ที่มา | มติชนรายวันหน้า 18 |
---|---|
เผยแพร่ |
ในห้วงเดือนตุลาคม ที่เวียนมาบรรจบครบรอบ 2 ปีแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของคนไทย การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นำมาซึ่งความโศกเศร้าอาดูรเป็นล้นพ้น
เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พสกนิกรชาวไทยต่างพร้อมใจกันจัดกิจกรรมน้อมรำลึกถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง เฉกเช่น มูลนิธิวงดุริงยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ จัดงาน “ดุริยนาฏนวมินทร์” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “องค์อัครศิลปิน” ที่พระราชนิพนธ์บทเพลงขับขานความสุขใจ ตลอดจนสะท้อนพระอัจฉริยภาพของพระองค์ทั้ง 3 ด้าน อันได้แก่ ดุริยศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ โดยกำหนดการจัดแสดงในวันที่ 20 ตุลาคม เวลา 14.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
อัจฉรา เตชะไพบูลย์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เราจึงจัดงานร่วมกับหลายฝ่าย มีนักดนตรีมากกว่า 300 ชีวิตมาร่วมขับขานและบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์อันล้ำค่า ที่ไม่ว่าจะฟังในช่วงเวลาไหนก็ยังคงไพเราะไม่เปลี่ยน เป็นดั่งบทเพลงอมตะที่อยู่เหนือกาลเวลา ประกอบกับเทคนิคแสงสีเสียงที่มาในรูปแบบ “ฟูลโปรดักชั่น”
ความพิเศษของการแสดงครั้งนี้ คือ การแสดงชุด “มโนห์รา บัลเลต์” (Manohra Ballet) บัลเลต์สัญชาติไทย “เรื่องแรก” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชนิพนธ์บทเพลงชุด “กินรี สวีท” (Kinari Suite) ประกอบการแสดงบัลเลต์เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทย อันสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถด้านนาฏศิลป์
โดยครั้งนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน” ดาราบัลเลต์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาพำนักในไทย และถวายการสอนบัลเลต์แก่พระราชธิดาในพระองค์ เป็นผู้ออกแบบท่าเต้นบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ถวาย เปิดการแสดงครั้งแรก เมื่อวันที่ 5-7 มกราคม 2505 ณ เวทีสวนอัมพร เนื่องในงานกาชาดประจำปี 2505
ทั้งนี้ พระองค์พระราชทานเค้าโครงเรื่อง พระราชนิพนธ์บทเพลงประกอบการแสดง ออกแบบฉากและควบคุมการผลิตด้วยพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งในขณะนั้น วนิดา ดุละลัมภะ (สุขุม) รับบทเป็นมโนห์ราคนแรก สมศักดิ์ พลสิทธิ์ รับบทพระสุธน และสุรเทิน บุนนาค รับบทพรานบุญ
บัลเลต์มโนราห์เมื่อปี 2505 ปีก่อน
ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ผู้รับบทมโนห์ราคนที่สอง และปัจจุบันได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติปี 2560 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการรับบทตัวเอกในการแสดง “มโนห์รา บัลเลต์” ว่า เธอเดินทางกลับมาประเทศไทยภายหลังจบการศึกษาบัลเลต์จากต่างประเทศ และได้รับโอกาสแสดงเป็นมโนห์ราครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2507 ในงานอำลาคุณหญิงเดมอน ซึ่งขณะนั้นคุณหญิงจะบินกลับประเทศ งานจัดขึ้น ณ หอประชุมธรรมศาสตร์ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทอดพระเนตรทั้งสองพระองค์ และมีการถ่ายทำภาพยนตร์ส่วนพระองค์เรื่อง “มโนห์รา” ที่พระองค์ทรงกำกับเอง เก็บไว้ด้วยหลังการแสดงจบลง
“การเรียนบัลเลต์ สิ่งสำคัญคือความรักที่จะเต้นบัลเลต์ และต้องใช้ความอดทนพยายามอย่างมาก ด้วยทุกครั้งที่ซ้อม เท้าเราจะเจ็บ และเชื่อได้เลยว่านักเต้นบัลเลต์ทุกคนแทบจะไม่มีใครเท้าสวยเลย แต่กระนั้นทุกครั้งที่เราได้แสดงบนเวที ความเจ็บความเหนื่อยก็หายไปหมด เหลือเพียงตัวเราที่อินกับการแสดง โลดแล่นภายใต้แสงไฟ ประกอบกับตอนที่ดิฉันได้รับเกียรติให้เป็นมโนห์รา บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้เป็นเสียงดนตรีประกอบ เข้าถึงจิตใจของตัวละคร ดึงให้ดิฉันอินเข้ากับบทละครได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างแท้จริง เพราะในเค้าโครงเรื่องมีทั้งฉากต่อสู้ แย่งชิง อ่อนหวาน และโศกเศร้า แต่บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ทรงบรรยายได้ครบทุกอารมณ์” อดีตมโนห์ราคนที่สองเล่าด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติ
นับแต่นั้น “มโนห์รา บัลเลต์” ถูกนำมาแสดงเพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะอยู่หลายครั้ง และสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทขณะที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯแปรพระราชฐานไปทรงงานยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
