ไซเบอร์ทีน…ได้เวลาบอกลา ‘กูเกิลพลัส’

FILE PHOTO: The Google Plus logo is projected on to the wall during a Google event in San Francisco, California, October 29, 2013. REUTERS/Beck Diefenbach/File Photo

“กูเกิลพลัส” พอเห็นชื่อนี้เป็นข่าวขึ้นมาว่า กูเกิล จะปิดการให้บริการกูเกิลพลัส ก็รู้สึกถึงความ “คุ้นๆ” ไม่ใช่ “คุ้นเคย” ขึ้นมา

สิ่งที่จำได้คือ กูเกิลพลัส คือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทางกูเกิลทำขึ้นมา เพื่อแข่งขันกับสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก”

แต่ก็ดูจะเงียบหายไป กระทั่งมาเป็นข่าวอีกครั้งว่า กำลังจะปิดตัวลง

เหตุผลของการปิดบริการ ก็เพราะมีการไปพบจุดบกพร่อง หรือที่เราเรียกกันว่า “บั๊ก” ที่สามารถทำให้แอพพลิเคชั่นของบริษัทภายนอก สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชีกูเกิลพลัสได้ และคาดว่า น่าจะมีบัญชีที่ตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงนี้ถึง 500,000 บัญชีด้วยกัน

Advertisement

กูเกิลพบบั๊กนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้แจ้งต่อสาธารณะ และจนถึงบัดนี้ กูเกิลก็แจ้งว่า บั๊กที่เจอนั้น ยังไม่พบว่ามีข้อมูลของผู้ใช้งานกูเกิลพลัสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดแต่อย่างใด โดยข้อมูลที่ถูกเข้าถึงได้ เช่น ชื่อ อายุ เพศ อาชีพ และอีเมล์แอดเดรส ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่พวกโพสต์ ข้อความ หรือเบอร์โทรศัพท์จะไม่สามารถเข้าถึงได้

และเหตุผลในการปิดที่กูเกิลแจ้งไว้ คือ ความยากลำบากในการสร้างและคงไว้ซึ่งความสำเร็จของกูเกิลพลัส เพื่อให้ได้ตามความคาดหวังของผู้ใช้ บวกกับจำนวนผู้ใช้งานกูเกิลพลัสที่น้อย ทำให้กูเกิลตัดสินใจปิดบริการกูเกิลพลัส และให้เวลาแก่สมาชิกในการเก็บข้อมูลในกูเกิลพลัสเอาไว้เป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งทางกูเกิลก็จะออกเครื่องมือมาให้สำหรับการถ่ายโอนข้อมูลของเราที่เคยโพสต์มาเก็บเอาไว้ ก่อนจะปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม 2019

สำหรับกูเกิลพลัสนั้น เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้ได้มีพื้นที่ในการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกออนไลน์

Advertisement

หากแต่ดูเหมือนกูเกิลพลัสจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ และหากน้องๆ หรือใครที่บอกว่า “ไม่ได้โพสต์อะไรบนกูเกิลพลัสนานแล้ว” ก็ต้องบอกว่า นั่นแหละ คนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น

โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2015 พบว่า 90% ของผู้ใช้กูเกิลพลัสทั่วโลก ไม่เคยโพสต์อะไรลงไปเลยแม้แต่โพสต์เดียว

และเชื่อว่า หลังจากนั้น จำนวนผู้ไม่โพสต์อะไรบนกูเกิลพลัส ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก

จนกลายเป็นที่มาของการ “ปิดฉาก” กูเกิลพลัส

และได้เวลาบอกลาไปอีกหนึ่ง “กูเกิลพลัส” … ที่หลายคนไม่รู้จัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image