Noสน-Noแคร์ ‘กระแส-ดราม่า’ 10 ปี ‘อาซาว่า’ บทพิสูจน์ ‘ความสำเร็จ’ อยู่ที่คุณค่าในตัวตน

จากวันแรก วันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 ที่ “หมู อาซาว่า” หรือ “พลพัฒน์ อัศวะประภา” ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป (ASAVA Group) ก้าวเข้าสู่ถนนสายแฟชั่นเมืองไทย

ชื่อของ “หมู อาซาว่า” ก็ไม่เคยหลุดจากความสนใจของสังคม ที่มีทั้ง “เสียงชื่นชม” และ “ดราม่าหนักมาก”

กระนั้นเขาก็ยังได้ชื่อว่าเป็น “ดีไซเนอร์ดังเบอร์ต้นๆ” ของเมืองไทย และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นไทย” ก็ว่าได้

ตลอด 10 ปี บนเส้นทางสายนี้ หมู อาซาว่า ขยายอาณาจักรเกิดเป็นหลากหลายแบรนด์ในเครืออาซาว่า กรุ๊ป ทั้งแบรนด์เสื้อผ้าอาซาว่า (Asava),เอเอสวี (ASV), ยูนิฟอร์ม บาย อาซาว่า (Uniform by Asava), ร้านอาหาร ซาว่า ไดนิ่ง (Sava Dining) รวมไปถึงแบรนด์ชุดเจ้าสาว ไวท์ อาซาว่า (White Asava)

“แบรนด์อาซาว่าเกิดจากความรักล้วนๆ”

Advertisement

พลพัฒน์เปิดใจกับมติชนในวันที่อาซาว่ามีอายุครบ 10 ปี

จากคน 4 คน เย็บเสื้อได้เดือนละ 15 ตัว ทำจากบริษัทหลังบ้าน เอาเศษโต๊ะเศษโคมไฟเหลือในห้องเก็บของมาใช้ มาถึงวันนี้ อาซาว่ามีบุคลากรกว่า 100 ชีวิต ทำเสื้อผ้าเดือนละ 2-3 พันตัว

Advertisement

“อาซาว่าก็เหมือนชีวิตมนุษย์ ที่ค่อยๆ เติบโตและมีวิวัฒนาการ มีการเรียนรู้จากความผิดพลาด และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ งานออกแบบและวิธีการจัดการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 10 ปี ไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนาน ยังถือว่าสั้นมาก สำหรับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง”

ซึ่งเจ้าตัวว่า “ไม่เคยคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ”

แม้จะออกคอลเล็กชั่นเล็กใหญ่มากกว่า 50-60 คอลเล็กชั่น ทุกปีจะมีแฟชั่นโชว์ 3-4 ครั้ง รวมถึงโกอินเตอร์ไปโชว์แฟชั่นวีคต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ โตเกียว แอลเอ จีน ผลงานของเขาได้รับคำชื่นชมจากกูรูแฟชั่นต่างประเทศ โดยเฉพาะชุดราตรีที่ออกแบบให้มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2015-2017 และยังเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ที่เหล่าไฮโซ-เซเลบ-ดาราเทใจให้

“เราไม่ได้มองว่าเสื้อผ้าเป็นเรื่องฉาบฉวย หวือหวา หรือเป็นเรื่องกระแส ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากแสงแฟลช กระแส ความฮือฮา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน แต่คุณค่าที่เกิดจากจิตใจเรา ว่าเรากำลังทำสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่ตีมูลค่าไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่วัดความสำเร็จมากกว่า”

ทำให้ทุกวันนี้สำหรับเขายังไม่มีผลงานชิ้นไหน “ดีที่สุด”

“กลับไปดูโชว์แรกๆ ยังรู้สึกว่า ทำไมเสื้อผ้าฉันเย็บน่าเกลียดขนาดนี้”

และมีแต่สิ่งที่ต้อง “ปรับปรุงแก้ไข” ให้ดีขึ้นทั้งนั้น

“คนเราต้องไม่ยกย่องตัวเอง เราต้องอย่าคิดว่าเราเก่ง เพราะความจริงเราไม่ได้เก่ง และคนเก่งกว่าเรามีอีกเยอะ สิ่งที่ทำให้เราเคลื่อนที่ต่อไปได้ คือ พลังของการไม่หยุดนิ่ง พลังของการมีไฟลนก้น ทำให้ตูดเราร้อนตลอดเวลา มันทำให้เรานั่งไม่ได้”