แต่การแสดงบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องมโนห์ราครั้งสำคัญที่สุดปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2535 เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โดยทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโปรดเกล้าฯให้จัดการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อเชิดชูคีตมหาราชนิพนธ์ชุดนี้ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่งในโอกาสมหามงคลทั้งสอง
ซึ่งในการแสดงบัลเลต์ประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์เรื่องมโนห์รา ฉบับปี พ.ศ.2535 มีการปรับปรุงโดยขยายเนื้อหาการดำเนินเรื่องและเพิ่มเติมบทเพลงพระราชนิพนธ์ประกอบการแสดงเพิ่มขึ้นจาก 5 บทเพลง เป็น 16 บทเพลง
ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่ “มโนห์รา บัลเลต์” ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนคือ “ในค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2560” ท่ามกลางความโศกเศร้า การจัดการแสดงมหรสพสมโภชออกพระเมรุ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณราชประเพณี เพื่อให้ประชาชนคลายความเศร้าหลังจากอยู่ในห้วงไว้ทุกข์ และเป็นการออกทุกข์ในคราวเดียวกัน รวมทั้งให้ประชาชนได้ชมการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงจากราชสำนัก
โดยมี โจ้-สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา เป็นผู้ควบคุมการแสดงและออกแบบท่าเต้น
สุธีศักดิ์ เป็นศิษย์เอกของท่านผู้หญิงวราพร ทั้งยังเคยรับบทเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ในการแสดงมโนห์รา บัลเลต์ เผยว่า ถ้าอยู่ในวงการบัลเลต์จะต้องรู้จัก “มโนห์รา บัลเลต์” ซึ่งเป็นตำนานเล่าขานมานานกว่า 50 ปี ในเรื่องความงดงาม ในชั่วชีวิตหนึ่งนักบัลเลต์ทุกคนต่างอยากมีส่วนร่วมในการแสดงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ทุกคนร่วมใจแสดงถวายพระองค์ จึงไม่มีใครเกี่ยงบทเลย สามารถเล่นเป็นตัวละครอะไรก็ได้
“ผมบอกนักแสดงทุกคนเสมอว่า มโนห์รา บัลเลต์ เป็นบัลเลต์ที่ต้องเต้นด้วยใจ เพราะไม่ได้มีโอกาสได้แสดงหรือชมบ่อยๆ เป็นเกียรติสูงสุดของนักแสดงที่ได้เล่น และเป็นบุญของคนไทยที่มีองค์อัครศิลปินผู้พระราชทานบัลเลต์สกุลใหม่ พระราชทาน “มโนห์รา” ให้เป็นตัวแทนของ “นกไทย” ด้วยปกติเรามักจะเห็นท่าเต้นบัลเลต์ตามลำดับต่างๆ ของต่างประเทศที่มีสวอนเลค ฟลายเบิร์ด หรือบลูเบิร์ด แต่ในที่สุดประเทศไทยก็มี “นกของเรา” เป็นความภาคภูมิใจ อย่างหาที่สุดไม่ได้ และยังเป็นต้นฉบับของเราเอง” สุธีศักดิ์กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน และว่า
“ในการแสดงครั้งนี้ผมตั้งใจใส่ความพิเศษลงไปในฉาก ไม่ว่าจะเป็นความอลังการของฉากป่าไม้และสายน้ำ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ความว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” ตลอดจนเพิ่มฉากหญ้าแฝกและดอกดาวเรืองทั้ง 9 ดอกลงไปในป่าหิมพานต์ เพื่อสื่อถึงพระองค์ท่านและพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทเพื่อประชาชน”
ก่อเกื้อความสุขใจด้วยบทพระราชนิพนธ์อันวิจิตรสืบไป
ดื่มด่ำบทเพลงพระราชนิพนธ์
อีกหนึ่งความพิเศษการจัดงาน “ดุริยนาฏนวมินทร์” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ “องค์อัครศิลปิน” เป็นการแสดงที่สะท้อนความมั่นคงของชาติ ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์กลุ่มเพลงมาร์ช พร้อมการแปรขบวนอย่างยิ่งใหญ่ และเต็มรูปแบบจาก “วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม” ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นโรงเรียนแรกและโรงเรียนเดียวในประเทศไทยที่ได้รับพระราชทาน “คทาครุฑพระราชทาน” จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เป็นคทาประจำวงดุริยางค์ของโรงเรียน และมีพระบรมราชานุญาตให้นำคทาครุฑออกใช้งานในลักษณะการนำขบวนกองเกียรติยศอย่างเป็นทางการเท่านั้น ด้วยตัวครุฑบนหัวคทามีที่มาจากการใช้เบ้าหล่อเดียวกับครุฑที่ประดับหน้ารถยนต์พระที่นั่ง
นอกจากนี้ ยังจัดแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกที่พระราชทานออกเพื่อการลีลาศ และสะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ 3 บท ที่พระองค์พระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ สายฝน ยามเย็น ในดวงใจนิรันดร์ และค่ำแล้ว ฯลฯ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ อำนวยเพลงโดย วานิช โปตะวนิช พร้อมด้วยนักร้องรับเชิญและคณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามการจองบัตรและสำรองที่นั่ง
ได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ www.thaiticketmajor.com หรือโทร 0-2262-3456 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป