“คราม” สานรากเหง้า “ต้นกล้า” แห่งเต่างอย

“เพราะสีสันใกล้ตัวจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์โลกเราให้สวยงาม”

ด้วยจุดเริ่มต้นที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่มาของโครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย ส่งเสริมให้เยาวชนผู้เป็นคนรุ่นใหม่ของชุมชน ได้เรียนรู้ เข้าใจ และทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก่อนจะน้อมนำเอาแนวทางเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับชุมชนตนเอง

โดยได้เปิดรับอาสาสมัครนักเรียนเหล่าคนรุ่นใหม่ของชุมชนต่างๆ โดยรอบโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอย จ.สกลนคร จากหลากหลายโรงเรียน มาเรียนรู้กิจกรรมโดยรอบภายในชุมชนของตนเองในชื่อ “ยุวเกษตรกร” และสิ่งหนึ่งที่เหล่าจิตอาสาได้เรียนรู้ก็คือ “สีชุมชน” ภายใต้แนวคิด “โรงงานสีเขียว สีเดียวกับชุมชน ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ” ที่เหล่าเด็กในชุมชนได้เริ่มเรียนความมหัศจรรย์ของสีต่างๆ ในชุมชน ทั้งจากใบไม้ กากกาแฟ และที่สำคัญกับ “คราม” ภูมิปัญญาท้องถิ่นชื่อดังของจังหวัดสกลนคร องค์ความรู้ที่สืบทอดกันตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ที่เด็กๆเหล่านี้ได้ลุกขึ้นมาสานต่อ นำมาแต่งแต้มสีให้กับสิ่งต่างๆ ในชุมชน

IMG_6103

Advertisement
พิพัฒพงศ์และ เหล่าเด็กๆ ยุวเกษตรกร
ครูแมน – พิพัฒพงศ์และ เหล่าเด็กๆ ยุวเกษตรกร

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า การให้เด็กเหล่านี้รู้จักสังคมที่อยู่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากลืมสังคมและรากเหง้าแล้วไปตามฝรั่งหมด ก็จะลืมประเทศไทยไป และหากได้ปลูกจิตสำนึกเด็กๆ ให้รักชุมชนตั้งแต่เริ่ม นั่นคือความยั่งยืนมากกว่า

ครูแมน-ปราชญ์ นิยมค้า จิตอาสาเจ้าของแบรนด์ แมน คราฟท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการย้อมสีครามที่มาร่วมบอกเล่าความรู้ให้กับเด็กๆ เล่าว่า ที่จังหวัดสกลนครเรียกได้ว่า คราม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูไท ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ได้รับอิทธิพลจากเวียดนาม และได้ชื่อว่าเป็นครามที่ดีที่สุดที่หนึ่ง เนื่องจากแดดดี ภูมิอากาศดี เหมาะสมแก่การเพาะปลูกต้นคราม ที่สำคัญคือชาวบ้านจะมีวิธีสืบทอดการผลิตและย้อมผ้าครามในแต่ละบ้านต่างๆ กัน เช่นในขณะที่ย้อมครามอาจต้องใส่วัตถุดิบต่างๆ อย่างใบไม้เข้าไป ทำให้ครามของแต่ละบ้านพิเศษ แต่ปัญหาคือแต่ละบ้านจะไม่ถ่ายทอดให้กับคนนอก สอนให้ลูกหลานตัวเอง ทำให้ภูมิปัญญานี้เริ่มจะหายไป ทั้งๆ ที่ครามโด่งดังมากในประเทศอื่นๆ

จึงเป็นเหตุให้จิตอาสาคนนี้เข้าไปศึกษาในชุมชนต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกคราม จนกระทั่งย้อมคราม เพื่อนำมาบอกเล่าต่อกับเด็กๆ เยาวชน

