เรื่องทางเพศและเพศทางเลือกที่ซับซ้อน

ในยุคหนึ่งเราให้คำนิยามเรื่องทางเพศของมนุษย์ด้วยเพศหญิงและเพศชายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด รสนิยมทางเพศแบบชอบต่างเพศ เพศเดียวกัน หรือทั้งสองเพศ และความต้องการแสดงออกทางการแต่งตัวหรือการดำเนินชีวิตที่อาจไม่ตรงกับเพศตัวเอง แต่นับวันเรื่องทางเพศเหล่านี้ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้เราต้องใส่ใจในรายละเอียดโดยไม่ทึกทักไปเองเสียก่อนค่ะ

นักศึกษาชายท่านหนึ่งซึ่งมาปรึกษาเรื่องความเครียดจากการเรียนและอาการดีขึ้นมากแล้ว อยู่มาวันหนึ่งหลังจากหายหน้าไปนานก็กลับมาปรึกษาอีกครั้ง ครั้งนี้ด้วยเรื่องปัญหากับแฟนค่ะ โดยสรุปคือมีปัญหากับแฟนเนื่องจากเป็นผู้หญิงจู้จี้ พอเลิกกันไปแล้วก็กำลังพูดคุยกับสาวคนใหม่

แต่เรื่องที่ทำให้หนักใจก็คือมีเพื่อนผู้ชายอีกคนหนึ่งที่สนิทสนมพร้อมๆ กันและเขาก็รู้สึกว่าชอบเพื่อนผู้ชายมากกว่าเสียด้วย ในที่สุดจึงรู้ว่าตัวเองไม่ได้รังเกียจผู้หญิงแต่เปรียบเทียบแล้วชอบผู้ชายมากกว่า คราวนี้ก็ไม่ทราบจะบอกพ่อแม่อย่างไรดีค่ะ เพราะเป็นลูกชายคนเดียวแถมหน้าตาท่าทางทุกอย่างก็ชายแท้ ไม่ได้ตั้งใจปิดบังพ่อแม่แต่เขาเองก็เพิ่งรู้ตัวไม่นานนี้ กรณีนี้ก็พบได้ไม่น้อยแต่โชคดีที่เข้าใจตัวเองได้ก่อนจะแต่งงานกับผู้หญิงแล้วบอกภรรยาภายหลังว่าชอบผู้ชายมากกว่า แบบนั้นอาจจะทุกข์ด้วยกันทุกฝ่ายค่ะ

อีกกรณีหนึ่งเป็นนักศึกษาที่มีเพศติดตัวแต่กำเนิดเป็นชายแต่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่จำความได้ ถ้าไม่นับที่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนก็ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงมาตลอด ตอนเข้ามหาวิทยาลัยจึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยซึ่งอนุญาตให้แต่งชุดข้ามเพศได้ วันนี้เธอเรียนจบแล้วและต้องการแต่งชุดรับปริญญาแบบผู้หญิงค่ะ

Advertisement

“หนูชอบผู้ชายแท้ๆ ค่ะ ไม่ชอบเกย์หรือทอม ก็เคยมีมาจีบนะคะแต่หนูคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงก็เลยชอบผู้ชายแท้ๆ มากกว่า หนูจะทำงานเก็บเงินจะได้ผ่าตัดแปลงเพศแต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้ลำบากอะไร อยากรีบเรียนจบมีงานทำจะได้ดูแลพ่อแม่ได้มากกว่าค่ะ เรื่องความรักเอาไว้ทีหลัง”

เธอเล่าด้วยความภูมิใจค่ะ ถือว่าเป็นการเปิดโลกทรรศน์ในด้านเพศให้มากเลยทีเดียว

Advertisement

เรื่องเพศในทางสังคมว่าซับซ้อนแล้ว เรื่องเพศในทางจิตวิทยายิ่งซับซ้อนกว่าจนอาจจะทำความเข้าใจไม่ได้เลยทีเดียวค่ะ “Seven Days” ภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2 ภาคจบซึ่งดัดแปลงจากการ์ตูนชื่อเดียวกันของ Venio Tachibana และ Rihito Takarai ใส่ความโรแมนติกเข้าไปในการเติบโตของชายหนุ่มสองคนที่มีแนวคิดเรื่องความรักแบบไม่ธรรมดาและลงเอยที่การเข้าใจความรักในแบบของตัวเองอย่างไม่คาดคิด

“เซเรียว โทจิ” นักเรียนหนุ่มรูปหล่อบ้านรวยเป็นคนเงียบขรึมที่โด่งดังที่สุดในโรงเรียน สาเหตุเพราะเขาจะคบกับสาวที่มาสารภาพรักกับเขาเป็นคนแรกในวันจันทร์และบอกเลิกกันเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ทุกคนเชื่อว่าเซเรียวเป็นคนเจ้าชู้ที่เล่นเกมเปลี่ยนแฟนทุกสัปดาห์แต่ผู้หญิงทุกคนก็อยากเป็นหนึ่งในผู้โชคดีเพราะตลอด 1 สัปดาห์ที่คบกัน เซเรียวจะดูแลพวกเธอเป็นอย่างดีเหมือนเจ้าชายในอุดมคติ

