ผลวิจัยชี้ภาวะ ‘หัวใจสลาย’ จากการสูญเสียคู่ชีวิต อาจทำให้ถึงตายได้

งานวิจัยทางการแพทย์โดยวิธีสังเกตการณ์ของทีมนักวิทยาศาสตร์เดนมาร์ก นำโดย ไซมอน กราฟฟ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการออนไลน์ “โอเพ่น ฮาร์ท” เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ภาวะหัวใจสลายจากการสูญเสียคู่ชีวิตอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้

ผลสรุปดังกล่าวได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวเดนมาร์กเกือบ 1 ล้านคนเพื่อเก็บข้อมูลในช่วงระหว่างปี 1995 กับปี 2014 โดยในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีส่วนหนึ่งคือ 88,612 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เอเทรียล ไฟบลิเลชั่น-เอเอฟ) ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่อีก 886,120 คน มีสุขภาพสมบูรณ์ดีเป็นปกติ เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ทีมวิจัยพบว่าผู้ที่เกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติดังกล่าวเป็นครั้งแรกนั้นสัมพันธ์กับการสูญเสียคนรักไปกะทันหัน

ทีมวิจัยพบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าวนี้ในกลุ่มผู้ที่ประสบความสูญเสียจะสูงกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าวถึง 41 เปอร์เซ็นต์ โดยที่กลุ่มตัวอย่างที่อายุยังน้อยคืออายุไม่เกิน 60 ปี ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นจะมากเป็น 2 เท่า ในเวลาเดียวกันผู้ที่ประสบความสูญเสียกะทันหันเพราะคู่รักที่เสียชีวิตมีสุขภาพดีในช่วง 1 เดือนก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต จะยิ่งเสี่ยงสูงมากขึ้นเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วง 8-14 วันหลังจากการสูญเสีย หลังจากนั้นระดับความเสี่ยงจะค่อยๆ ลดลง หลังระยะเวลาผ่านไป 1 ปี ระดับความเสี่ยงระหว่างคนที่ประสบความสูญเสียกับคนทั่วๆ ไปจะลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกัน

ไซมอน กราฟฟ์ ระบุว่า วัตถุประสงค์ในงานวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อหาทางอธิบายว่า ทำไมคู่รักหรือคู่แต่งงานมักจะเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากที่สูญเสียคู่ชีวิตของตนไป ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ที่แสดงผลว่าผู้ที่สูญเสียชีวิตไปมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดอาการโรคหัวใจหรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน (สโตรค) แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงกลไกที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวสูงขึ้น ในขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งไปที่การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เอเอฟ) ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบเป็นการทั่วไปมากที่สุดและเป็นปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดภาวะสโตรคและภาวะหัวใจล้มเหลว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยระบุไว้ในรายงานผลการวิจัยด้วยว่า การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีสังเกตการณ์ ทำให้ยังไม่สามารถสรุปการเชื่อมโยงระหว่างสาเหตุ (ภาวะใจสลาย) กับผลกระทบ (อาการเอเอฟ) ได้แน่ชัดเพียงอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่บ่งชี้เท่านั้น

นอกจากนั้นยังไม่ได้มีการนำเอาปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อผลสรุปดังกล่าวมาพิจารณาร่วม ตัวอย่างเช่น ภาวะโภชนาการของกลุ่มผู้สูญเสีย, สภาพการออกกำลังกาย, หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ก่อให้เกิดความโน้มเอียงต่อการเกิดอาการเอเอฟ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน โดยข้อเท็จจริงแล้ว การสูญเสียคู่ชีวิตถือเป็นเหตุการณ์ที่ตึงเครียด กดดันมากที่สุดในชีวิตของผู้สูญเสีย และสามารถนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางจิตได้หลายอย่าง อาทิ ภาวะซึมเศร้า และอาจทำให้นอนไม่หลับ ไม่หิว ดื่มมากจนเกินไปและเลิกออกกำลังกายไปเลยก็เป็นได้

Advertisement

พฤติกรรมทั้งหมดดังกล่าวนั้นเสี่ยงต่อการเปิดปัญหาสุขภาพและหัวใจได้ทั้งสิ้นเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image