เปิดวิทยานิพนธ์ ตีแผ่ชีวิตจริง ‘เมียน้อย’ สถานะ ‘เป็นรอง’ ที่มีแต่ช้ำใจ

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน เรื่องของเมียหลวง เมียน้อย ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดในสังคมไทยอยู่เสมอ และสอดแทรกอยู่ในทุกชนชั้นของสังคมไทยเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งกับในช่วงเวลานี้ ที่กระแสละคร #เมีย2018 กำลังฟีเว่อร์ เรื่องเมียหลวงเมียน้อยก็ถูกยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง

และเมื่อพูดถึง “เมียน้อย” ภาพที่หลายคนคิดคงไม่พ้นเชิงลบ ทั้งแย่งสามีคนอื่น หวังรวยทางลัด หรือเกาะสามีกิน แต่ยังคงมีอีกหลายแง่มุมที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำวิทยานิพนธ์เรื่อง “เมียน้อย” : กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว โดยสุภาวดี มนัสปิยะเลิศ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2548 ซึ่งเข้าไปสัมภาษณ์-วิจัย เมียน้อย 6 ราย วัยตั้งแต่ 30-52 ปี ที่มีสถานะนี้ตั้งแต่ 6-12 ปี ในอาชีพแตกต่างกัน มานำเสนอ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ พาไปทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ผู้หญิงหลายคนเลือกตัดสินใจเป็นเมียน้อย ไว้ส่วนหนึ่งว่าเกิดจากความกดดันในครอบครัว โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ครอบครัวแตกแยก เคยเห็นบิดามีภรรยาน้อย ทำให้ฐานะทางบ้านไม่ดี หรือเข้มงวดในการอบรมเลี้ยงดูลูกมากเกินไป ทำให้เมื่อผู้หญิงเจอคนที่ดูแลให้ความเป็นอิสระ จึงตัดสินใจเลือกเป็นภรรยาน้อย บ้างก็เคยประสบกับชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวมา

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย และความผูกพันทางอารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะเอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใย เข้าอกเข้าใจ คอยช่วยเหลือ ไม่ทอดทิ้ง ทั้งยังให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตจนทำให้ผูกพัน หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าสามีมีภรรยาอยู่แล้ว แต่เมื่อพลาดท่าแล้วก็รู้สึกว่าต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนนี้

Advertisement

แม้จะมีคนเข้ามาจีบก็ไม่สนใจ เพราะถูกสอนมาว่า เสียสาวให้กับคนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้หญิงบางคนยังอยากลบคำสบประมาทของภรรยาหลวง ว่าผู้ชายไม่คบกับใครนานๆ แค่เล่นๆ โดยตั้งใจพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ชายจริงจังกับรักครั้งนี้ โดยหลายกรณีบ้านใหญ่ยังทำพิธีแต่งงานรับเข้าสู่ครอบครัวเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง หลายคนมองว่า “เป็นเมียน้อยแต่มีผัวดี เอาการเอางาน รับผิดชอบ ก็ดีกว่าเป็นเมียหลวงแต่ผัวไม่เอาถ่าน”

ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า กลุ่มผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์ มักหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เมียน้อย” เป็นคำว่า “ที่สอง” “เป็นรอง” แบบนี้แทน แสดงให้เห็นถึงการต่อรอง

Advertisement

และแน่นอนว่า ชีวิตของเหล่าเมียน้อย ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ในช่วงแรกของเมียน้อยหลายคน มักเจอกับปฏิกิริยาเชิงลบจากสังคม เริ่มจากการไม่ยอมรับของคนในครอบครัวทั้งชายและหญิง หลังจากตัดสินใจเปิดเผยให้ทราบ ทั้งพูดจาดุด่าว่ากล่าว พูดจาประชดประชัน ไล่ออกจากบ้าน เพราะเสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล บ้างก็แสดงท่าทีรังเกียจ ไม่ให้แตะตัว พูดคุย หรืออาละวาดจากแม่สามี ทั้งไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่าง เช็งเม้ง ทำบุญบ้าน

รวมไปถึงการราวีของภรรยาหลวง ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าต้องเกิดขึ้น อย่างการโทรมาต่อว่า เสนอเงินให้เลิกกับสามี และทำร้ายสามีเพื่อให้บาดเจ็บจนมาหาเมียน้อยไม่ได้

เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ทั้งลูกค้า เพื่อนบ้าน คนในงานเลี้ยง ไปจนถึงเพื่อนที่ถูกพูดจาส่อเสียด หรือแกล้งเล่าเรื่องคนอื่นกระทบกระเทียบ อย่างหญิงรายหนึ่งเปิดร้านขายของอยู่ข้างธนาคาร ก็มักมีพนักงานแบงก์ออกมาพูดจากระทบเธอ เวลาที่เลือกซื้อของภายในร้าน แม้แต่เล่าให้คนไม่รู้จักฟังว่าเธอเป็นเมียน้อย ทำให้ผู้หญิงบางคนจึงเลือกที่จะพูดให้คนอื่นฟังว่าเป็นเมียน้อย เพื่อลดความกดดันและตัดปัญหา

ในแง่ของการใช้ชีวิต “ผัว-เมีย” ร่วมกันนั้น แน่นอนว่า การเป็นบ้านเล็ก ย่อมไม่อาจเปิดเผยได้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกประณาม การดำรงอยู่จึงต้องซ่อนเร้น ไม่อาจอยู่ด้วยกันทุกวัน ต้องติดต่อผ่านโทรศัพท์ บ่อยครั้งที่ฝ่ายชายไม่ตอบในทันที หรือทำเป็นว่าไม่ได้คุยกับเธอ เช่นเดียวกับการพบเจอที่ไม่สม่ำเสมอ ต้องไปพบตามห้าง โรงแรม ไม่อาจค้างคืน เพื่อไม่ให้ภรรยาจับได้

เมื่อยากจะได้รับการยอมรับจากสังคม พวกเธอจึงต้องพยายามจัดการกับปัญหาต่างๆ เมียน้อยหลายคนที่เข้าไปอยู่ในบ้านของสามี ก็พยายามสร้างการยอมรับว่าเป็นสะใภ้ที่ดี ดูแลปรนนิบัติให้มองว่าไม่เหมือนกับเมียน้อยคนอื่นๆ แม้จะถูกเพิกเฉย ซึ่งคงมีจำนวนของเมียน้อยไม่มากนัก ที่ได้เข้าสู่บ้านใหญ่ โดยมากต้องหลบแยกออกไปเช่าห้องอยู่กันเองรอสามีมาหาเสียมากกว่า

แต่สิ่งที่พวกเธอไม่สามารถจัดการได้เลยก็คือ ความรู้สึกเสียใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์ไหว้พระ หรือทำงานหนัก เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเวลาคิดเรื่องนี้

และเมื่อต้องดำรงสถานะนี้ไปตลอด พวกเธอจึงเลือกจะสรรหาคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผลต่อการกระทำที่เกิดขึ้น ว่าไม่ได้มาจากตัวเอง แต่เป็นเรื่องของเวรกรรม และเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากผู้ชาย

เช่น ฝน หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ อธิบายสาเหตุให้ตนเองว่า เป็นกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน ที่เคยไปอาละวาดต่อว่าแม่เล็ก ภรรยาน้อยของพ่อ ทำให้ถูกสาปแช่งให้เธอเป็นเมียน้อย

ภรรยาน้อยจำนวนมากยังรู้สึกเสียใจ เวลาที่ “บ้านใหญ่” มาพูดถึงปัญหาที่ต้องประสบจากการที่พวกเธอมาเป็นเมียน้อย แต่แม้จะรู้สึกผิด ก็คิดว่าพวกเธอไม่ได้เริ่มก่อน เป็นผู้ชายต่างหากที่ควรต้องรับผิดชอบ

และเพื่อลบล้างวาทกรรม เกาะผัวกิน อยากรวยทางลัด ผู้หญิงหลายคนจึงลุกมาทำมาหากินเลี้ยงชีพ ดูแลตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เมียน้อยเหล่านี้ ยอมรับว่าพวกเธอคาดการณ์ว่าจะต้องใช้ชีวิตบั้นปลายตามลำพัง เมื่อลูกโตหรือตั้งตัวได้ก็จะหนีไปอยู่คนเดียว เพราะจะให้หวังว่าสามีจะเลิกกับภรรยาหลวงมาอยู่กับตัวเองคงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่บางคนก็คิดว่าในเมื่ออยู่กันมาขนาดนี้แล้ว ก็คงอยู่กันจนแก่เฒ่า


เรื่องเมียน้อย จากมุมผู้ชาย

ภาพจาก iwantmylovebacknow

จากข้อมูลการสำรวจจากวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2541 ได้สำรวจชายที่มีภรรยาน้อย 20 คน โดย นงพงา ลิ้มสุวรรณ และรณชัย คงสกนธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจประชากรในกรุงเทพฯ 160 คน มีผู้ชาย 19 ยอมรับว่ามีภรรยาน้อย โดยกว่า 44 คน ยอมรับว่าเคยคิดจะมีเมียน้อย จากอาชีพที่หลากหลาย ทั้งนักธุรกิจ ตำรวจ วิศวกร ราชการ สถาปนิก พนักงานขับรถ พนักงานขาย โดยคาดว่าจะมีผู้ยอมรับน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

เมื่อสำรวจเจาะลึกไปมากกว่านั้น ยังพบว่าร้อยละ 40 พบว่าผู้ชายเหล่านี้ มีความสุขกับชีวิตสมรสดี และแต่งงานด้วยความรักถึง 60% โดย 55% มีความคิดว่าผู้ชายควรจะมีคู่เพียง 1 คน ขณะที่ 35% มองว่ามีคู่ได้มากกว่าหนึ่งคนพร้อมๆ กัน กว่า 37% บอกว่าเหตุผลของการมีเมียน้อยนั้นเกิดจากความใกล้ชิด รองลงมาคือความรัก ได้ผลประโยชน์ไม่มีความสุขกับคู่นอน รวมถึงเป็นความสามารถของผู้ชายและสงสาร โดย 50% ของผู้ชายที่มีเมียน้อย คิดว่าหากภรรยาทราบว่ามีเมียน้อยคงไม่กล้าจะหย่า ทั้งนี้ ผู้ชายทั้งหมดยอมรับว่าการมีภรรยาน้อยทำให้มีปัญหา ทั้งไม่มีความสุข ทะเลาะกับคู่สมรสทั้งเมียหลวงและเมียน้อย นอนไม่หลับ รวมถึงเงินไม่พอใช้

(จาก http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/v4331.html)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image