‘ชวน ช่วย เชียร์’ งดเหล้าครบพรรษา

เข้าสู่ปีที่ 16 สำหรับการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก เมื่อศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ระบุผลการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2560 ว่า มีผู้ “งดเหล้าเข้าพรรษาทั้งหมด” ร้อยละ 67.5 คิดเป็น 14.2 ล้านคน “งดเหล้าครบพรรษาหรือตลอด 3 เดือน” ร้อยละ 37.9 และ “งดหรือลดการดื่มลง” ร้อยละ 29.6

ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 11,243 ล้านบาท

ที่สำคัญกลุ่มผู้ดื่ม ร้อยละ 85.2 ยอมรับว่าเมื่อเห็นสื่อรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. ทำให้เกิดความตระหนักในพิษภัย และพยายามลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สสส.จึงจัดพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2561 ภายใต้แนวคิด “พลังมด…ชวนงดเหล้าครบพรรษา” ณ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

Advertisement

โดยภายในงานมีทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “พลังมด VS ปีศาจสุรา” สะท้อนความร่วมมือร่วมใจภายในครอบครัวที่จะเอาชนะอบายมุขที่เรียกว่า “สุรา” ได้สำเร็จ ก่อนเดินแจกสื่อรณรงค์บริเวณป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ชัยฯ

 

Advertisement

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การงดเหล้าครบพรรษา 3 เดือน นอกจากประหยัดเงินค่าเหล้า ยังนำเงินไปซื้ออาหารกินได้ทั้งครอบครัว ที่สำคัญ “คืนเวลาในวงเหล้ากลับมาให้ครอบครัว” ด้วยหลายครอบครัวยอมรับว่าช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด และจะช่วยตัดวงจรการดื่ม ทำให้อุบัติเหตุ อาชญากรรมลดลง การเสียชีวิตลดลงกว่าช่วงปกติ

อย่างไรก็ตาม ชุมชนคนรอบข้างสามารถมีบทบาทในการ ชวน ช่วย เชียร์ คือ “ชวน” กันงดเหล้าเข้าพรรษา และร่วมกำหนดกติกาชุมชน จัดงานเลี้ยงไม่มีเหล้า, “ช่วย” คือร้านค้าช่วยงดขายเหล้าช่วงเข้าพรรษา และ “เชียร์” ให้เด็กๆ เชียร์ผู้ใหญ่ให้ “ลด ละ เลิกเหล้า” ปีนี้จึงใช้แนวคิด “พลังมด” คือพลังของคนทุกคนที่จะช่วยกัน

ภก.สงกรานต์ (ซ้าย)

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงก่อนเข้าพรรษา จะมีญาติของผู้ดื่มเหล้าโทรเข้ามาขอคำปรึกษาผ่าน “1413 สายด่วนเลิกเหล้า” ประมาณเดือนละ 1 พันคน แต่ในช่วงเข้าพรรษามีผู้โทรมาขอรับคำปรึกษามากขึ้นเป็น 2 เท่า

โดย นพ.บุรินทร์แนะนำให้ผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าสำรวจระดับพฤติกรรมการดื่มเหล้าในเบื้องต้น เพราะสัมพันธ์กับแนวทางในการเลิกเหล้าอย่างถูกวิธี อาทิ หากมีพฤติกรรมดื่มทุกวัน เมื่อไม่ได้ดื่มแล้วจะทรมาน เกิดอาการประสาทหลอน ต้องเข้าปรึกษาแพทย์ในการเลิกดื่มอย่างถูกวิธี เพราะหากเลิกดื่มในทันทีร่างกายอาจเกิดการช็อกได้

ในขณะเดียวกันผู้มีพฤติกรรมดื่มบ้างเป็นครั้งคราว เมื่อไม่ได้ดื่มจะหงุดหงิด นอนไม่หลับ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้หากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อมีอาการอยากเหล้าให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำหวาน จะช่วยได้

น.พ.บุรินทร์ (ขวา)

นพ.บุรินทร์ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้เลิกเหล้าไม่สำเร็จ คือ คนส่วนมากดื่มเหล้าเพื่อคลายทุกข์ พอตัดสินใจเลิก อาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกคือทรมาน ทำให้ทนไม่ไหว ล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน และอีกกรณีจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เลิกเหล้าได้แล้ว แต่ “ชะล่าใจ” คิดว่ากลับมาดื่มอีกครั้งไม่เป็นไร ทำให้การเลิกเหล้าไม่ประสบความสำเร็จ

“ผู้ที่เลิกดื่มเหล้าได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะเรียกว่า ‘คนหยุดดื่ม’ แต่ผู้ที่เลิกดื่มได้ 6 เดือนขึ้นไป จึงจะนับว่าเป็น ‘คนเลิกเหล้า’ เพราะในทางจิตวิทยา พฤติกรรมที่ทำติดต่อกัน 6 เดือนขึ้นไปจึงจะเกิดเป็นนิสัย” นพ.บุรินทร์กล่าวย้ำ

นายพีรภัทร ศิริ อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าครอบครัวที่เคยดื่มเหล้าทุกวัน เฉลี่ยวันละ 1 ขวด ตลอดระยะเวลา 10 ปี กล่าวว่า ตั้งใจใช้วันเข้าพรรษานี้เป็นจุดเริ่มต้นเลิกเหล้าตลอดชีวิต เพื่อลูกและภรรยา เนื่องจากทั้งชีวิตไม่เคยทำให้ครอบครัวมีความสุข ทะเลาะกันเป็นประจำ บ่อยครั้งใช้ความรุนแรง

ส่งผลให้ลูกสาวต้องตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และได้เขียนจดหมายระบายความในใจว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่เพื่อต้องเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ตอนนั้นรู้สึกโกรธตัวเองมากที่ทำร้ายลูก จึงตัดสินใจ “เลิกเหล้า” โดยเข้าปรึกษาหมอโรงพยาบาลใกล้บ้าน และเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาล

ในขณะที่การบำบัดเพื่อเลิกสุราของเขาดีขึ้น ภาวะซึมเศร้าของลูกสาวก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

“อยากเชิญชวนให้ทุกคนเลิกเหล้า นำเงินที่จะไปซื้อเหล้าเก็บไว้เพื่ออนาคตของลูกดีกว่า” นายพีรภัทรกล่าว

ครอบครัวศิริ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image