เปิดงานวิจัยประชากรไทย ‘หญิงโสด’ และ ‘จน’ เพิ่มขึ้น

ยุคโลกาภิวัตน์ได้มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย ตั้งแต่การโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงาน คนครองโสดมากขึ้น คู่สมรสมีบุตรน้อยลง ตลอดจนการก้าวสู่สังคมสูงวัย หลากหลายปรากฏการณ์ด้าน

ประชากรที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังไม่เคยมีหน่วยงานหรือองค์กรใดศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง กระทั่งมีการเปิดผลศึกษาด้านประชากรครั้งใหญ่ ในงาน “เปิดผลศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย และความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย” จัดโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ

ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานตอนหนึ่งว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของไทยคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ขณะนี้กระทบไปหมด

“อย่างจุฬาฯ ช่วงหลังนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาลดลงไปกว่าปีละ 1,000 คน ขณะที่นิสิตระดับปริญญาตรียังคงเดิมที่ปีละ 25,000 คน เราจึงต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดงานศึกษาวิจัยนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติที่สังคมสูงวัยเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทุกประเด็น” ศ.นพ.นรินทร์กล่าว

Advertisement
ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการศึกษาวิจัยนี้ โดยได้ลงพื้นที่สำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ 4 ขั้นตอน ในกรุงเทพฯ รวมถึง 20 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค โดยแบ่งที่อยู่อาศัยในเมืองและชนบท จำนวน 15,222 ครัวเรือน มีสตรีอายุ 15-49 ปี ตอบแบบสอบถาม จำนวน 9,457 ราย และมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตอบแบบสอบถาม จำนวน 7,450 ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559-2561 พบว่า อัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าในอดีต และไม่มีท่าทางว่าจะขึ้นมาง่ายๆ เพราะคนครองโสดมากขึ้น คู่สมรสมีบุตรคนแรกช้าลง มีบุตรจำนวนน้อยลง อีกส่วนก็มีบุตรก่อนแต่งงานมากขึ้น โดยพบว่า 1 ใน 5 มีบุตรคนแรกก่อนอายุ 20 ปี

“จากข้อมูลข้างต้นบ่งบอกว่าการที่รัฐจะมีนโยบายอะไรที่มาแก้ปัญหา คงไม่ใช่เรื่องง่าย และถือว่าน่าห่วงกับการเตรียมประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ลำพังมากขึ้น บางส่วนแม้จะมีลูก ลูกก็มีโอกาสย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานที่อื่นด้วย โดยเฉพาะการย้ายถิ่นฐานมากระจุกตัวในกรุงเทพฯ ฉะนั้น หากเราจะรักษาระบบครอบครัวให้คนดูแลครอบครัว ก็ต้องมาพูดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำใหม่ ด้วยการกระจายการพัฒนา ซึ่งคงต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติที่ 4 ให้จริงจัง ที่ระบุว่าจะกระจายการพัฒนาหัวเมืองต่างๆ ให้สามารถรองรับการทำงานต่างๆ ไม่ให้คนย้ายออกจากจังหวัด ออกจากภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ยังสามารถกลับไปดูแลครอบครัวได้” รศ.วิพรรณกล่าว

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

ภายในงานยังมีการนำเสนอผลศึกษาวิจัยที่น่าสนใจ อย่างการพบแนวโน้มผู้สูงอายุอยู่ในเมืองมากขึ้น ถึงร้อยละ 41.1 และตามชนบทร้อยละ 58.9 อีกทั้งย้ำชัดว่าผู้หญิงยังคงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป ขณะที่เมื่อจำแนกระดับการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ประถมศึกษา แต่ก็มีแนวโน้มของระดับการศึกษาที่สูงขึ้น จากกลุ่มผู้สูงอายุหน้าใหม่ที่เข้ามา

