลายทางเพศอื่นๆ ต้องพบเจอนั้น เป้เล่าว่า ค่อนข้างโชคดีที่พ่อแม่ ครอบครัว และเพื่อนๆ เข้าใจ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร จะมีบ้างที่กังวลว่าใครจะดูแลยามแก่เฒ่าหากไม่แต่งงาน ไม่มีลูก หรือที่คนรอบข้างจะเข้ามาถามไถ่ แต่ก็เลือกจะไม่ใส่ใจเสียมากกว่า”

ซึ่งนี่เองเป็นสิ่งที่ทั้งคู่คิดว่าโชคดีที่สังคมรับได้

“จริงๆ เรื่องความเข้าใจของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างเพื่อนเป็นอิสลาม ครอบครัวรับไม่ได้ที่เป็นชายรักชาย บังคับให้แต่งงาน ให้มีลูก ชีวิตครอบครัวของทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความสุข มีเพศสัมพันธ์กันเพื่อมีลูกเท่านั้น เราเลยรู้สึกว่าเราโชคดีที่ทางบ้านทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจ”

แต่แม้จะอยู่กันอย่างเป็นครอบครัวแล้ว ทั้งคู่ก็ยังหวังจะเติมเต็มครอบครัวนี้ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ทั้งการแต่งงานและการมีลูก

“อยู่ด้วยกันทุกวันนี้บางเวลาก็คิดว่าพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นให้รู้ว่าเราเป็นสามีภรรยาอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะเราเหมือนคู่แต่งงานอยู่แล้ว ทุกคนรับรู้ ที่บ้านเขาก็เรียกเราลูก แต่ก็เคยคิดที่อยากจะไปจดทะเบียนสมรสกัน ลองแล้วแต่ก็ไม่ได้ ทุกวันนี้จะทำธุรกรรมการเงินอะไรก็ลำบาก”

“ส่วนวันหนึ่งหากเราพร้อมกว่านี้ก็อาจรับเด็กมาเลี้ยงให้ครอบครัวเราสมบูรณ์ขึ้น”

เป็นอีกหนึ่งมุมของครอบครัวเล็กๆ ที่แม้จะไม่ใช่ครอบครัวแบบชาย-หญิง แต่พวกเขาก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

อ.รณภูมิ
อ.รณภูมิ

เข้าใจคู่ชีวิตหลากหลายทางเพศ

อ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยและอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยขาดกฎหมายเรื่องคู่ชีวิตผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงจัง ทำให้ยากที่จะรู้ว่ามีครอบครัวแอลจีบีทีเท่าไหร่ แต่ที่แสดงความจำนงว่าอยากให้มีกฎหมายมารองรับไม่ต่ำกว่า 2,000 คู่ บางคู่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวมานานกว่า 30 ปี

สำหรับปัญหาของเหล่าครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น เริ่มตั้งแต่ครอบครัวเดิมไม่เข้าใจ จากสาเหตุใหญ่ๆ อย่างความกดดันเรื่องหน้าตาทางสังคม ความเป็นห่วงว่าใครจะดูแลลูกเมื่อแก่เฒ่า หรือความกังวลเรื่องงาน และความต้องการให้ลูกบวช ซึ่งลูกก็จะกังวลว่าจะเปิดเผยเรื่องนี้กับพ่อแม่อย่างไร ส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะเริ่มต้นชีวิตคู่ สร้างครอบครัวของตัวเอง เพราะการใช้ชีวิตคู่เป็นการประกาศให้คนทั่วไปรู้ ว่าเราเป็นแอลจีบีที และเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว

“จากการสำรวจคู่รักแอลจีบีที 400 กว่าคู่ พบว่า 80% อยากจะใช้ชีวิตให้มีกฎหมายรับรอง และกว่า 34% เจอความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งประเทศไทยมีวัฒนธรรมการสร้างครอบครัวไม่เหมือนที่อื่น การจะแต่งงานกัน ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายต้องรับคู่ของกันและกันได้ จากปัญหานี้เหล่าแอลจีบีทีพบว่าการไม่มีกฎหมายรับรองทำให้ไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล สิทธิเบิกราชการ หรือประกันชีวิตได้เลย ไม่มีแม้แต่กระทั่งเซ็นรับรองผ่าตัดต่างๆ ทำให้หลายคู่ไปจดทะเบียนสมรสที่ประเทศอื่น ขณะที่กลุ่มแอลจีบีทีรากหญ้าจะได้รับผลกระทบมากกับเรื่องนี้”

“ส่วนตัวจึงมองว่าการจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีเป็นร้อยปีเป็นเรื่องยากกว่าการปรับกฎหมาย จึงอยากให้ร่างพระราชบัญญัติรับรองคู่ชีวิต พ.ศ…. ออกมาเป็นทางเลือก เพื่อรับรองชีวิตของคนกลุ่มนี้” รณภูมิย้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image