69 สุดสตรอง ‘ป้าปิ๋ว’ นักปั่นน่องเหล็ก ชนะโรคซึมเศร้าด้วย ‘จักรยาน’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การออกกำลังกาย” นั้นดีต่อสุขภาพ แต่การจะก้าวออกไปทำกิจกรรมเพื่อออกกำลังทางกายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน อาจจะด้วยข้อจำกัดในเรื่องเวลา และสภาพร่างกาย

แต่กระนั้น ยังมีหนึ่งหญิงแกร่งที่สภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และ “อายุ” ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายของ ปราณี ถีติปริวัตร หรือ ป้าปิ๋ว นักไตรกีฬา วัย 69 ปี

ซึ่งเอกลักษณ์ที่ทุกคนในแวดวงจักรยานต่างคุ้นเคย ก็คือ “การสวมโจงกะเบนปั่นจักรยาน”

ปราณีเล่าว่า เริ่มต้นปั่นจักรยานตอนอายุ 40 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าเวลาไปไหนต้องซ้อนท้ายลูกตลอด ทำให้โดนล้อและเกรงใจลูกๆ เลยอยากพึ่งพาตัวเองบ้าง ตั้งใจที่จะเลิกใช้รถยนต์ และหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแทน ไปไหนมาไหนก็ใช้จักรยาน หรือไม่ก็ใช้บริการรถสาธารณะ เช่น หากต้องเดินทางไกลก็จะพกจักรยานขึ้นรถไฟไปด้วย

“ป้าปั่นจักรยานเพื่อจุดประสงค์ 3 ข้อ คือ ใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน เพื่อออกกำลังกาย และการแข่งขันในไตรกีฬา ทุกวันจะต้องปั่นจักรยานอย่างน้อยวันละ 20 กิโลเมตร มากสุดก็ 60 กิโลเมตร เพราะเป็นระยะทางที่กำลังพอดี ถ้ามากกว่านี้ก็หักโหมแล้ว ร่างกายเราไม่ไหว ป้าไม่ฝืน เพราะเน้นปั่นเพื่อสุขภาพด้วย” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

Advertisement

แต่กว่าจะมีป้าปิ๋วในเวอร์ชั่น “สตรอง” แบบนี้ ก็ต้องต่อสู้มาเยอะเหมือนกัน

เธอเล่าว่า ตอนนี้รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เพราะแต่ก่อนต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ ทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยตั้งใจที่จะใช้ชีวิตแบบพอเพียง ขณะเดียวกัน ด้านสภาพร่างกายก็ดีขึ้นเยอะ เพราะเมื่อก่อนเป็นคนขี้โรค ที่หนักสุดเลยคือการเป็น “โรคซึมเศร้า”

“ป้าเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว และตอนนั้นยังเป็นซึมเศร้าหนักถึงขั้นต้องไปพบหมอ และรับยา ซึ่งเรารู้สึกได้เลยว่าพอฤทธิ์ยาหมด เราตื่นขึ้นมาก็พบว่าปัญหามันก็ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เลยเหมือนกับว่ายิ่งซึมเข้าไปใหญ่ กินยา ซึมเศร้า นอนหลับ ตื่นมาเจอความจริง วนอยู่แบบนั้น จนกระทั่งเข้าไปปรึกษาคุณหมอว่า เอาแบบนี้ไหม ขอใช้การเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพแทนการบำบัดด้วยการกินยา คุณหมอก็บอกว่า ได้ แต่ต้องมาพบหมอเพื่อทำการประเมินอาการทุกอาทิตย์ว่าเราไหวไหม”

และเธอก็ได้เลือก “ปั่นจักรยาน” เพื่อบำบัดโรคซึมเศร้า และปรากฏว่า ผลออกมาดี จนตอนนี้ไม่ต้องรับยาแล้ว

ส่วนการปั่นจักรยานในปัจจุบันนั้น ป้าปิ๋วมองว่า “การจัดระเบียบก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะเป็นไปได้ยาก” เพราะหลายๆ คนชอบเป็น “นักปั่น” แต่ยังไม่เป็น “ผู้ใช้จักรยาน” โดยสองสิ่งนี้มีความแตกต่าง คือ นักปั่น จะนำจักรยานใส่รถยนต์ไปปั่น แต่ผู้ใช้จักรยานคือใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเธอมองว่าอันนี้สำคัญกว่า เพราะช่วยในเรื่องลดความหนาแน่นของปริมาณรถราบนถนน ลดมลพิษ บรรเทาปัญหาโลกร้อน ทั้งยังส่งผลให้ประหยัดในหลายๆ ทาง แถมยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย

นอกจากนี้ ป้าปิ๋วยังฝากถึงผู้ใช้จักรยานทุกคนว่า “สติ” และ “ความไม่ประมาท” เป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อปั่นจักรยานบนท้องถนน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image