อาศัย ‘ช่องโหว่กฎหมาย’ เปิดธุรกิจ ‘แต่งงานกับเด็ก’ การันตี! ทำไม่ได้ ‘ยินดีคืนเงิน’

เป็นเรื่องราวระหว่างประเทศที่กำลังถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ กับกรณีชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งหลายคนมองว่าไม่เหมาะสม บางส่วนพยายามค้นหาสาเหตุว่าเป็นเพราะหลักศาสนาที่กำหนด หรือวิถีปฏิบัติของชาวท้องถิ่น กระทั่งกฎระเบียบของประเทศ มีความบกพร่องต่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้หญิง ซึ่งถูกนำมาขบคิดในงานเสวนา “การแต่งงานกับเด็ก : จุดยืนทางศาสนา ช่องว่างทางกฎหมายกับสิทธิของเด็กหญิง” จัดโดยมูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ณ โรงแรมวิคทรี ถนนพหลโยธิน และงานเสวนา “การแต่งงานของผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ

การเสวนาปูพื้นความเข้าใจถึง 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล ที่มีการยกเว้นใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนครอบครัวและมรดก อาทิ การสมรสต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แทนที่ด้วยกฎหมายอิสลามฯ พ.ศ.2489 ซึ่งไม่ได้ระบุอายุการสมรสหรือ “นิกะห์” ตายตัว แต่ให้ “ดะโต๊ะยุติธรรม” หรือผู้พิพากษาในกฎหมายอิสลาม พิจารณาจากสภาพร่างกายที่มีการเคลื่อนของน้ำอสุจิ และการมีประจำเดือน ก็สามารถทำการนิกะห์ได้

เด็กหญิงแต่งงานเป็นเรื่องปกติ

นางสาวตัสนิม เจ๊ะตู จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ซึ่งทำงานต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า การแต่งงานของเด็กหญิงถือเป็นเรื่องปกติของคนในพื้นที่ เพราะเราเชื่อตามหลักศาสนาที่ว่า เมื่อมีประจำเดือนแล้วก็สามารถแต่งงานได้ ขณะที่การพูดคุยกับแม่ของเด็กผู้หญิง ส่วนใหญ่ยังบอกว่าหากลูกเรียนจบชั้น ป.6 แล้วมีใครมาสู่ขอ ก็จะให้ลูกสาวแต่งงานเลย ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าหากไม่จับแต่งงานก่อน ลูกอาจไปมั่วสุมยาเสพติด แอบมีเพศสัมพันธ์ ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ท้องไม่พร้อม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในพื้นที่ อีกส่วนเพราะเห็นว่าเด็กมีความสัมพันธ์มาก่อน และบางครอบครัวก็จับลูกแต่งงานกับผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีเศรษฐสถานะเหนือกว่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่ยากจนและไร้การศึกษา ทั้งนี้ ผลที่พบจากการแต่งงานในวัยเด็ก คือส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคู่ไปไม่รอด และต้องหย่าร้างในที่สุด

Advertisement
ตัสนิม เจ๊ะตู

ธุรกิจแต่งงานหาเมียเด็ก-เมียคนที่ 2, 3

นายเอกราช ซาบูร์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติภาพศึกษานานาชาติ เครือข่ายมุสลิมเอเชีย กล่าวว่า กรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายไทย ที่คนมาเลเซียนิยมหาช่องว่างทางกฎหมาย ข้ามมาแต่งงานภรรยามากกว่าหนึ่งคน แต่งงานกับภรรยาอายุน้อย เพราะการแต่งงานในมาเลเซียมีกฎหมายคุ้มครองเด็กและผู้หญิงชัดเจน อาทิ ผู้หญิงจะแต่งงานได้ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผู้ที่จะขอแต่งงานกับภรรยาคนที่ 2, 3 ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ซึ่งศาลพิจารณาตามคุณสมบัติ ตั้งแต่ภรรยาคนที่ 1 ต้องรับทราบและยินยอม ต้องผ่านการประเมินศักยภาพทางการเงินและพฤติกรรมว่าไม่เคยละเมิดผู้หญิงและสามารถดูแลผู้หญิงได้ รวมถึงผู้หญิงที่จะแต่งงานเองจะต้องยินยอมด้วย เหล่านี้ทำให้การแต่งงานในมาเลเซียยากมาก กระทั่งอดีตประธานศาลสูงสุดของมาเลเซียที่รู้กฎหมายดีที่สุด ก็ยังข้ามฝั่งมาแต่งงานภรรยาคนที่ 2, 3 ในไทย