หนึ่งในคนรักของเซเรียวคือเพื่อนสนิทของ “ชิโนะ ยูซุรุ” รุ่นพี่ของเซเรียวในชมรมยิงธนู ยูซุรุมีใบหน้าสวยงามเหมือนนายแบบและดูมีสไตล์เสมอแต่นิสัยแท้จริงกลับดิบเถื่อนและไม่ดูแลใส่ใจผู้หญิง คือเหมือนผู้ชายปกติทั่วไปน่ะค่ะ เหตุนี้ผู้หญิงที่มาขอคบกับยูซุรุเพราะคาดหวังว่าเขาจะเป็นเจ้าชายแสนดีจึงลงเอยที่ขอเลิกคบทุกคนไป ยูซุรุซึ่งเอือมระอากับความรักที่อีกฝ่ายเข้ามาแล้วก็ตีจากอย่างคาดไม่ถึงจึงอยากลองมีความรักแบบที่รู้จุดเริ่มและจุดจบบ้าง เขาขอให้เซเรียวคบกับเขาเพราะคิดว่าเป็นเกมและเซเรียวตกลง

หนังบอกให้เรารู้ว่าแท้จริงการคบกัน 1 สัปดาห์ไม่ใช่เกม เซเรียวพยายามตัดใจจากความรักที่ไม่สมหวังกับแฟนสาวของพี่ชาย จึงหาทางคบคนอื่นเพื่อไม่ให้ปล่อยใจกลับไปรักแฟนพี่อีก ภายหลังเขาเริ่มรู้สึกดีกับนิสัยเถรตรงไม่มีอะไรปิดบังของยูซุรุ เช่นเดียวกับยูซุรุที่ชอบเซเรียวซึ่งยอมรับความเป็นผู้ชายเถื่อนของเขาจริงๆ ต่างจากสาวอื่นที่เห็นเขาเป็นเจ้าชาย ความสัมพันธ์ของเพื่อนชายแท้สองคนจึงเริ่มโรแมนติกขึ้นเรื่อยๆ

การ์ตูนและภาพยนต์เรื่องนี้มีจุดตั้งต้นจากการเป็นการ์ตูนสำหรับผู้หญิงค่ะ เราว่าเรื่องทางเพศเชิงสังคมยากแล้ว Seven Days กลับสะท้อนเรื่องทางเพศในเชิงจิตวิทยาที่เข้าใจยากกว่าค่ะ ทำไมผู้หญิงจึงชอบดูภาพยนต์ที่มีผู้ชายสองคนมารักกันได้ล่ะ?

sevendays_v01_001

คำอธิบายหนึ่งที่เรียบง่ายคือผู้หญิงมีความฝันอยากพบกับผู้ชายที่ทุ่มเทให้ความรักอย่างเต็มที่ โดยไม่ใส่ใจกับสายตาดูถูกดูแคลนจากรอบข้าง หนึ่งในเรื่องที่ถูกคนรอบข้างตั้งข้อรังเกียจคือการชอบผู้ชายนี่ล่ะค่ะ ดังนั้น ชายใดก็ตามที่เอาชนะแรงกดดันทางสังคมจนรักกับผู้ชายด้วยกันได้ก็ย่อมเป็นคนที่ทุ่มเทให้ความรักอย่างที่สุด ผู้หญิงที่ดูจะพาตัวเองไปสวมบทบาทเป็นตัวละครชายอีกคนหนึ่งที่ได้รับความรักและเพ้อฝันกับภาพความรักที่บิดเบี้ยวในเชิงจิตวิทยาแบบนี้ แต่โดยรวมเธอก็มีความสุขที่ได้ดูล่ะค่ะ ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าได้ “จิ้น” ซึ่งมีข้อดีให้สาวๆ เหล่านี้เปิดใจยอมรับเพื่อนชายที่มีความชอบในเพศเดียวกันได้ง่ายขึ้น

การชอบเพศเดียวกันไม่ได้เป็นความเจ็บป่วยแต่การเกลีดคนที่ชอบเพศเดียวกัน (homophobia) ดูจะน่าห่วงมากกว่าค่ะ ดร.เอมมานูเอล เอ ยานนินีสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาเลียน 560 คนและตีพิมพ์บทความในปี 2015 พบว่ากลไกทางจิตที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอทำให้แสดงความก้าวร้าวและความโกรธออกมาในรูปของการเกลียดคนชอบเพศเดียวกันได้และพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทางจิตใจที่รุนแรงมากกว่านี้อีกด้วย

ดังนั้น การชอบเพศเดียวกัน การชอบดูหนังคนชอบเพศเดียวกัน ไม่ใช่ความเจ็บป่วยต้องมาพบจิตแพทย์นะคะ แต่คนเกลียดคนชอบเพศเดียวกันต้องระวังอาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตในภายหลังได้ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image