ที่มา | มติชนรายวันหน้า 18 |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ว่าการลงโทษเด็กทางกายถูกสั่งห้ามในโรงเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 แล้วก็ตาม
แต่จากงานวิจัยที่สำรวจในพื้นที่ 4 จังหวัดโดยองค์การช่วยเหลือเด็ก ยังพบว่าพ่อแม่มากกว่าร้อยละ 79 ตีลูกของตน โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าการตีเด็กและทำให้อายเพียงเล็กน้อย สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ทำให้เด็กเจ็บปวด ขณะที่พ่อแม่กว่าร้อยละ 66.9 เชื่อว่าการลงโทษทางกายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และครอบครัวมากกว่าร้อยละ 67 เชื่อว่าครูมีสิทธิทางกฎหมายในการตีเด็กที่มือได้ พ่อแม่ร้อยละ 78.9 ยังเห็นด้วยว่าการขู่ให้เด็กกลัวเป็นเครื่องมือในการลงโทษที่ดีและพ่อแม่สามารถทำได้
โดยมีเด็กเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่บอกว่าเด็กไม่ควรถูกตี ขัดกันกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60.8 ที่อยากให้พ่อแม่พูดกับเขาดีๆ อธิบายถึงเหตุผลที่ทำผิดมากกว่าการลงโทษ
แต่การตีเด็กและการลงโทษทั้งร่างกายและจิตใจ ดั่งสุภาษิต “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” นั้น ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดคิด องค์การช่วยเหลือเด็ก มูลนิธิสายเด็ก 1387 มูลนิธิรักษ์เด็ก จึงร่วมกันจัดงาน “ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก (บ้าน รัฐ โรงเรียน ทราบแล้วเปลี่ยน)” สร้างความเข้าใจให้ใหม่ในการเลี้ยงลูก ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก
ภายในงานได้ฉายวีดิทัศน์ฉายภาพประสบการณ์ของเด็กๆ ที่ถูกทำร้าย ทั้งจากผู้คุมในสถานคุ้มครองเด็ก จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ ไปจนถึงในบ้านและรั้วโรงเรียนที่ที่เด็กควรจะปลอดภัยที่สุด กลับถูกครูตีประจานหน้าเสาธงบ้าง ถูกพ่อทำร้ายร่างกาย สร้างผลกระทบแก่จิตใจของพวกเขา
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก เผยว่า การตีเด็ก คิดง่ายๆ ก็เหมือนการใช้ยาฆ่าหญ้า มันได้ผลทันที เด็กหยุดกระทำผิด แต่ก็เหมือนยาพิษ ต้องใช้บ่อยๆ และสะสมเยอะกัดกินจิตใจเขา หมอเองทำงานด้านบำบัดเจอคนไข้รายหนึ่งอายุ 40 ปีแล้ว เป็นโรคซึมเศร้า เพราะถูกพ่อตีตั้งแต่เด็ก เขาหวาดกลัวตลอด และก็ไปตีสามีของเขาอีก เป็นวงจรต่อไป จากการวิจัยพบว่าเด็กที่ได้รับความรุนแรงจะล้มเหลวด้านบุคลิกภาพ ซึมเศร้า บางรายถึงกับฆ่าตัวตาย ทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ผิดตั้งแต่เล็กด้วย
แต่จากการลงพื้นที่แล้วก็พบว่าทัศนคติเกี่ยวกับการตีเด็กของคนไทย มักเริ่มด้วยคำที่เรียกว่า “หวังดี”
รัชดาภรณ์ สงฆ์สุวรรณ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า จากการวิจัยเรื่องความรุนแรงในเด็กมาหลายปี เราพบว่าส่วนใหญ่เด็กถูกใช้ความรุนแรงในบ้าน อุปกรณ์ก็คือของใกล้ตัวในบ้าน โดยผู้ใหญ่อ้างว่าอยากให้เป็นเด็กดี เรียนเก่ง ประสบความสำเร็จ แต่ใช้วิธีที่ผิด ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงได้แบบที่ต้องการ ซึ่งเด็กอยากให้ผู้ใหญ่สอนแบบเอื้ออาทรต่อกันมากกว่า
