เผยผลอยู่ในอวกาศ ทำ’ตับ’หนูเสียหาย

ภาพ-dnews

ทีมนักวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์แอนส์ชูทซ์ ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศต่อหนูทดลอง ที่เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการพลอสวัน เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าเพียงแค่การใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศนาน 2 สัปดาห์ ก็ส่งผลให้ตับของหนูทดลองเกิดความเสียหายได้แล้ว

งานวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยทีมวิจัยภายใต้การนำของคาเรน จอนสเชอร์ รองศาสตราจารย์ด้านวิสัญญีวิทยาและนักฟิสิกส์ประจำวิทยาลัยการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งวิเคราะห์ผลกระทบต่อกลุ่มหนูทดลองที่ถูกส่งขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศกับกระสวยอวกาศแอตแลนติสเมื่อปี 2011 นาน 13 วันกับอีก 12 ชม. กลายเป็นข้อกังขาสำคัญต่อการส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจห้วงอวกาศในระยะยาว โดยเฉพาะโครงการส่งคนขึ้นไปยังดาวอังคารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งเป้าจะสำรวจอวกาศห้วงลึกอย่างเช่นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวอังคารภายในทศวรรษ 2030

เมื่อหนูทดลองกลุ่มดังกล่าวกลับสู่โลก ทีมวิจัยพบว่าการเดินทางสู่อวกาศของพวกมันกลายเป็นการกระตุ้นเซลล์บางกลุ่มให้ทำงาน ซึ่งอาจกลายเป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอยขึ้นกับอวัยวะ และทำให้อวัยวะเกิดความเสียหายในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยตรวจสอบพบว่าหนูทดลองกลุ่มนี้เกิดการสะสมไขมันในตับสูงขึ้น ในเวลาเดียวกันก็สูญเสีย “เรติโนล” ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนวิตามินเอในสัตว์ไปจนสังเกตเห็นได้ หนูเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นต่อขีดความสามารถในการย่อยสลายไขมัน และส่อสัญญาณถึงอาการของโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (นอนแอลกอฮอลิค แฟตตี ลิเวอร์ ดิซีส-เอ็นเอเอฟแอลดี) และมีสิ่งบ่งชี้ถึงการเกิดโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในพัฒนาการระยะต่อๆ ไปของโรคเอ็นเอเอฟแอลดี

Advertisement

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เท่าที่รู้กันก็คือการเดินทางไปในห้วงอวกาศจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่ของการสูญเสียมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังเกิดกรณีความผิดปกติด้านการมองและการทำหน้าที่ของสมองในบางราย รศ.จอนสเชอร์ระบุว่า ในระยะหลังเป็นที่รู้กันว่ามนุษย์อวกาศที่เดินทางกลับมามักเกิดอาการคล้ายกับผู้ป่วยเบาหวาน แต่ก็ฟื้นฟูกลับเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว

จอนสเชอร์ชี้ว่าสัญญาณส่อถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับอย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับหนูทดลองนั้น ในภาวะแวดล้อมบนโลกจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอยู่ในภาวะทุพโภชนาการเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ดังนั้นการที่หนูทดลองส่อถึงอาการตับแข็งได้โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการกินอาหารเลยในชั่วเวลาเพียง 13.5 วัน จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ก็กลายเป็นคำถามสำคัญขึ้นมา

สำหรับสาเหตุอันเป็นที่มาของการเสียหายดังกล่าวนั้น สันนิษฐานว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดจากภาวะเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปและกลับจากห้วงอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนบินขึ้นและตอนที่กลับเข้าสู่บรรยากาศ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อไป โดยเฉพาะโครงการศึกษาผลกระทบต่อเนื้อเยื่อของหนูทดลองที่อยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เป็นเวลานานหลายเดือนอาจช่วยสร้างความกระจ่างให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุที่ว่าทำไมภาวะแรงโน้มถ่วงน้อย หรือไม่มีแรงโน้มถ่วงเลยจึงสร้างความเสียหายต่อตับได้เช่นนี้

Advertisement

ซึ่งอาจช่วยในการหาทางแก้ไขป้องกันสำหรับนักบินอวกาศในอนาคตต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image