World Update… ‘กัปตันหญิง’ อาชีพที่ผู้หญิงยังต้องออกแรงสู้อีกหลายเฮือก

แทมมี โจ ชูลท์ส (ซ้าย)

อุบัติเหตุระทึกขวัญกลางฟ้า เมื่อเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินเซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ เครื่องยนต์ด้านซ้ายระเบิดจนต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งสามารถรักษาชีวิตผู้โดยสาร 148 คนให้รอดปลอดภัย มีผู้โดยสารเสียชีวิตไป 1 ราย ทำเอาหลายคนเซอร์ไพรส์ เมื่อรู้ว่ากัปตันผู้ทำหน้าที่ขับเครื่องบินลำนั้นเป็นผู้หญิง

ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ ที่จะมีหลายคนรู้สึกเซอร์ไพรส์ เพราะทุกวันนี้อาชีพนักบินยังมีผู้หญิงอยู่น้อยมาก ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการ และยัง “ขาดแคลน” อยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก

ทั้งนี้ ในบทความของเอเอฟพีเล่าว่า ที่อาชีพ “นักบิน” ยังดูเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิง และเป็นเรื่องที่ผู้หญิงยังต้องออกแรงต่อสู้อีกยาวไกล ไม่ใช่เพราะผู้หญิงมีความสามารถน้อยกว่าผู้ชาย แต่เป็นเพราะ “อคติ” ความคิดแบบเดิมๆ ที่ยังฝังลึกอยู่ในความคิดของคนเรา หรือแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเอง

“บ่อยครั้งที่เราถูกนำเสนอ ได้เห็นผู้ชายในฐานะนักบิน ได้เห็นผู้หญิงในบทบาทพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สิ่งนี้เท่ากับเป็นการส่งข้อมูลไปยังเด็กหญิงว่า ถ้าเธออยากทำงานด้านการบิน เธอไม่สามารถเป็นนักบินได้หรอก” ข้อความส่วนหนึ่งที่มีออกมาจาก สมาคมนักบินแห่งสายการบินอังกฤษ

Advertisement
(เอเอฟพี)

ขณะที่ข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีกัปตันหญิงอาชีพอยู่เพียง 3% เท่านั้น ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสหประชาชาติก็ประเมินว่าภายในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้สายการบินต่างๆ จำเป็นต้องรับสมัครกัปตันใหม่ราว 620,000 คนเพื่อให้ทันต่อความต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีเล่าว่า ปัจจุบันเริ่มมีสายการบิน 2-3 แห่งมีแผนงานที่จะจ้างนักบินหญิงเข้าไปเสริมทัพ อย่างเช่นสายการบิน easyJet ที่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี พ.ศ.2563 ในจำนวนกัปตันที่ถูกจ้างเข้าใหม่ จะมีผู้หญิงอยู่ 20%

แต่ในจำนวนกัปตันหญิงที่มีอยู่เพียงน้อยนิดตอนนี้ แน่นอนว่ามี แทมมี โจ ชูลท์ส อยู่ด้วย และเธอคนนี้ก็คือ กัปตันหญิงที่สามารถครองสติได้อย่างมั่นคงและสามารถนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินเซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ ลงจอดฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย กระทั่งได้รับเสียงชื่นชมเซ็งแซ่ โดยก่อนจะมาเป็นนักบินเครื่องบินพาณิชย์ ชูลท์ส เคยเป็น 1 ในนักบินหญิงชุดแรก ที่ขับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกามาก่อน

Advertisement

แคธี แมคคัลลาฟ กัปตันหญิงที่เกษียณแล้ว ให้ความเห็นว่า “การที่มีผู้หญิงสักคนโดดเด่นขึ้นมา มีผู้หญิงสักคนที่ทำงานได้ยอดเยี่ยม จะเป็นการแสดงให้เห็นว่า มันสามารถเป็นจริงได้ และมันก็เป็นจริงแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจมากแต่อย่างใดด้วย”