Advertisement

ทั้งนี้ พบว่าผู้สูงอายุช่วงแรกอายุ 60-69 ปี ครองโสดมากขึ้น หลายคนอยู่ลำพัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุหญิงที่ครองโสดและหย่าร้างมากกว่าผู้สูงอายุชาย ด้านการทำงานผู้สูงอายุยังคงทำงานและมีรายได้จากการทำงานมากกว่าได้รับเงินจากบุตร

กระทั่งอายุ 70 ปีขึ้นไปที่สัดส่วนการทำงานเริ่มลดลงอย่างชัดเจน อาจด้วยปัญหาด้านสมรรถภาพและสุขภาพ แต่น่าห่วงผู้สูงอายุหญิงที่มีสัดส่วนการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย มีระดับการศึกษาต่ำกว่าผู้ชาย ทำให้ยิ่งแก่ยิ่งเสี่ยงยากจน

นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการย้ายถิ่นของคนไทยที่ไม่อยากไปไกลมาก ส่วนใหญ่จะเลือกย้ายถิ่นอยู่ในภูมิภาคตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ย้ายถิ่นในภูมิภาคตนเองเพื่อการสมรสและมีครอบครัว รองลงมาคือย้ายมาที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานที่ย้ายเข้ามาทำงาน ขณะที่ภาคอีสานมีผู้ย้ายถิ่นออกมากที่สุด

ทั้งนี้ เหตุผลการโยกย้ายถิ่นฐาน ส่วนใหญ่มาจากการทำงาน รองลงมาคือสมรสและการมีครอบครัว และการศึกษา

ชีวิตประจำวัน 2018 ความเจริญสร้างความเปลี่ยนแปลง

ในยุคที่มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น การวิจัยประชากรในครั้งนี้ พบว่า “วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทย” ในปัจจุบัน

เริ่มที่เรื่องน้ำบริโภค ครัวเรือนร้อยละ 13.47 ยังดื่มน้ำฝน, ร้อยละ 3.80 ดื่มกินน้ำบาดาล/น้ำบ่อ, ร้อยละ 1.13 ยังดื่มกินน้ำจากแม่น้ำ/ลำธาร และร้อยละ 4.27 ดื่มน้ำประปาโดยตรงและไม่ผ่านการกรองใดๆ ขณะที่น้ำบรรจุขวดหรือน้ำจากตู้กด ได้รับความนิยมสูงสุดถึงร้อยละ 57

ส่วนน้ำใช้ ร้อยละ 82 คนใช้น้ำประปา มีเพียงร้อยละ 0.95 ที่ใช้น้ำฝน
ส่วนเรื่องทรัพย์สินที่ทุกบ้านต้องมี ถ้าเป็นเมื่อก่อนวิทยุทรานซิสเตอร์มาเป็นลำดับที่ 1

แต่ปัจจุบัน อันดับ 1 โทรทัศน์สี ร้อยละ 95.03 รองลงมาคือโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 92.50 อันดับ 3 คือ ตู้เย็น ร้อยละ 91.21 อันดับ 4 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.51 อันดับ 5 เคเบิลทีวี จานดาวเทียม ร้อยละ 76.52

อันดับ 6 เครื่องซักผ้า ขณะที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อยู่ที่ลำดับที่ 7 อันดับ 8 รถยนต์ รถตู้ รถกระบะ อันดับ 9 เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี อันดับ 10 อินเตอร์เน็ต ไวไฟ อันดับ 11 คอมพิวเตอร์ อันดับ 12 เครื่องปรับอากาศ อันดับ 13 ไมโครเวฟ เตาอบ

ด้าน “ที่อยู่อาศัย” ผลสำรวจพบว่า คนไทยยังคงอยู่บ้านเดี่ยว ร้อยละ 77.64 รองลงมาเป็นบ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม ร้อยละ 5.93 แต่สัดส่วนผู้เช่าที่อยู่อาศัยแนวตั้ง อาทิ แฟลต อพาร์ตเมนต์ หอพัก มีร้อยละ 8.82 ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่าในอดีต เนื่องจากที่ดินราคาสูงขึ้น ทำให้บางคนไม่มีโอกาสครอบครอง

ปรากฏการณ์ประชากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image