เริ่มต้นจาก “ความยากจน” อันเป็นผลพวงมาจากภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี จำนวน 32 คน ต้องรวมตัวกันเพื่อหาทางออก
และตัดสินใจดำเนินตามรอย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” อันประกอบด้วย “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนการใช้ “ความรู้” ความรอบคอบและ “คุณธรรม” ในการวางแผน
จนกระทั่งในปัจจุบัน ชาวบ้านพบเส้นทางในการแก้ปัญหาความยากจน มีรายได้ตลอดทั้งปี และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก่อเกิดเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา” โดยมี นายคะนอง โปรักษ์ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา
นายคะนอง เล่าว่า แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนบ้านกุ่มพัฒนาต่างประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นหลัก และเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพรอง แต่ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนเพราะต้นทุนสูงกว่ารายได้ จึงรวมตัวกันเพื่อปรึกษา เสาะหาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างเพียงพอ และติดต่อขอความช่วยเหลือไปทางเกษตรอำเภอ
โดยได้รับคำแนะนำว่าให้ปรับปรุงโรงเรือนเก่าเป็น “โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน”
แม้แรกเริ่ม “เห็ดนางฟ้าภูฏาน” จะขายได้ราคาดี แต่หลังจากนั้นราคาก็ลดลง ทั้งเห็ดยังล้นตลาด ขายไม่ทัน จึงหาทางออกด้วยการนำเห็ดไป “แปรรูป”
กลายเป็น น้ำเห็ด แหนมเห็ด และน้ำพริกเผาเห็ด ตลอดจนต่อยอดด้วยการนำก้อนเห็ดมาเป็น “วัสดุรองคอกหมูหลุม” เพื่อลดการซื้อแกลบ ประกอบกับปลูกต้นกล้วยล้อมสวนมะม่วงเพราะสามารถนำลำต้นมาหมักเป็นอาหารหมู ได้หยวกกล้วยมาทำกับข้าว และนำขี้หมู มาผลิตเป็น “ปุ๋ยอินทรีย์” เพื่อนำกลับไปใช้เลี้ยงต้นมะม่วง และเป็นปุ๋ยในนาข้าวต่อไป
จะเห็นได้ว่าจากกระบวนการทั้งหมด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนที่ดี
แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ทุกอย่างลงตัวและดำเนินการได้อย่างราบรื่น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนาใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ และพัฒนาถึง 13 ปี”
ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านกุ่มพัฒนา เผยเคล็ดลับว่า ทุกครั้งที่กลุ่มของเราประสบปัญหา สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียกประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะทุกปัญหาย่อมมีเหตุและผล ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานคำสอนไว้ใน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
จากนั้น “หากไม่รู้ว่าต้องแก้ปัญหายังไง ก็ให้ไปหาผู้รู้” ซึ่งในที่นี้ผมมองว่า “ผู้รู้” คือหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบุคลากร มีความรู้ แต่เราอาจจะต้องเดินทางไปเพื่อแจ้งความจำนงให้ทราบว่าเรามีปัญหาอยากให้ช่วย ซึ่งจุดนี้ก็อยู่ในข้อที่ว่า “เราต้องมีความรู้”
นายคะนองกล่าวต่อไปว่า “แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความพอประมาณ” เมื่อตั้งมั่นว่าเราทำเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จึงต้องกินก่อน เหลือค่อยขาย และเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกัน ระบบก็จะดำเนินไปด้วยดี ต่อมาเมื่อสมาชิกทุกคนมีรายได้ทั้งรายวันและรายปี จึงต้องมี “คุณธรรม” เป็นที่ตั้ง คือใครทำใครได้ มีการกำหนดระเบียบของกลุ่มวิสาหกิจอย่างชัดเจน ทั้งมีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่โปร่งใส ทั้งหมดนี้ก็จะประกอบกันกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี และนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ นายคะนอง เผยว่าทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังได้รับการสนับสนุนจาก “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ที่ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนาโดยบริหารจัดการด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางชุมชนได้ส่ง “โครงการส่งเสริมการปลูกกล้วยครบวงจรและพัฒนาศักยภาพการแปรรูปอย่างยั่งยืน” เข้าร่วม และผ่านการอนุมัติ จนกระทั่งได้ “ต้นกล้วย” มาปลูก
เพื่อนำผลผลิตไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ “กล้วยอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน
นายจัตตุรงค์ เครืออยู่ สมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกล้วย เล่าว่า แต่เดิมตนประสบปัญหาหนี้สิน จนต้องไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย แต่ภายหลังเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจฯ และรับต้นกล้วยจากโครงการฯ มาปลูก ทำให้ชีวิตดีขึ้น จนตอนนี้ตั้งใจว่าจะนำบัตรสวัสดิการของรัฐไปคืนแล้ว
“ก่อนหน้านี้ทำนา มีแต่หนี้สิน ราคาข้าวไม่ดี ทั้งยังต้องใช้น้ำเยอะ ศัตรูพืชก็เยอะ พี่คะนองเลยชวนเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งผมก็ปลูกกล้วยด้วยความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น และก็ดีขึ้นจริงๆ โดยจะปลูกไม่พร้อมกันเพื่อให้มีผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี เกิดเป็นรายได้ระยะยาว นอกจากนี้ยังปลูกผักที่ขายได้ร่วมด้วย เช่น ก่อนปลูกกล้วยจะปั้นดินเพื่อหว่านผักชี เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง” อดีตชาวนากล่าว
เกษตรกรสวนกล้วยรายนี้ยังได้ทิ้งท้ายว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาปรับใช้ได้จริง ทุกวันนี้มีความสุขมากๆ ไม่เครียด ไม่ต้องรอดินฟ้าอากาศ ว่าจะมาแบบไหน ชีวิตมีขั้นมีตอน มีรายได้ ที่สำคัญยังช่วยยกระดับชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้นด้วย”
แม้วันนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยังมีต่อปวงชนชาวไทยไม่เปลี่ยนแปลง