แมคคัลลาฟ บอกว่า ถึงแม้วีรกรรมของ แทมมี โจ ชูลท์ส จะเป็นข่าวพาดหัว แต่กัปตันหญิงก็ยังต้องส่ง “ไม้ต่อ” ให้คนอื่นๆ วิ่งกันอีกยาวไกล “ถึงแม้เราจะไปถึงเป้าหมาย ที่จะมีกัปตันหญิงอยู่ 20% แต่ฉันก็ไม่คิดว่า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก”

บนหนทางต่อสู้ เพื่อให้มีผู้หญิงก้าวเข้ามาในอาชีพนักบินมากขึ้น นอกจากสายการบินต่างๆ ต้องพยายามสร้างสมดุลในการจ้างงานระหว่างเพศชาย เพศหญิง ด้านองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และสมาคมนักบินหญิงระหว่างประเทศ ก็ยังต้องเจองานท้าทายที่จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงสนใจอยากเข้ามาบนเส้นทางนี้กัน

และไม่ใช่แค่ความท้าทายเรื่องการจ้างงานเท่านั้น แต่ ลิซ เจนนิงส์ คล๊าร์ค อดีตประธานสมาคมนักบินหญิงระหว่างประเทศ ยังให้ความเห็นว่า ทางสมาคมนักบินหญิงระหว่างประเทศยังต้องต่อสู้กับอคติของผู้โดยสารอีกด้วย

คล๊าร์ค วัย 55 ปัจจุบันเป็นกัปตันของสายการบินโลว์ คอสต์ “Transavia” ของเนเธอร์แลนด์ เล่าว่าระหว่างการทำงานบนเที่ยวบินหนึ่ง เธอเคยเดินออกมาจากห้องนักบินเพื่อกล่าวขอบคุณ และกล่าวสวัสดีส่งผู้โดยสารในช่วงท้ายของการเดินทาง ปรากฏว่า มีผู้โดยสารหลายคนยื่นขยะให้เธอ เพราะคิดว่าเธอเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

(เอเอฟพี)

โซฟี คอปแปง เจ้าหน้าที่แนะนำของมหาวิทยาลัยการบินพลเมืองแห่งฝรั่งเศส ในเมืองตูลูซ ให้ความเห็นว่า เด็กหญิงที่อยากโตขึ้นเป็นกัปตันเครื่องบิน ยังขาดแคลน “แบบอย่าง” และว่า ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ยังถูกกดทับทั้งในระดับจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกต่อการมีผู้หญิงเป็นนักบิน ทั้งยังเล่าว่า ที่มหาวิทยาลัยการบินที่เธอทำงานอยู่ ก็มีนักศึกษาหญิงที่กำลังเรียนเป็นกัปตันอยู่เพียง 15% อีก 30% เรียนเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับสมัยที่ แทมมี โจ ชูลท์ส เข้าเป็นนักเรียนการบิน ที่สอนโดย พันเอกเกษียณราชการนายหนึ่งเมื่อปี 2522 ก็นับว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ดีขึ้น

ชูลท์สเคยเขียนเล่าในหนังสือที่เธอเขียนเล่าถึงการเป็นนักบินหญิงในกองทัพว่า เธอเป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวในห้องเรียน และพันเอกเกษียณราชการ ซึ่งเป็นอาจารย์ในชั้นเรียน ยังเริ่มต้นด้วยการถามเธอว่า เธอเดินหลงมาเข้าห้องผิดหรือเปล่า?

“ฉันต้องรวบรวมความกล้า ทำให้อาจารย์เชื่อมั่นว่า ฉันไม่ได้เดินหลงเข้ามา แต่ฉันอยากเป็นนักบินจริงๆ เขาจึงยอมให้ฉันนั่งเรียน แต่ก็รับประกันกับฉันว่า ไม่มีผู้หญิงที่จะได้เป็นนักบินอาชีพแน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image