“อย่ายึดติดกับสิ่งที่เค้าเยินยอปอปั้น หรือความสำเร็จเดิมๆ เพราะคุณจะหยุดอยู่แค่นั้น สุดท้าย คุณจะกลายเป็นผู้แพ้โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าคุณไม่ยึดติดกับคำเยินยอ ไม่ยึดติดกับสิ่งที่คนบอกว่า คือความสำเร็จ คุณก็จะก้าวต่อไปเรื่อยๆ”

“อย่ายึดติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง” เขาย้ำ ก่อนว่า

“ฉะนั้น ทุกแบรนด์ในเครืออาซาว่าก็ยังต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”

ซึ่งทั้ง 5 แบรนด์ คือ “ชีวิต” ที่สร้างขึ้นมาจากความเชื่อ รากฐาน และตัวตนของหมู อาซาว่า อย่างแท้จริง

มีนิคเนมว่า “หมู” แต่ชีวิตจริง “ไม่ได้หมู” สมชื่อ โดยเฉพาะเรื่อง “ดราม่าสนั่น โซเชียล” ที่ไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตดีไซเนอร์มือทองคนนี้ ทั้งดราม่าใหม่-ดาวิกา ดราม่าเดอะเฟซเมน รวมถึงดราม่าชุดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ของมารีญา ที่หนักมากถึงขั้นเจ้าตัวต้องประกาศเลิกทำชุดให้เวทีนี้!!

หากพลพัฒน์ก็มองว่า “เป็นเรื่องธรรมดา” ซึ่งเขาเจอมาตลอด และส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ตั้งใจทั้งสิ้น

“คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ มีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด ไม่ถูกใจเขาก็ด่าเรา ก็เป็นเรื่องของเขา เป็นวิธีคิดของเขา เราคงเปลี่ยนวิธีคิดเขาไม่ได้ หน้าที่ของเราคือ ทำตัวของเราให้ดี สร้างคุณค่าให้ตัวเรา สักวันหนึ่งเขาอาจจะเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ แต่ก็ไม่มีประโยชน์จะเอาสิ่งเหล่านั้นเก็บมาโกรธ มาเคียดแค้น เอาเวลาไปพัฒนาคุณค่า พัฒนาความสามารถ และศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ดีกว่า”

“ดราม่าก็คือดราม่า เราแก้ไขไม่ได้ เราไม่ควรเก็บมาเป็นสาระสำคัญของชีวิต เพราะสุดท้ายแล้ว มันไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต”

ถึงอย่างนั้นก็ยังเชื่อว่า… “ชีวิตนี้คงหนีดราม่าไม่ได้” ก่อนพูดติดตลก

“เพราะเป็นพลังงานดึงดูดดราม่า” (หัวเราะ)

“แต่โชคดีที่เป็นคนหนังหนา มีสติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ก็เลยมีภูมิคุ้มกันดราม่าประมาณนึง”

1 ทศวรรษที่ผ่านมาจึงทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

“ผู้ใหญ่หลายคนสอนว่า เธอต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่กับชีวิต เพราะไม่ใช่ทุกจังหวะชีวิตที่กราฟจะขึ้น ดังนั้น เราต้องเข้าใจความจริงว่า อะไรคือสิ่งสมมุติ อะไรคือเนื้อแท้ของชีวิต ไม่ว่ากราฟจะขึ้นหรือลง มันสอนให้เราโตขึ้น มีสติ และไม่หลงระเริงเหมือนเมื่อก่อน”

“เพราะสุดท้าย ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ มันเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนทั้งสิ้น วันนี้สปอตไลต์อาจอยู่ที่เรา วันข้างหน้าอาจจะหมุนไปหาคนอื่นบ้าง หรือบางทีอาจไม่กลับมาหาเราอีกเลยก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และอยู่กับมันอย่างสง่างาม”

“ดังนั้น คุณค่าของคนทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรา การกระทำของเราเป็นสิ่งกำหนด และการกระทำของเราต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นคุณค่าให้ตัวเราอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคุณค่าให้คนรอบข้างด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนก็แล้วแต่ แต่มันเป็น ศรัทธา ซึ่งป็นผลพิสูจน์ตัวตนของเรา”

ครอบครัวอัศวะประภา

นิทรรศการครบรอบ 10 ปี อาซาว่า

 

 

