เปิดมุมมอง 5 นักธุรกิจหญิงแถวหน้า ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจ-สังคมไทย’

หมดยุคที่ผู้หญิงจะต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่เปลี่ยนผ่านสู่การทำหน้าที่แม่บ้านที่ดีพร้อมกับทำงานไปด้วยได้

และต้องบอกเลยว่า ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเธอนั้น “ไม่ธรรมดา” 

ดังที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เชิญ 5 นักธุรกิจหญิง ที่ได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้าของแวดวงธุรกิจ เข้าร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “พลังสตรี…ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย” ณ เวทีกลาง ฮอลล์ 6-7 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

จรีพร จารุกรสกุล

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA Group ครอบคลุมธุรกิจโลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, WHA Group และกลุ่มดิจิทัล แพลตฟอร์ม เผยมุมมองการทำงานว่า ไม่มีคำว่า “แบ่งเพศ” เพราะล้วนแต่วัดกันที่ความสามารถ โดยส่วนตัวแล้วยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ “เพศ” กลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือถ้ามีก็มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องรับมือ เพราะหากไม่มีอุปสรรคก็ไม่เกิดกระบวนการในการพัฒนา

Advertisement

“เราเริ่มสร้างธุรกิจจากที่ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นความฝันสูงสุดคือมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ พร้อมกับสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ด้วย ทำให้ไม่กลัวที่จะทำงานหนัก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้โอกาสกับคนที่มีความสามารถอย่างมาก เพราะฉะนั้นเรื่องเพศจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือเป็นอุปสรรคในการทำงาน” จรีพรกล่าวย้ำ

ระริน ปัญจรุ่งโรจน์

ขณะที่ทายาทธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ระริน ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บจก.อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ที่ต้องรับไม้ต่อจากคุณพ่อ กล่าวว่า โชคดีที่หลังเรียนจบได้ศึกษางานกับคุณพ่อเป็นระยะเวลา 4 ปี ก่อนที่ท่านจะจากไป ช่วงเวลานั้นกลายเป็นภูมิคุ้มกันในชีวิตที่ผลักดันให้เธออยู่รอดในวงการนี้

เธอเล่าว่า “พ่อไม่เคยสอน แต่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง” จึงเริ่มงานตั้งแต่ระดับล่างสุด ในฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ด้วยทีมทำงานเพียง 6 คนเท่านั้น

Advertisement

“ในยุคนั้นต้องเรียกว่าเป็นระยะแรกที่วงการสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มซบเซา คุณพ่อเรียกเราไปพบแล้วพูดว่าต่อไปในอนาคต เมื่อโลกเปลี่ยนไป จะนำเสนอแต่ข้อมูลข่าวสารที่อยากนำเสนอไม่ได้แล้ว ต้องใส่ใจและรับฟังความต้องการของผู้บริโภคด้วย จึงมอบหมายให้เธอเข้ามาดูแลในส่วนการขายและการตลาด”

ซึ่งเคล็ดลับในการเลือกผู้ร่วมงาน คือ เลือกจากคนที่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร สามารถทำในสิ่งที่ถนัดได้ดีที่สุด เพื่อเสริมด้านที่ไม่ถนัดของคนอื่นๆ ทำให้ทีมทำงานมีความสามารถที่รอบด้าน ทั้งยังช่วยลดความขัดแย้งในการทำงานได้ด้วย

วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์

ด้านลูกสาวเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ผู้ก่อตั้ง ร.ร.นานาชาติ คอนคอร์เดียน กล่าวว่า ครอบครัวมี นโยบายว่า เมื่อลูกหลานอายุมากกว่า 20 ปี ขึ้นไปจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในบริษัทของตระกูลที่สำเร็จแล้วได้ เพราะฉะนั้นทุกคนเลยออกไปทำธุรกิจของตัวเอง ขณะที่เธอมีความชื่นชอบในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่เด็ก จึงเป็นที่มาที่ทำให้เธออยากเปิดโรงเรียนที่พัฒนาคุณภาพของเด็ก เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นต่อไป

