ขึ้นราคาความตาย! ช่วย ‘เด็ก-ผู้หญิงมีครรภ์’ ปลอดควันมือสอง

หลายคนต้องรับเคราะห์สูดควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ชิดในครอบครัว แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าควันจากยาสูบนั้นอันตรายเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่โรงงาน หรือบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) และไม่ว่าจะเป็นควันจากการสูบเอง หรือควันมือสองก็ตาม

พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้สถานการณ์บริโภคยาสูบดูเหมือนจะลดลง แต่ในประเด็นของผู้หญิงและเด็ก ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก โดยเฉพาะเด็กซึ่งมีโอกาสรับควันยาสูบโดยตรงจากในบ้านที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้เสพติดยาสูบ

“จะเป็นบุหรี่หรือยาเส้น ก็มีพิษภัยเหมือนกัน มีสารก่อมะเร็งเท่ากัน และควันยาสูบมือสองก็ก่อพิษเท่ากันกับทุกคนที่รับควัน หากมีคนสูบอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะเด็กจะเป็นกลุ่มที่รับพิษภัยจากควันยาสูบไปเต็มๆ มีผลวิจัยมากมายที่ระบุชัดเจนว่าเด็กที่รับควันมือสองมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคปอด มีการติดเชื้อในหูชั้นกลาง เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากในครอบครัวมีหญิงตั้งครรภ์ พิษจากควันมือสองจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกในท้อง มีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และหากคลอดออกมาแล้วลูกจะน้ำหนักตัวน้อย ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ” แพทย์หญิงปานทิพย์กล่าว

Advertisement
พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า มาตรการภาษีบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) ของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราจำนวนผู้สูบของไทยลดลงค่อนข้างช้า เพราะสัดส่วนผู้สูบยาเส้นมีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคยาสูบและอยู่ในอัตรานี้มาตลอดตั้งแต่มีการสำรวจกันมา

“คงจะดีกว่านี้ ถ้ารัฐบาลขึ้นภาษียาเส้นให้ราคาสูงขึ้นใกล้กับบุหรี่ จะช่วยให้การรณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้บริโภคสูบได้ผลมากขึ้น” ดร.ทพญ.ศิริวรรณกล่าว และว่า ปัจจุบันอัตราภาษีบุหรี่โรงงานอยู่ที่ 1.2 บาทต่อมวน ราคาบุหรี่ต่อซองราคาต่ำสุดอยู่ที่ซองละ 60 บาท ส่วนภาษีบุหรี่มวนเองหรือยาเส้น 0.005 บาทต่อกรัม (เทียบบุหรี่ 1 มวน = 1 กรัม) บุหรี่มวนเองจึงสามารถขายอยู่ในช่วงราคา 10-20 บาทต่อซองได้

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้มาตรการทั้งด้านสังคมและมาตรการภาษีเพื่อลดการบริโภคยาสูบ ซึ่งวันนี้มีความชัดเจนแล้วว่ามาตรการสังคมที่ทุกฝ่ายร่วมรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่มีผลต่อการลด ละ เลิก การบริโภคยาสูบได้ แต่มาตรการภาษีที่รัฐใช้มาโดยตลอดยังมีผลอยู่ที่บุหรี่โรงงานเป็นหลักเท่านั้น ในเมื่อครึ่งหนึ่งของนักสูบไทยนิยมสูบบุหรี่มวนเอง แล้วแบบนี้หน่วยงานรณรงค์ต่างๆ ของประเทศไทยรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขจะพูดได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบ

“จึงอยากวิงวอนกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังร่วมมือร่วมใจกันให้ขึ้นภาษีบุหรี่มวนเอง ซึ่งไม่เพียงจะลดผลกระทบทางตรงจากการสูบเท่านั้น แต่ยังลดผลกระทบทางอ้อมจากควันบุหรี่มือสองที่ผู้หญิงและเด็กมักต้องเป็นผู้รับเคราะห์”

“ถือเป็นการปกป้องชีวิตและสุขภาพคนไทยกว่า 15 ล้านคน” ดร.ทพญ.ศิริวรรณทิ้งท้าย

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image