“ช่องว่างของการแต่งงานตามศาสนานี้ ได้รับความนิยมจนถึงขั้นทำเป็นธุรกิจ มีประกาศผ่านเว็บไซต์ในมาเลเซีย อีกทั้งการันตีว่าหากทำไม่ได้ยินดีคืนเงิน โดยพบว่าต่อวันมีหลายร้อยเคสที่เข้ามาแต่งงานในไทย มูลค่าของธุรกิจก็น่าจะมหาศาลเช่นกัน ตรงนี้เองยังทำให้เกิดปัญหาค้ามนุษย์ที่มีขบวนการนำเด็กผู้หญิงลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยข้ามไปมาเลเซีย เพื่อถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ โดยอ้างช่องว่างของการแต่งงานตามศาสนา”

Advertisement

เอกราชเป็นห่วงผู้หญิงและลูกที่เกิดจากการแต่งงานในไทยจะไม่ถูกรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมายมาเลเซีย ฉะนั้นหากผู้ชายมาเลย์จะทิ้งภรรยาและลูกที่สมรสนอกกฎหมาย ก็สามารถทำได้ง่ายๆ และจากกรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี ทำให้เกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ไทยดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มข้นเท่ากัน รวมถึงประสานข้อมูลระหว่างกันอย่างรวดเร็วที่สุด

เอกราช ซาบูร์

จ่อคลอดระเบียบปกป้องเด็ก-ผู้หญิง

นายวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการรับทราบข้อมูลกรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี พบว่าครอบครัวของเด็กหญิงมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราให้กับเจ้าของผู้ชายชาวมาเลเซีย จากนั้นก็ให้ลูกแต่งงานกับเจ้าของสวน ซึ่งอาจเป็นการแต่งงานเพื่อยกฐานะครอบครัว ถือว่าไม่เหมาะสมทางศาสนา แต่ทราบว่าได้ผ่านพิธีนิกะห์ไปแล้วโดยอิหม่ามในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการอิสลามจังหวัดไม่ได้รับทราบและรับรอง ฉะนั้นจึงจะมีมาตรการป้องกันจากนี้ว่า หากพ่อแม่จะให้ลูกที่อายุไม่เกิน 17 ปีเข้าพิธีนิกะห์ ต้องเสนอมายังคณะกรรมการอิสลามจังหวัดก่อน จะไม่ผ่านอิหม่ามอีกต่อไป

“ขณะนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ประสานสํานักจุฬาราชมนตรี เตรียมออกระเบียบที่เหมาะสมใช้กับอิสลามทั่วประเทศเร็วๆ นี้ ในการคุ้มครองเด็กและผู้หญิง เช่น การมีผู้หญิงในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เบื้องต้นในการจัดทำระเบียบดังกล่าวจะต้องรับฟังเสียงจากผู้หญิงและผู้เสียหายด้วย”

วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ

ปลุกพลังสตรีเรียกร้องสิทธิ

ในงานเสวนายังมีนักสิทธิเด็ก นักสิทธิสตรีมาแสดงความคิดเห็น อย่าง นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่มองการสมรสไม่ได้มีเพียงมิติการมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีมิติการสร้างครอบครัว การถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ซึ่งวัยเด็กยังไม่มีทักษะเหล่านี้เพียงพอ ยิ่งทักษะการเป็นสามีภรรยา เป็นพ่อแม่ยิ่งไม่มี ส่วน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็มองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงความยุติธรรม ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืนแล้วถูกจับให้แต่งงานกับผู้กระทำ ตรงนี้เป็นความทุกข์ทรมานใจพวกเธอมาก เมื่อเวลาผ่านไปพวกเธอยังถูกบอกเลิกและต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ฉะนั้นอยากให้ผู้นำทางศาสนาปกป้องสิทธิเด็กและผู้หญิงด้วยการไม่บังคับแต่งงาน ต้องเอาผิดผู้กระทำการข่มขืนตามกฎหมายอาญา ส่วนผู้หญิงควรกล้าที่จะตั้งคำถามถึงความไม่ยุติธรรม กล้าออกมาเรียกร้องให้มีระเบียบหรือกฎหมายที่จะมาปกป้องเด็กและผู้หญิงในพื้นที่

อย่างไรก็ดี จากการเสวนาดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาจัดทำเป็นข้อเสนอปรับแก้กฎหมาย ได้แก่ ปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 277 วรรค 5 ที่ให้อำนาจศาลพิจารณาให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีสมรสกับผู้กระทำอายุไม่เกิน 18 ปีได้ หากรับผิดชอบและไม่ต้องรับโทษ, มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ให้เป็น 18 ปีบริบูรณ์ตามสากล

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์
อังคณา นีละไพจิตร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image