เก่งภาษาสร้างโอกาส x2 ล่องเรือสำราญเข้าค่ายเยาวชน

จัดเป็นประจำทุกปีกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ที่นำเยาวชนใน 10 ประเทศอาเซียนและประเทศญี่ปุ่นรวม 330 ชีวิต มาล่องเรือสำราญ “นิปปอน มารู” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะโดยสารจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังประเทศญี่ปุ่น ระหว่างนั้นยังจอดแวะทำกิจกรรมในประเทศสมาชิกต่างๆ ในเวลากว่า 2 เดือน โดยปีนี้จัดเข้าสู่รุ่นที่ 45

ภายหลังกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดรับสมัคร คัดเลือกอย่างเข้มข้น และประกาศผลเยาวชนตัวแทนประเทศไทย 28 คนประจำปีนี้ โดยก่อนออกเดินทางระหว่างวันที่ 23 ตุลาคมถึง 13 ธันวาคมนี้ หรือรวมเวลา 52 วัน พม.จึงได้จัดพิธีมอบเข็มเครื่องหมายเยาวชนพระราชทาน ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร พม. ณ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

ว่าที่ ร.ท.นวกัณฑ์ อุบล หรือกัณฑ์ อายุ 29 ปี นักศึกษา ป.โท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย (The University of Newcastle, Australia) เล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วยังเป็นอดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีโอกาสได้ขึ้นเรือลำนี้เพื่อมาส่งตัวแทนเยาวชนไทย ตอนนั้นได้เห็นความยิ่งใหญ่และประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ จึงตั้งความฝันต้องเป็นตัวแทนเยาวชนไทยขึ้นเรือลำนี้ให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่ด้วยทักษะทางภาษาอังกฤษอ่อนมาก จึงขอคุณแม่ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย ซึ่งท่านก็อนุญาตแต่ขอให้เรียนอย่างอื่นร่วมด้วย ขณะที่ระหว่างเรียนยังได้ทำงานพาร์ตไทม์ในร้านอาหาร ซึ่งนอกจากช่วยแบ่งเบาภาระท่าน ยังทำให้มีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วย ทำอย่างนี้มาตลอด 3 ปีไม่หยุด ก่อนกลับมาสมัครคัดเลือกได้สำเร็จ

Advertisement

“โครงการนี้มีมานานและจัดต่อเนื่อง ที่สำคัญยังนำตัวแทนเยาวชนจากหลายประเทศเข้าร่วม ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความสามารถแตกต่างกันไป แน่นอนว่าสามารถสร้างคอนเน็กชั่นให้ตัวเองในอนาคตได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเท่าที่ดูรุ่นพี่ๆ ที่ผ่านโครงการนี้ ล้วนแต่มีหน้าที่การงานที่ดี พวกเราได้รู้จักกัน การมาค่ายเยาวชนนี้จึงได้อะไรมากกว่าที่คิด” ว่าที่ ร.ท.นวกัณฑ์กล่าว

ว่าที่ร้อยโท นวกัณฑ์ อุบล

ถัดมาที่ น.ส.สุชาวดี สมนา หรือมีน อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็สมัครคัดเลือกเข้าโครงการนี้ ซึ่งที่ผ่านมายังเรียนได้ไม่เท่าไหร่ ปรากฏว่าได้รับคัดเลือกเข้าโครงการและต้องหยุดเรียน 2 เดือน ซึ่งการเรียนแพทย์ถ้าต้องหยุดนานขนาดนี้จะต้องดร็อปเรียน 1 ปี สุดท้ายจึงตัดสินใจดร็อปเรียน

“เพราะคิดว่าการไปโครงการจะทำให้ดิฉันได้อะไรกลับมามากมาย โดยเฉพาะการได้ลองทำงานแบบผู้ใหญ่ ที่โครงการครั้งนี้จะมอบให้เยาวชนแต่ละคนมีหน้าที่ที่รับผิดชอบ ได้บริหารจัดการ อย่างดิฉันเคยเป็นนางรำมาก่อน จะได้รับผิดชอบดูแลการแสดงบนเวทีของไทย ก็ต้องจัดเตรียมตั้งแต่แนวคิด ชุดการแสดง เพลง การขนส่ง หาผู้สนับสนุน รวมถึงต้องทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาต้องเตรียมพร้อมหนักมาก เหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้การเรียนในห้องเรียนดูจิ๊บจ๊อยไปเลย และสุดท้ายอาจทำให้ดิฉันเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยก็ได้”

Advertisement

สุชาวดีฝากน้องๆ ที่อยากมาโครงการว่า ให้ศึกษาโครงการก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นทำการบ้านว่าการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษเขาถามอะไร ตอบอย่างไร ต้องทำพอร์ตฟอลิโออย่างไร ซึ่งจากที่ดูตัวแทนเยาวชนที่เข้ามา นอกจากความรู้พื้นฐานและทักษะทางภาษาอังกฤษที่ต้องได้แล้ว ทุกคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไป

สุชาวดี สมนา

และ น.ส.ดวงใจ ไพโรจน์วราการ หรือปุ๋ย อายุ 24 ปี ครูผู้ช่วยโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล จ.นครพนม ครูรางวัลพระราชทานที่ฝันอยากพลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วยการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อให้นักเรียนสนุกกับการเรียนไปพร้อมๆ กับการค้นหาตัวเอง กล่าวว่า ด้วยมีความฝันอยู่เดิมว่าอยากทำงานด้านภาพยนตร์ ทำให้เรียนรู้และฝึกฝนการทำภาพยนตร์มา พอมาเป็นครูก็ใช้ความสามารถนี้เปิดชุมนุมภาพยนตร์ในโรงเรียน สอนนักเรียนทำภาพยนตร์สั้น สอนแต่งหน้าต่างๆ ตลอดจนใช้เทคนิคภาพยนตร์ในการถ่ายทอดเนื้อหาการเรียนรู้ให้น่าสนใจ อาทิ ทำเพลงแฝงเนื้อหาการสอนลงในยูทูบ อย่างเพลงทิศ 6 ครูดวงใจ มียอดคนเข้าชมจำนวนมาก จนมีคนในโรงเรียนบอกว่าไม่ควรมาเป็นครูเลย จากความสามารถที่มีน่าจะไปทำอะไรที่ดีกว่านี้ ก็เลยตั้งคำถามในใจว่าครูในระบบการศึกษาไทยต้องเป็นอย่างไร ครูต้องอยู่แต่ในกรอบเดิมๆ เหรอ จึงต้องการแสดงให้เห็นว่าครูสมัยใหม่ก็มีความสามารถตั้งใจได้ เป็นครูที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีความสามารถหลากหลาย เพื่อสอนให้นักเรียนมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่ใช่แค่สอนตามสไลด์ให้นักเรียนสอบผ่านเท่านั้น

“ทุกวันนี้ดิฉันมีความสุขกับการสอนมาก ใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาให้สนุก ขณะเดียวกันพยายามทำตนเองให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ อย่างมีอาชีพเป็นครู แต่ไม่ทิ้งความฝันด้านภาพยนตร์ เช่นเดียวกับการมาโครงการนี้ เพื่อต้องการเป็นตัวอย่างให้ครูว่า อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง” น.ส.ดวงใจกล่าวทิ้งท้าย

ดวงใจ ไพโรจน์วราการ

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (2)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image