หนึ่งใน “คุณค่า” ที่หมู อาซาว่า ตั้งใจทำขึ้นในวาระครบรอบ 10 ปีของแบรนด์ คือ ส่งต่อเมล็ดพันธุ์ของความคิดสร้างสรรค์ไปสู่สังคมที่ไม่ได้คลั่งไคล้แฟชั่น

โดยเลือกที่จะทำสิ่ง “แปลกใหม่” นอกเหนือจากเสื้อผ้าที่ทำอยู่ทุกวัน คือทำ “หนังสั้น” เรื่อง “080808” ซึ่งได้ผู้กำกับมากฝีมือ “เป็นเอก รัตนเรือง” มากำกับการแสดง ได้ “บี-น้ำทิพย์” ดารานางแบบชื่อดัง มาเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยฉายให้ชมฟรีทางยูทูบและสื่อโซเชียลต่างๆ

“หนังเรื่องนี้แล้วแต่คนตีความ เป็นงานฝีมือที่ประณีตละเมียดละไม ใช้ทีมงาน 100 กว่าคน เป็นอีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์ของความคิดสร้างสรรค์ที่อยากโปรยให้สังคมรู้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ถูกสะท้อนออกมาได้ในหลายๆ ชิ้นงาน ไม่เพียงแต่เสื้อผ้าเท่านั้น”

ที่ลุกขึ้นมาปลุกกระแสความคิดสร้างสรรค์ เพราะมองว่า “สังคมไทย” ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่

“คนไทยยังขาดทัศนคติเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนไทยยังรู้สึกว่า ของไทยไม่มีมูลค่า ของไทยเหมาะจะเป็นของโอท็อป ของไทยเหมาะจะเป็นของราคาถูก”

“ซึ่งเราโตมาแบบนี้ สอนให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกว่าอาหารไทยต้องถูก ผัดไทยต้องถูก แต่ถ้ากินพาสต้าแพงได้ กินเนื้อย่างน้ำตกต้องถูก แต่ถ้ากินสเต๊กแพงได้ ทั้งที่จริงมันคือสิ่งเดียวกัน พาสต้ากับผัดไทย มันเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ผัดไทยอาจทำยากกว่าพาสต้าด้วยซ้ำ แต่คนไทยคิดแบบนี้”

“ดีไซเนอร์ต้องถูก ภาพยนตร์ไทยต้องไม่แพง”

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนความคิด อย่ามองว่าประเทศไทยขายได้แค่วัฒนธรรม อารยธรรม และรากประวัติศาสตร์ สิ่งต่างๆ เรามีอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้เราก้าวไปสู่สังคมมูลค่าเพิ่ม สังคมความคิดสร้างสรรค์ ทำยังไงที่จะเปลี่ยนเป็นประเทศที่ส่งออกความคิด ถ้าเรายังไม่ให้ราคาค่างวดกับความคิดของคนไทยด้วยกันเอง เราก็ไม่มีวันที่จะส่งออกความคิดไปสู่ต่างชาติได้”

“อย่างเจ๊ไฝ เปิดมา 20 ปี เขาก็มีคนกิน แต่พอได้มิชลิน กลายเป็นตอนนี้ คิว 3-5 ชั่วโมง คนไทยต้องรอแอปปรู๊ฟจากต่างชาติ ถึงจะรักและเชิดชูของตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นเรื่องประหลาด”

ทั้งหมดนี้ พลพัฒน์มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังความคิดค่านิยมใหม่

“เป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะทำให้คนไทยได้มีจิตสำนึกที่ดีด้วยการใช้ชีวิตอย่างคนไทยที่มีคุณภาพ”

สำหรับเป้าหมายต่อไป พลพัฒน์ว่า “ยังมีอีกมากมายมหาศาลที่อยากทำ”

โดยภายใน 3 ปีนี้มีแพลนไปต่อยอดธุรกิจที่จีน รวมถึงในปีหน้าจะเปิดแบรนด์ไลฟ์สไตล์อีก 1 แบรนด์

ภายใต้การทำงานที่ หมู อาซาว่า ยึดมาตลอดว่า “ให้เป็นไปตามธรรมชาติกับชีวิต ที่ไม่กระเสือกกระสนจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความพยายาม มีมานะ มีวินัย และไม่เข้มงวดจนขาดความสุข”

“สุดท้าย ความสันโดษเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต อยู่กับสติ ทำชีวิตให้ว่าง และทุกอย่างจะต่อเป็นจิ๊กซอว์ของมันไปเอง” ซีอีโอแห่งอาซาว่า กรุ๊ป ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image