“ตอนคิดจะก่อตั้งโรงเรียน คุณพ่อก็ยังไม่สนับสนุนเต็มที่เพราะมองว่าตระกูลเราไม่เคยทำกิจการด้านการศึกษามาก่อน ทั้งยังเป็นงานที่ต้องดูแลคนอื่น ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก และตลอดระยะเวลาที่ก่อตั้งโรงเรียนมา ดิฉันไม่เคยรับเงินเดือนเลยแม้แต่เดือนเดียว” วรรณี กล่าวและเผยมุมมองต่อบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยไว้ว่า

“ผู้หญิงทุกคน ต่างเป็นพี่สาว น้องสาว หรือลูกสาวของใครสักคน เพราะฉะนั้นในฐานะผู้หญิงด้วยกันเอง ต้องมองเห็นค่าของผู้หญิงด้วยกันเสียก่อน สักวันเมื่อเป็นแม่คน หากมีลูกสาวก็จะสอนว่าต้องเข้มแข็งเข้าไว้ เพื่อให้ใช้ชีวิตและต่อสู้กับโลกใบนี้ต่อไป ขณะเดียวกันหากมีลูกชายก็ต้องสอนให้เคารพสิทธิของผู้หญิงด้วย”

อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ

ขณะที่ทายาทอาณาจักร “เนสกาแฟ” อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ประธานกรรมการ บจก. เคดีเอ็น ที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นหน้าเธอ เพราะปรากฏตัวในแวดวงสังคมไม่น้อย แต่อาจจะมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าโดนัทชื่อดังอย่าง “คริสปี้ ครีม” ก็มีผู้หญิงคนนี้ที่เป็นคนนำเข้ามาขายในไทย

ซึ่งการได้มาซึ่งการนำมาขายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องทำงานอย่างหนัก แม้กระทั่งในวันที่ใกล้กำหนดคลอดลูกที่ 2 เพียง 2 วัน อุษณีย์ยังคงนั่งเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์อยู่เลย

“สิ่งสำคัญที่ทำให้โดนัทคริสปี้ครีม ประสบความสำเร็จ คือ นิสัยน่ารักๆ ของคนไทย ที่พอเจอสิ่งที่ร่ำลือว่าอร่อย และดี ก็มักจะมาซื้อเพื่อนำไปฝากให้คนที่เรารักได้กิน ได้ลองชิม ด้วยตรงนี้เองที่ทางบริษัทเราแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะด้วยคุณภาพและชื่อเสียงของแบรนด์ก็การันตีคุณภาพได้แล้วในระดับหนึ่ง”

พราวพุธ ลิปตพัลลภ

ปิดท้ายด้วยนักธุรกิจรุ่นใหม่ พราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บจก.พราว เรียล เอสเตท ที่พอเรียนจบก็เริ่มทำงานเลย เธอมองว่า การเริ่มทำงานไวก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเอง เพราะการทำงานคือการเรียนรู้

“พราวเริ่มงานตั้งแต่ทีมมีกัน 5 คน จนตอนนี้มีพนักงานมากกว่า 2,000 คนแล้ว” เธอกล่าวและเผยเคล็ดลับสำหรับนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ว่า อันดับแรกต้องทราบก่อนว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ง่าย และต้องรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร และสามารถทำได้จริง ไม่เกินตัว ตลอดจนแนะนำให้ประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานให้มากขึ้น

“ในการทำงานด้วยภาพลักษณ์ของผู้หญิงและอายุยังน้อย ก็ต้องมีบ้างที่ในแรกพบอาจจะไม่ได้มีอิมแพคด้านความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นจะต้อง เตรียมตัวเองให้ดี ผิดพลาดให้น้อยที่สุด และเปลี่ยนอคติของเพื่อนร่วมงานให้เป็นจุดแข็งของเรา” พราวพุธกล่าวด้วยรอยยิ้ม

แรงผลักดันสู่ความสำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image