บันทึกเต่าออมสิน รักสัตว์ให้เป็น ช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลก

เรื่องของ เต่าออมสิน เต่าทะเลผู้เคราะห์ร้าย ไม่เพียงเป็นที่สนใจของคนไทย แต่ยังกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และยังมีสัตว์โลกอีกหลายชนิดที่ต้องประสบเคราะห์ร้าย

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ หรือหมอหนิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมแพทย์ผู้รักษาเต่าออมสิน จึงได้เปิดตัวหนังสือ “หมอหนิ่งเล่า ต.เต่า ออมสิน” หนึ่งในโครงการ กีฟ เด็ม อะ ฮัก รักสัตว์ให้เป็น เพื่อให้คนรู้จักรักสัตว์อย่างถูกวิธี ณ ซีไลฟ์ แบงคอก โอเชียนเวิลด์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

“ปัญหาของออมสิน คือออมสินถูกฆ่าหลายครั้ง ครั้งแรกด้วยการถูกยึดอิสรภาพมากักขังในบ่อ ครั้งที่ 2 ถูกฆ่าด้วยการถูกให้กินอาหารที่ไม่เหมาะสม ต้องมากินเหรียญและตายลงในที่สุด” หมอหนิ่ง -รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวถึงกรณีเต่าออมสิน เต่าทะเลที่ถูกนำมาขังไว้ จนต้องจบชีวิตลง

 

Advertisement

เรื่องนี้ หมอหนิ่ง เล่าต่อว่า เรารู้ว่าคนไทยเป็นคนใจบุญ อยากจะช่วยเหลือชีวิตสรรพสัตว์ แต่บางครั้งการกระทำต่างๆ ก็ทำให้สัตว์ตายทั้งเป็นอย่างไม่รู้ตัว อย่างการโยนเหรียญอธิษฐานกับเต่า ซึ่งเป็นสัตว์อายุยืนเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ ก็เป็นการทำบุญที่ผิดวิธี ทำให้เขาเสียชีวิต และออมสินก็ไม่ใช่ตัวสุดท้าย นอกจากนี้เรายังเจอกับจระเข้ ปลาช่อนอเมซอน ที่เข้ามารักษาเพราะกินเหรียญเข้าไปอยู่เรื่อยๆ

“แม้ว่าออมสินจะเสียชีวิตไป แต่เขาก็ได้สร้างบุญใหญ่ ที่ทำให้คนไทยและทั่วโลกที่ติดตามข่าวนี้ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ เราได้เห็นว่าประเทศอื่นก็ยังมีประเพณีการโยนเหรียญเช่นนี้ ตอนที่ข่าวนี้ออกไปยังได้เห็นข่าวจากจีนที่บอกว่า เขาจะไม่ให้คนโยนเหรียญใส่เต่าอีก” หมอหมิ่งเผย

Advertisement

นอกจากเต่าที่กินเหรียญเข้าไปแล้วนั้น สัตวแพทย์หญิง ยังเผยถึงชะตากรรมสุดเวทนาอีกว่า

“จากประสบการณ์ที่รักษาสัตว์มานั้น มีเต่านับพันตัวที่ต้องเข้ามารักษา ไม่ว่าจะถูกรถทับ ถูกบดขยี้ หรืออาการอื่นๆ ไม่นานมานี้ก็มีวาฬเกยตื้น ผ่าตัดพบถุงพลาสติกนับ 8 กิโลกรัม”

“นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ทะเลที่ตายเพราะความไม่รู้ของคนอีกมาก เช่น โลมาที่เกยตื้น คนเราจะติดภาพว่าโลมาพ่นน้ำได้ จึงเอาน้ำไปใส่ที่รูบนหัวเขา ทั้งๆที่สิ่งนั้นคือจมูกและทำให้โลมาจมน้ำตายในที่สุด หรือสัตว์บางตัวที่มาเกยฝั่ง จะเอาไปปล่อยลงทะเลเลยไม่ได้ เพราะร่างกายโทรมมาก จึงต้องให้สัตวแพทย์ฟื้นฟูร่างกายเขาก่อน และให้มั่นใจว่าไม่ติดเชื้อโรคไปแพร่สู่สัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกับการเลี้ยงที่เราไม่สามารถนำสัตว์ทะเลมาเลี้ยงในบ่อน้ำจืดได้ เหมือนที่บางคนนำเต่าทะเลมาเลี้ยงกับปลาคาร์ฟ จะเป็นการฝืนธรรมชาติเขา”

ไม่เพียงแต่รักษาสัตว์เหล่านี้อย่างถูกวิธี การช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ยังมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย โดยเฉพาะหลังการผ่าตัด

“การรักษาสัตว์นั้น ไม่ใช่แค่ผ่าตัดเสร็จแล้วจบ เพราะจะรอดหรือไม่อยู่ที่การฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดอีกด้วย นอกจากนี้สัตว์แต่ละตัวมีภูมิต้านทานต่ำ ต้องทานอาหารที่ปลอดสารพิษ ครั้งหนึ่งเราเคยให้กินผักที่ซื้อทั่วไป ปลาตายทั้งบ่อ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา การจะช่วยเหลือสัตว์จึงต้องมีความรู้ และเลี้ยงเขาให้เป็นธรรมชาติ สัตว์ต่างๆไม่เหมือนกับคนที่แลกด้วยความรัก เพราะสัตว์แลกได้ชีวิต”

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา เขียนหนังสือ หมอหนิ่งเล่า ต.เต่า ออมสิน ขึ้น เพื่อให้รู้ถึงความลำบากในการช่วยเหลือสัตว์ ที่มีทั้งเต่าออมสิน และสัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นก้าวแรกของโครงการ กีฟ เด็ม อะ ฮัก รักสัตว์ให้เป็น ซึ่งจะนำรายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย ไปซื้อเครื่องเลเซอร์ เพื่อช่วยในการรักษาและสมานแผลสัตว์ เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากกว่าเดิม 2-3 เท่า

“เครื่องนี้จะสามารถนำไปรักษาสัตว์ใหญ่อื่นๆได้ด้วย และจะนำเงินไปช่วยเหลือสัตว์น้ำ จากนี้จะมีโครงการอื่นๆ อย่าง เดินวิ่งปั่น รับเหรียญไม่โยนเหรียญให้เต่า , ศิลปะใต้ทะเล อาร์ต อิน ดิ โอเชียน, ระวังสัตว์ข้ามถนน และ เต่าโรโบติค ขาไฮเทค”

สุดท้าย หมอหมิ่ง แนะวิธีการช่วยเหลือสัตว์ว่า ถึงแม้เราจะเป็นคนใจบุญ แต่ก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์ กฎคือต้องแน่ใจว่าตัวเองปลอดภัย และสัตว์ปลอดภัย การช่วยต้องถูกขั้นตอน อย่างการลงไปอุ้มสุนัขกลางถนนโดยไม่รู้ว่าเป็นพิษสุนัขบ้าหรือไม่ เราอาจจะเพียงกันรถให้สุนัขเดินแทน นอกจากนี้ บางครั้งหากขนย้ายสัตว์ผิดวิธีก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ความเมตตาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความเมตตาที่มีเหตุผลนั้นดีที่สุด
เพื่อชีวิตสัตว์โลก

รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image