The Candidate นั่นปะไร! การเมือง : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ในวงจรของการเมืองแต่ละประเทศทั่วโลกย่อมมีทั้งนักการเมืองรุ่นเก่าและ “ผู้มาใหม่” การเข้ามาของคนหน้าใหม่ทางการเมืองจะมี “สูตร” จำนวนหนึ่งที่มักใช้ได้สำเร็จ นั่นคือ หนึ่ง ถ้าไม่เป็นจำพวกบุคลิกโผงผางพูดจารุนแรงจนถูกใจ ก็ต้องเป็นข้อสอง คนหน้าใหม่บุคลิกดีจนผู้คนรู้สึกสัมผัสได้ว่า จะได้สิ่งใหม่ นโยบายใหม่มาล้างมา “เปลี่ยน” ไปสู่สิ่งที่ (น่าจะ) ดีกว่า

ในภาพยนตร์เก่าออกฉายเมื่อปี 1972 หนังเรื่อง The Candidate คว้ารางวัล “บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม” บนเวทีออสการ์ กับเรื่องราวของ บิล แมคเคย์ รับบทโดย โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ทนายความผู้ผันตัวเองมาลงสมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกหน้าใหม่

คำโปรยของโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ก็เขียนออกมาได้คมคาย

“Too Handsome. Too Young.

Advertisement

Too Liberal. Doesn’t have a chance.

He’s PERFECT!”

เวทีการเมืองสำหรับแมคเคย์คือ “คนมาใหม่” ที่อยากจะปรับเปลี่ยน ดังเช่นสโลแกนหาเสียงสั้นๆ ที่ว่า McKay, The Better Way! ความเป็นนักอุดมคติในทางการเมืองทำให้เขาดูสด-ใหม่ และน่าลอง ด้วยภาพลักษณ์คนหนุ่ม ไฟแรง ผนวกกับบุคลิกหน้าตาที่ดึงดูดสายตา แต่การเข้าสู่ถนนการเมืองของแมคเคย์ไม่ได้ง่ายดาย เมื่อมีคู่ชิงเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง

Advertisement

ความสนุกสนานของภาพยนตร์ The Candidate เริ่มตั้งแต่การทำงานของกระบวนการพรรคการเมืองที่มี “แมวมอง” หาผู้ลงสมัครในนามพรรค ไปจนถึงกระบวนการทำงานวางแผนหาเสียงเลือกตั้งที่ถูกวางแผนอย่างรอบคอบ

การดีไซน์คาแร็กเตอร์ของ “แมคเคย์” ที่ให้ภาพลักษณ์คนหนุ่มรุ่นใหม่ และนักอุดมคติที่มุ่งมั่น แขวนป้าย เพื่อขอคะแนนนิยมว่า McKay, The Better Way

รับประกัน “ยังไงก็แพ้” แล้วจะไปกังวลทำไม คุณเป็นอิสระ มีโอกาสได้พูดสิ่งที่อยากจะพูด เป็นเรื่องของคุณกับสาธารณะ นี่มันคุ้มมั้ยล่ะ นั่นคือคำเด็ดที่แมวมองพรรคจีบแมคเคย์ให้ลงเลือกตั้ง

หนังเรื่องนี้พูดถึงแง่มุมการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองไว้ค่อนข้างมาก รวมไปถึงกลไกที่มีส่วนสำคัญอย่างสื่อสารมวลชน ถูกยกเป็นกรณีศึกษาถึง “กระบวนการการเลือกตั้ง” ที่มีองค์ประกอบ ปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ได้พื้นที่จากมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความนิยมของพรรค นโยบายหาเสียง สื่อสารมวลชน รวมทั้งการใช้ “เทคโนโลยี” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ได้อย่างทรงพลัง

ตัวหนังมีบางจังหวะเสียดสีการเมืองผ่านความไร้เดียงสาของ “แมคเคย์” นักการเมืองหนุ่มอายุกลางสามสิบ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อม และการตอบคำถามสื่อ

ไปจนถึงนาทีสุดท้ายของหนังที่เลือกจบแบบทิ้งความงุนงงไว้ให้นักการเมืองหน้าใหม่ ย่อมทำให้เกิดความคิดหลากหลายแง่มุมต่อการเมือง

แต่วงจรการเมือง การเลือกตั้งก็เป็นเยี่ยงนั้น บริบทการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยได้เปิดให้เราได้ลองรสชาติใหม่ๆ ได้เรียนรู้ ได้พบความชอบ ความเกลียด ความถูกใจ ความผิดหวัง ได้วิพากษ์วิจารณ์ ได้ยินเสียงสะท้อนแท้จริง เกิดเสียงดังโฉ่งฉ่าง วุ่นวาย กระจัดกระจาย บางทีก็ยุ่งเหยิง แต่นั่นก็เป็นเนื้อแท้ “แก่นแท้” ที่มองเห็นจับต้องได้มากกว่าความสงบแต่เพียง “เปลือกนอก”

เช่นเดียวกับภาพเคลื่อนไหวภายนอกของหนังการเมืองเรื่องนี้ เบื้องหลังงานสร้างก็สนุกไม่แพ้กัน

โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ผู้รับบท บิลล์ แมคเคย์ คนหน้าใหม่ผู้ท้าชิงทางการเมือง ได้รับการฝึกให้สวมบทบาทเป็นนักการเมืองในจอ สอนให้ขโมยอิริยาบถของผู้คนทางการเมือง ตั้งแต่การสอนให้เขย่ามือกับฝูงชนในหลายอิริยาบถ และแสดงท่วงทีอย่างมอบสัญญากับผู้คนเพื่อคะแนนนิยมข้างหน้า และการเรียนรู้วิธีมอง วิธีสบสายตาของนักการเมืองอาชีพ ที่จะไม่จ้องมองฝูงชนแบบจำเพาะเจาะจงคนนี้หรือคนนั้น แต่พยายามกราดยิ้มและพยักหน้า

ไมเคิล ริชชี่ ผู้กำกับภาพยนตร์ ถึงกับเน้นกับทุกคนในกองถ่ายว่า “ให้จำไว้ว่าเขาเป็นบิล แมคเคย์ ไม่ใช่ซันแดนซ์ หรือโรเบิร์ต เรดฟอร์ด” ซึ่งตัวละคร “ซันแดนซ์” เป็นตัวละครดังและภาพจำที่โรเบิร์ต เรดฟอร์ด สวมบทบาทจากหนังคาวบอยดัง Butch Cassidy and the sundance kid

และเมื่อถึงฉากสุดท้ายของ The Candidate ที่หนังหักมุมกับคนดูพอสมควร เมื่อ “แมคเคย์” พิชิตการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ เขาพูดกับที่ปรึกษาด้วยท่าทีวิตกกังวลและประหม่าต่อชัยชนะว่า “แล้วเราจะทำยังไงกันต่อไปดี”

คนดูหลายคนอาจคิดในใจ “นั่นปะไร!” นี่แหละการเมือง นักเลือกตั้ง

แต่จะรู้สึกแบบนั้นได้จริงๆ “หนังการเมือง” จะดูได้อรรถรสจริงๆ จะเกิดความรัก ชัง สมเพช ด่าทอ ขำขันหัวเราะร่าใส่นักการเมือง นักเลือกตั้งได้เต็มปากแค่ไหนนั้น

เราสามารถทำทั้งหมดที่ว่ามาได้มีน้ำหนักมากพอ เท่ากับที่เรามีประชาธิปไตยมากพอด้วยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image