‘สังคมก้มหน้า’ ระเบิดเวลา พรากครอบครัว กลายเป็น ‘มนุษย์ต่างดาว’ ระหว่างกัน

“ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่แต่ละคนต้องทำมาหากิน มีเวลาดูแลคนในครอบครัวน้อยลง ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาวะครอบครัวที่ต้องแยกกันอยู่ ขึ้นมาเป็นที่รับรู้ของคนไทยจำนวนหนึ่ง จากที่ลูกๆ เคยได้ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ ก็ถูกส่งให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู แม้แต่ครอบครัวแบบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือ ครอบครัวที่พ่อแม่แยกกันอยู่เพราะหน้าที่การงาน แม้จะยังไม่ได้หย่ากัน เด็กอาจอยู่กับพ่อหรืออยู่กับแม่ ทำให้เกิดความห่างเหินกันในครอบครัว”

จากข้อมูลของ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดูจะฉายภาพของสังคมไทยในยุค 4.0 ที่ทุกอย่างเร่งรัดได้อย่างชัดเจน แต่สภาพสังคมในยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ความเหินห่างในครอบครัวเท่านั้น

เพราะ “เทคโนโลยี” และ “โซเชียลมีเดีย” ได้ก้าวขึ้นมามีผลต่อชีวิตคนในโลกเป็นอย่างมาก

ในโอกาส 40 ปี มูลนิธิเด็ก มูลนิธิจึงได้จัดงานขึ้นพร้อมเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญมาถกปัญหาเรื่องเด็ก หาคำตอบและทางแก้ไขให้กับเขาเหล่านี้

Advertisement

เริ่มต้นจากปัญหาความเหินห่างของครอบครัวไปแล้ว ผศ.ดร.ภูเบศร์เผยว่า นอกจากจะมีความห่างเพราะแยกกันอยู่ ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สังคมกำลังเผชิญคือ ทุกคนอยู่ด้วยกัน แต่เพิกเฉยกัน เพราะอิทธิพลของการใช้มือถือ อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์

โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าปี 2560 ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้มือถือ ร้อยละ 88.2 โดยกลุ่มอายุ 6-14 ปี ใช้ 60% 15-24 ปี ใช้ 80% 25-34 ปีใช้ 60% แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เด็กที่ติดโซเชียล แต่ทุกคนในครอบครัวก็ใช้ ภาพเด็กวิ่งเล่นในร้านอาหารขณะที่พ่อแม่เล่นมือถือเห็นได้ง่ายขึ้น ซึ่งนี่เป็นอันตราย

Advertisement

จากการศึกษาพบด้วยว่า วัยรุ่นติดสมาร์ทโฟนเฉลี่ยวันละ 10-15 ชั่วโมง และมีเด็กติดเกมส์ 10-15% ทั่วประเทศ เฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมง ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 พบผู้ป่วยที่เสพติดเกมในระดับปานกลางถึงรุนแรงจนต้องเข้ารับการบำบัดถึง 53 คน เพิ่มสูงขึ้น 1.5 เท่าในรอบ 3 ปี

“นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพแล้ว มือถือทำให้ภัยต่างๆ ที่เคยเข้าถึงตัวเด็กได้ยาก เข้ามาง่ายขึ้น ทั้งการล่อลวงทางเพศ เรื่องความรุนแรง การเหยียดทางเพศ ยิ่งอุปกรณ์เหล่านี้ดูดให้เด็กมีสมาธิมาก พ่อแม่ก็ชอบให้เด็กเล่นจะได้ไม่งอแง ทำให้เรื่องพวกนี้แทรกซึมสู่เด็กในช่วงที่เขามีสมาธิมาก เมื่อไม่ได้รับการสอน เด็กก็คิดว่าเรื่องนี้ไปทำกับเพื่อนได้ มีอิทธิพลต่อเด็กเมื่อโตขึ้นอีก”

