จะเฮเก้อหรือเปล่า? ผู้หญิงกับบทบาทหัวหน้าสถานีตำรวจ

จะบอกว่าเฮเก้อก็ยังไม่ชัดเสียทีเดียวกับกรณีแต่งตั้งตำรวจหญิงเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจ ซึ่งจุดพลุโดย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่จะนำร่องนโยบายผู้กำกับหญิงในสถานีตำรวจนครบาล เริ่มในโรงพักเล็ก พื้นที่น้ำมากกว่าบนบก

ทว่าทำท่าล่มเสียแล้ว เพราะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ออกมาเบรกด้วยประโยคว่า “เรื่องนี้ยังไม่สามารถทำได้ในเร็วๆ นี้ ต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย รวมถึงสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันด้วย ขอยืนยันจะไม่ตัดสิทธิใครและจะพิจารณาตามความเหมาะสม ทุกอย่างมีความเป็นไปได้และไม่ได้ทั้งนั้น”

เป็นเหตุให้ต้องมีเวทีเสวนา “ประเทศไทยพร้อมให้ผู้หญิงเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจหรือไม่?” จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนหญิง แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

S__15499345

Advertisement

นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ประเทศไทยต้องพร้อมมีผู้กำกับหญิง เพราะที่ผ่านมาได้ไปลงนามรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2528 และอีกหลายๆ รัฐภาคีที่เราไปลงนามไว้ ทั้งนี้ ต้องบอกว่าพนักงานสอบสวนหญิงมีความสามารถ ยิ่งรุ่นแรกๆ พวกเธอจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ บางคนจบปริญญาโท สอบเนติบัณฑิตมาแล้ว ขณะที่งานผู้กำกับเป็นงานบริหาร สามารถสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติได้ บางเรื่องไม่จำเป็นต้องลงไปปฏิบัติเอง และไม่ต้องไปจับโจรเองอย่างที่ใครเป็นห่วง

“จากการลงพื้นที่ทำงานและพูดคุยกับพนักงานสอบสวนทั้งหญิงและชาย ทุกคนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานทุกมิติ ตำรวจหญิงสามารถทำหน้าที่คุ้มครองอำนวยความยุติธรรมและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เท่ากับตำรวจชาย และกว่า 20 ปีที่ทำงานกับพนักงานสอบสวนหญิงที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 3 คนมีแต่ส่วนดี” นางสาวสุเพ็ญศรีกล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า หลายๆ คดีพนักงานสอบสวนหญิงได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ คดียาก คดีลุยแบบผู้ชาย พวกเธอก็สามารถทำได้จนได้เลื่อนยศเป็น “พ.ต.อ.” ฉะนั้นข้ออ้างเรื่องสรีระว่าผู้หญิงจะมาเป็นผู้กำกับสถานีเป็นเพียงข้ออ้างที่มีอคติมากกว่า ก็อยากให้ ผบ.ตร.เปิดใจยอมรับ

Advertisement

“อยากให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทน ผบ.ตำรวจนครบาล ยืนหยัดนโยบาย พวกเราเครือข่ายประชาสังคมพร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ขณะที่ ผบ.ตร.เองต้องแก้ปัญหาตรงนี้ อย่าให้ตนเองเป็นอุปสรรค เพราะหากมีการเรียกร้องจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต ก็จะเป็นเรื่องไม่ดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ นานาประเทศอาจตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีไทยที่เคยไปพูดในเวทีสากลว่า สถานภาพผู้หญิงไทยดีขึ้นตามลำดับแล้ว ก็ไม่อยากให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่” นายจะเด็จกล่าว

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชน กสม. กล่าวว่า เพราะตำรวจบ้านเราไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ จึงทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้พิจารณาจากความเหมาะสมและมาตรฐาน แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่คอยสั่งให้ลูกน้องทำตาม ทั้งนี้ ภารกิจวิชาชีพตำรวจในต่างประเทศ งานป้องกันและปราบปรามเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสามารถลดปัญญาอาชญากรรมได้

แต่เราไม่ให้ความสำคัญ ทั้งยังให้ความดีความชอบหากทำยอดจับในคดีอาชญากรรมได้มากๆ ทั้งนี้มองว่าตำรวจหญิงสามารถขึ้นเป็นผู้กำกับได้ โดยเฉพาะงานป้องกันที่พวกเธอจะทำได้ดี ส่วนงานอื่นๆ พวกเธอไม่จำเป็นต้องไปทำเอง สามารถประชุมแผนที่สถานีได้ สั่งการผ่านวิทยุสื่อสารให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้

ภายในงานยังหยิบยกกลไก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งระบุครอบคลุมถึงหน่วยงานรัฐไม่ให้เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากผลการพิจารณาแต่งตั้งมีการเลือกปฏิบัติ

ต้องติดตามว่าสุดท้ายผู้รักษากฎหมาย จะทำลายกฎหมายเสียเอง เพียงเพราะอคติแห่งเพศหรือไม่

lad01210459p2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image