“จากการสำรวจ เราพบว่าสิ่งที่เด็กไม่ชอบเลยคือการถูกด่าว่า ให้ไปตายซะ ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกเลย หรือการกระทืบเท้า ทำลายข้าวของ รวมไปถึงการเงียบใส่ เล่นมือถือไม่คุยด้วย กลับกันเขาอยากได้ยินคำดีๆ อย่าง เหนื่อยไหม มีไรให้ช่วยไหม ขอบคุณนะ การโอบกอดและการช่วยเหลือกัน พ่อแม่บางคนเลิกงานเหนื่อย ก็บ่น ก็ตีลูก ทำให้เขาคิดว่าเขาทำอะไรผิดหรือเปล่า พ่อแม่ก็รู้สึกเสียใจภายหลัง พม.จึงเข้าไปลงพื้นที่เปิดหลักสูตรสร้างความเข้าใจกับครอบครัว เปลี่ยนจากอารมณ์เป็นการใช้เหตุผล เลิกคาดหวังกับลูก ปล่อยให้เป็นไปตามพัฒนาการของเขา อย่างถ้าลูกติดเกมส์ ก็ต้องเบี่ยงเบนเขาออกมา สร้างข้อตกลงที่เด็กมีส่วนร่วมและให้รางวัล เด็กก็จะรู้สึกดีเมื่อมีคนเห็นถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา นอกจากนั้นก็สอนให้เด็กป้องกันตนเองไปพร้อมกันด้วย”
ซึ่งความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กนี่เอง ถือเป็นเรื่องสำคัญ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือหมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าในช่วงเด็ก สมองส่วนอารมณ์ของเราจะทำงานเร็ว เด็กใช้อารมณ์ตอบโต้กับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเขา แต่สมองส่วนคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลจะยังไม่พัฒนามาก จะเต็มที่ในวัย 25 ปี การคาดหวังให้ลูกทำอะไรที่เกินวัยเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามพัฒนาการสมอง เหมือนให้เขาทำอะไรเกินข้อจำกัดไป
“ในวัยเด็ก สมองส่วนอารมณ์จะต่อสู้ในสถานการณ์ต่างๆ กันไป หากเด็กสู้บ่อยๆ โตมาก็จะเป็นคนใช้ความรุนแรง หากเด็กหนีก็จะเป็นคนปกปิดความผิด หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และถ้าเด็กยอม นั่นก็เพราะว่าเขากลัว เขาจะติดกับความรู้สึกกลัว มองว่าตนขี้แพ้ สู้ใครก็ไม่ได้ ทั้งหมดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาตอนโต ซึ่งการที่สมองส่วนอารมณ์ทำงานก็จะกระตุ้นส่วนอารมณ์มากกว่าความคิด ครอบครัวและครูอาจต้องมีสติและความยับยั้งชั่งใจ ก่อนที่ความเคยชินจะทำร้ายลูกๆ”
ดังนั้น การเลี้ยงลูกให้มีวินัยเชิงบวกก็เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ชัดเจน โดย เกรียงไกร ไชยเมืองดี ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์เด็ก เผยว่า จากการลงพื้นที่เข้าไปอบรม โดยมีชุมชนเป็นหลักใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าการลงโทษทำให้เด็กติดลบทั้งไอคิวและอีคิวได้ เปลี่ยนมาเลี้ยงเด็กตามพัฒนาการ ใช้เหตุผลและช่วยเขาแก้ปัญหา ตามสิทธิเด็ก ให้ความอบอุ่นและแนวทางการสอนกับเขา ก็ทำให้เด็กมีอีคิวที่ดีขึ้น รู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น หาวิธีแก้ปัญหาของตัวเองได้ และที่สำคัญคือมีเป้าหมายเปลี่ยนไปโตขึ้นอยากเป็นอะไร เป็นอยากจะเป็นคนดีของสังคม
เพราะการตีเด็ก ไม่ใช่คำตอบ