เปิดความจริงคนไทย “ยิ่งแก่ยิ่งจน”

ทุกประเทศทั่วโลกตอนนี้กำลังเผชิญสถานการณ์สังคมสูงวัย ซึ่งจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเมื่อเวลาผ่านไป ในส่วนประเทศไทยก็เผชิญสถานการณ์นี้เช่นกัน แต่แตกต่าง เพราะเป็นสังคมสูงวัยที่ “แก่ก่อนรวย” ไม่ใช่ “รวยก่อนแก่” เหมือนอารยประเทศ มิหนำซ้ำยังพบว่าผู้สูงอายุไทย “ยิ่งแก่ก็ยิ่งจน” เรื่องนี้ นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์จะมาให้คำตอบและทางออก

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถานการณ์สังคมสูงวัยมักเกิดขึ้นก่อนในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนกันตั้งแต่ปี 2543 จากความสำเร็จของการคุมกำเนิดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่เรายังไม่เข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้ต่อหัวประชากรของเรากับเขาจึงแตกต่างกันมาก ซึ่งเขาเมื่อประชากรมีรายได้สูงก็สามารถจ่ายภาษีได้มาก รัฐก็สามารถนำงบประมาณมาจัดสรรสวัสดิการได้ครอบคลุมเพียงพอ แต่ของเราที่เศรษฐกิจไม่ค่อยพัฒนา ไม่สามารถจัดสวัสดิการอย่างนั้นได้ อีกทั้งมีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา คุณภาพคน อย่างผู้สูงอายุตอนนี้ที่สมัยก่อนเรียนมาไม่สูง ส่วนใหญ่ต้องเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีเงินเหลือเก็บ ไม่มีเงินออมระบบบำนาญ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนแก่ก่อนรวย มิหนำซ้ำหลายคนยังต้องเสียเงินจำนวนมากกับการรักษาพยาบาลในบั้นปลายชีวิต ทำให้ยิ่งแก่ยิ่งจน

“หากดูยอดผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ จะพบว่า 1 ใน 3 ของผู้รับสวัสดิการคือ ผู้สูงอายุ ยิ่งเมื่อลงลึกไปดูในรายละเอียด จะพบผู้สูงอายุที่รับสวัสดิการว่า ร้อยละ 40 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 30,000 ต่อปี ซึ่งถือเป็นสถานการณ์น่าห่วง เพราะขณะนี้เราจะมีสัดส่วนคนสูงวัยร้อยละ 17-18 ต่อประชากรทั่วไป แต่ในปี 2574 จะขยับสัดส่วนขึ้นไปร้อยละ 28 ตามประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไปติดๆ แต่คุณภาพคนเรายังไม่ได้”

หลายคนคาดหวังว่าเมื่อแก่ชราแล้วจะมีลูกหลานกลับมาดูแล อาจารย์วิพรรณบอกว่า คิดอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะอัตราการเกิดลดลง อัตราคนวัยทำงานในอนาคตก็จะลดลงเช่นกัน โดยปัจจุบันมีสัดส่วนคนทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอนาคตจะเหลือคนทำงาน 2 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แล้วลูกหลานจะไหวไหม

Advertisement

รศ.วิพรรณกล่าวถึงข้อเสนอว่า สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนตอนนี้เลยคือ ให้ผู้สูงอายุได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นงานที่เหมาะสมกับสมรรถภาพร่างกาย หรือเป็นงานใหม่ที่นำผู้สูงอายุมาฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพก่อนก็ได้ ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมการทำงานก็ต้องเป็นมิตร ตั้งแต่เส้นทางไปทำงาน สถานที่ทำงาน ซึ่งรัฐและเอกชนต้องไปออกแบบระบบที่เอื้อ ไม่ว่าจะการปลดล็อกกฎระเบียบกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุ รัฐขันนอตการทำงานบูรณาการของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ภายใต้เป้าหมายสังคมสูงวัยเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนภาคเอกชนที่จะต้องมีระบบเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงอายุให้พนักงาน เพราะลำพังแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจไม่เพียงพอกับการมีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป รวมถึงการมีสถานดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ที่จะทำให้ผู้หญิงไม่ต้องรับภาระหนัก หรือตัดสินใจลาออกมาดูแล ตลอดจนเพิ่มรูปแบบการทำงานที่เน้นผลงานมากกว่าเวลาทำงานในออฟฟิศ เพื่อความยืดหยุ่นการทำงานที่เหมาะสมกับการดูแลครอบครัว

“อยากฝากไปยังคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้เริ่มดูแลสุขภาพตนเอง ทำอย่างไรที่ชุดความรู้ต่างๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่ดี เพื่อชีวิตห่างไกลจากโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงเริ่มจัดการวางแผนเพื่อเก็บออมเงิน ซึ่งสำคัญมาก หากไม่เริ่มทำตอนนี้ก็ไม่ทัน รวมถึงฝากเตือนคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นเจ้านายตัวเอง แล้วตัดสินใจลาออกจากงานประจำเร็วขึ้น ให้เปลี่ยนเป็นทำงานให้ยาวนานขึ้น เพราะมีบทเรียนหลายคนที่ออกไปทำธุรกิจหรือเล่นหุ้นแล้วเจ๊ง สุดท้ายชีวิตแย่”

ส่วนข้อเสนอการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได 600-1,000 บาทในปัจจุบัน เป็น 3,000 บาทแบบหน้ากระดาน รศ.วิพรรณมองว่า ในส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีโรค น่าจะพออยู่ได้เมื่อรวมกับเบี้ยคนจน แต่ในส่วนผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ต่อให้รวมเงินช่วยจาก สปสช.จำนวน 5,000 บาทต่อปี ก็ไม่เพียงพอแน่นอน และหากทำอย่างนั้นก็แสดงว่ารัฐต้องจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหม แล้วรัฐจะไหวหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กองทุนประกันสังคมก็น่าห่วง เพราะต่อไปคนเกษียณจะมากกว่าคนทำงาน ระบบอาจไปไม่รอด จึงเป็นที่มาของหลากแนวคิดในปัจจุบัน ตั้งแต่แนวคิดการมีระบบบำนาญแห่งชาติที่หลากหลายเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุ อาทิ การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ การเอาบ้านของผู้สูงอายุมาแปรสภาพเป็นเงินใช้ในช่วงบั้นปลาย

Advertisement

“จริงๆ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเป็นมรดกล้ำค่าไว้ให้ หากคนไทยน้อมนำมาปรับใช้ปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดการเงิน ใช้จ่ายแต่พอประมาณ ดูแลสุขภาพ เราก็สามารถอยู่ในสังคมสูงวัยได้” รศ.วิพรรณกล่าวทิ้งท้าย

 

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image