คุยเรื่อง ‘เพศศึกษา’ ตามประสาพ่อ-แม่-ลูก

เพราะเชื่อว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ตั้งครรภ์วัยรุ่น ละเมิดทางเพศ ใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากการไม่พูดเรื่องเพศให้เข้าใจ โดยเฉพาะกับวัยอยากรู้อยากลอง จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีหลักสูตรการศึกษาเรื่องเพศที่ครอบคลุม (Comprehensive Sexuality Education : CSE) ขององค์การยูเนสโก แบงคอก ส่วนหนึ่งยังถูกนำมาจัดแสดงผ่านนิทรรศการ CSE : A Foundation of Life and Love ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

ภายในงานได้ครอบครัวตัวอย่างที่กล้าพูดเรื่องเพศมาเสวนาแชร์ประสบการณ์ อย่าง “ครอบครัวเอี่ยมฉ่ำ” ซึ่งมีสมาชิก พ่อ แม่ พี่สาว และน้องชาย ที่ต่างเชื่อว่า

“ควรมีการเริ่มพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เพราะคิดว่ามันมีประโยชน์มาก แต่ส่วนใหญ่ครอบครัวไทยกลับไม่พูดถึงเรื่องเพศศึกษามากนัก เพราะมองเป็นเรื่องน่าอับอาย”

Advertisement

นายมนตรี เอี่ยมฉ่ำ พร้อมด้วยภรรยา นางปริยา กล่าวร่วมกันว่า ปัจจุบันเรื่องเพศศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะเมื่อเด็กรู้และเข้าใจ เขาจะสามารถเลือกใช้ชีวิตอย่างไม่มีปัญหา ขณะที่การพูดคุยเรื่องเพศศึกษาในครอบครัวของตน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครอบครัวหนึ่งที่รู้จัก เขาไม่พูดคุยไม่สอนให้รู้จักเรื่องเพศกับลูกเลย ปรากฏว่าวันหนึ่งลูกสาวเขาตั้งครรภ์ และต้องหยุดเรียนไป ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ควรมีการพูดคุยกันในครอบครัว

“ในครอบครัวจะพูดคุยเรื่องเพศเป็นปกติ อย่างเวลาดูโทรทัศน์ด้วยกันแล้วมีฉากวาบหวิว ดิฉันก็จะถามลูกสาวว่า เป็นอย่างไร คิดว่าเหมาะสมไหม แต่ไม่ได้ลงลึกอะไรมาก ทั้งนี้ คิดว่าหากทุกครอบครัวใส่ใจเรื่องนี้ ก็คงไม่มีปัญหาท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาสังคมต่างๆ” นางปริยากล่าว

ขณะที่ลูกสาว ด.ญ.ภคพร อายุ 14 ปี กล่าวว่า การพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัวไม่ใช่เรื่องน่าอับอายอย่างที่คิด อย่างครั้งหนึ่งที่เธอเริ่มมีประจำเดือน ก็ไม่รู้ว่านี่คืออะไร แม่ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ พร้อมวิธีจัดการต่างๆ ฉะนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจมากขึ้น

Advertisement
ครอบครัวเอี่ยมฉ่ำ

ด้านนายธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการเพศวิถีศึกษา มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า คนจะเข้าใจว่าการพูดคุยเรื่องเพศศึกษาคือการพูดคุยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ เพศศึกษามีมิติให้เรียนรู้มากกว่านั้น ตั้งแต่รู้ว่าเราเกิดมาอย่างไร จากความรักของพ่อแม่หรือกระบอกไม้ไผ่ เราจะทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพื่อรู้คุณค่าของตนเอง รวมถึงแตะเนื้อต้องตัวคนรอบข้างได้ไหม แตะเนื้อต้องตัวอย่างไรถือว่าละเมิด เพื่อรู้จักการเคารพสิทธิผู้อื่น ตลอดจนเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอนกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา อาจจะอยู่ในวิชาสุขศึกษาหรือแยกเป็นรายวิชาต่างหากก็ได้ แต่ต้องสอนให้เข้าใจเรื่องเพศศึกษาครบทุกมิติ

“ปัจจุบันแม้เราจะมี พ.ร.บ.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปี พ.ศ.2559 ที่ระบุให้โรงเรียนสอนเพศศึกษาแก่นักเรียน แต่โรงเรียนก็ยังคงสอนแบบจดบันทึกเรื่องร่างกาย ทำให้เด็กไม่เข้าใจและไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง” นายธวัชชัยกล่าวทิ้งท้าย

ธวัชชัย พาชื่น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image