Advertisement

ครูแมนเล่าต่อว่า เริ่มแรกเลยเราสอนให้เด็กๆ เรียนรู้สีจากธรรมชาติก่อน ให้เด็กหัดวาดรูป และใช้สีจากธรรมชาติระบาย ย้อมสี ก่อนจะสอนให้เด็กๆ ทอผ้าด้วยกี่จิ๋วที่ทำจากไม้ไอติม ออกมาเป็นที่รองแก้วบ้าง ผ้าพันคอบ้าง เพราะการสอนด้วยการให้เขาทำเองจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มากกว่า กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ที่แท้จริง ซึ่งเด็กๆ เขาจะสอนกันเอง และได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นความสนุกที่เขามาตลอด ต่อจากนั้นเราก็สอนให้เขาเรียนรู้เรื่องผ้าคราม สอนให้รู้จักลายต่างๆ และนำไปย้อมต่อไป

“เด็กๆ นอกจากจะได้เรียนรู้ลายแล้ว ยังได้รู้กรรมวิธีว่ากว่าจะเป็นลายหนึ่ง ต้องทำอย่างไร รวมถึงขั้นตอนการย้อมเอง ซึ่งคนโบราณจะต้องใส่สิ่งต่างๆ เข้าไปในครามอย่างมะขามเปียกเข้มข้น ทางดอยคำเองก็อยากจะให้เป็นกระบวนการ Zero waste หรือการเหลือของเสียให้น้อยที่สุด เราได้นำเอาน้ำผึ้งมาใส่ นำขี้เถ้ากะลาปาล์มที่เหลือจากการเผา รวมทั้งกากมะเขือเทศเข้มข้นมาผสม เป็นการลดของเหลือ ซึ่งได้ผลดีกว่ามะขามเปียกของชาวบ้านด้วย ซึ่งเด็กๆ ก็จะสนุกและได้ความรู้ติดตัวไปใช้ในอนาคต นอกจากลายที่เราสอนแล้วเด็กๆ ก็ยังรู้จักประดิษฐ์ลายต่างๆมากขึ้น” ครูแมนเผย

และลวดลายต่างๆ ที่เด็กๆ ได้เรียน ก็อย่างเช่น ลายหินอ่อน ลายดอกไม้ ลายตาราง ลายเสือ และลายจุด ที่เด็กๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสย้อมผ้าพันคอ และเสื้อ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับผู้อื่นแล้ว

 

ปราชญ์
ปราชญ์
แบบเสื้อต่างๆ
แบบเสื้อต่างๆ ที่ครูแมนสอนให้เด็กๆ

ด.ช.กฤษณะ วิดีสา หรือน้องมีน วัย 11 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนอนุบาลเต่างอย ที่เข้ามาเป็นจิตอาสาได้ปีกว่าๆ เล่าว่า ปกติแล้วหากอยู่บ้านก็จะเล่นกับพี่ๆ แถวบ้าน ไม่ค่อยมีอะไรทำ แต่เมื่อได้เข้ามาก็ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ย้อมสีคราม เมื่อนำกลับไปบ้านที่บ้านก็ชมว่าสวย ทำให้ตื่นเต้น ตอนนี้ที่บ้านกำลังปลูกต้นคราม และปลูกฝ้ายด้วย อนาคตอยากจะย้อมสีอื่นๆ อย่างชมพู เหลือง เขียว ใส่ผ้าปูโต๊ะบ้าง เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนอื่น

ด้าน น.ส.นันทิดา งอยภูธร หรือป๊อก นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา เผยว่า ได้มาฝึกเป็นยุวเกษตรกร และยุวมัคคุเทศก์หลายปีแล้ว ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะปลูกมะเขือเทศ การเพาะเมล็ด ต่อยอด ก่อนจะเรียนเรื่องการย้อมสีครามต่อ ได้ย้อมเสื้อ กระเป๋า ผ้าพันคอ ต่างๆ หลายชิ้น เมื่อเราได้เห็นผลงานเรา เราก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้นำเอาสิ่งต่างๆ จากชุมชนมาเป็นของดีๆ ทำให้เราอยากจะทำต่อไป อยากทำเสื้อผ้าออกไปขายตามตลาดบ้าง เพราะการได้นำเอาครามจากสกลนครไปเผยแพร่ให้คนอื่นรู้จัก ถือเป็นเรื่องดี คนจะได้รู้จักของดีของบ้านเรา

ต้นกล้าของความยั่งยืน

กฤษณะ
กฤษณะ
นันทิดา
นันทิดา

12719447_10207920991916022_6630085078325009957_o

IMG_6109

IMG_6410

IMG_6412

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image