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

แต่ใช่ว่า “โซเชียลมีเดีย” ไร้ข้อดี ผศ.ดร.ภูเบศร์เผยว่า นอกจากข้อดีในการเข้าถึงข้อมูล หรือความรวดเร็วต่างๆ แล้ว เราพบว่าโซเชียลมีเดียทำให้สมาชิกในครอบครัวเข้าถึงกันง่ายขึ้น กระชับความสัมพันธ์ ยิ่งกับไลน์กรุ๊ปครอบครัว ถือเป็นการดึงห้องนั่งเล่นในบ้านให้กลับมาอีกครั้ง แต่ปัญหาคือแต่ละช่วงวัยมีวิธีการสื่อสารที่ต่างกัน ผู้สูงอายุอาจรู้สึกน้อยใจเมื่อส่งสติ๊กเกอร์ หรือรูปสวัสดีวันต่างๆ แล้วไม่มีคนตอบ ขณะที่วัยรุ่นก็รู้สึกว่าวิธีการพูดแบบนี้ไม่สนุก ทำให้คนอาจต้องกลับมามองเห็นใจเขาใจเราบ้าง

มากไปกว่าปัญหาเหล่านี้ วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก เผยว่า สังคมก้มหน้าทำให้เราเสียโอกาสหลายเรื่อง ทั้งการศึกษาและพัฒนาการ รวมไปถึงภัยแฝงที่มาจากโซเชียลมีเดีย อย่างการชวนไปทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม การล่อลวงให้เด็กโชว์เรือนร่างผ่านแชต ไปจนถึงการนัดเจอ และการล่วงละเมิดทางเพศ ที่สุดแล้วคืออาจถูกหลอกให้เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ยิ่งเด็กรู้สึกว่าคนที่คุยด้วยให้ความรักมากกว่าคนในครอบครัว ยิ่งหลงเชื่อได้โดยง่าย มูลนิธิเองเคยพบกับเด็กที่ท้องก่อนวัยอันควร อายุเพียงแค่ 9 ขวบ คำถามคือจะทำอย่างไรให้คนที่แวดล้อมเด็ก มีความรู้ ความเข้าใจ และเป็นแบบอย่าง เพราะเด็กทั้งหลายเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ

วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก

ขณะที่ หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เผยว่า หลังจากเปิดเฟซบุ๊กให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก ก็พบว่าพ่อแม่มักอินบ็อกซ์มาถามวิธีการดูแลลูก เมื่อลูกดื้อ หรือไม่เชื่อฟัง ซึ่งเมื่อซักถามต่อไปก็พบว่าเกือบทั้งหมดเกิดจากปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวที่หายไป บางครอบครัวต้องส่งลูกให้ปู่ย่าเลี้ยง กว่าจะกลับมาหาพ่อแม่ก็เมื่อ 5 ขวบ เด็กห่างจากพ่อแม่ไป ทำให้ลูกรู้สึกไม่สนิท หรือสังคมก้มหน้า

พ่อแม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาก ส่งผลให้ลูกก็เล่นเช่นกัน เพราะเด็กเรียนรู้ผ่านกระบวนการเลียนแบบพฤติกรรม จนเรากลายเป็นมนุษย์ต่างดาวระหว่างกัน นั่นทำให้ขาดการสื่อสารด้านอวัจนภาษา แววตา ท่าทาง ซึ่งทำให้เด็กขาดการเรียนรู้เรื่องการเอื้อเฟื้อ หรือเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ไป นอกจากนั้น ยังทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าเสมือน พูดช้าได้

หมอมิน-พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา

หมอมินจึงแนะนำว่า อย่ารอให้ลูกเกิดปัญหาจนต้องมารักษา แต่ควรใช้เวลากับลูกให้มาก เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกตั้งแต่แรก ป้องกันปัญหาที่จะเกิดเหล่านี้ ก่อนที่สายเกินไปแล้วต้องบำบัด เพราะสัมพันธภาพในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ

ร่วมสร้างสังคมใหม่เพื่อเด็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image