อึ้ง! ผลสำรวจชี้ครอบครัวไทย 1 ใน 3 ประสบปัญหา ‘ความรุนแรง’ พบภาคใต้เกิดเหตุมากสุด

ความรุนแรง

ผลสำรวจชี้ครอบครัวไทย 1 ใน 3 ประสบปัญหา ‘ความรุนแรง’ พบภาคใต้เกิดเหตุมากสุด

ความรุนแรง – เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมลีลาววดี โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.) กล่าวในการแถลงข่าว “ความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สำรวจระดับประเทศปี 2560 เรื่องความรุนแรงในครอบครัวไทยต่อผู้หญิงและบุคคล ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกของประเทศไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,280 ครัวเรือน

พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุกถึงร้อยละ 34.6 โดยพบภาคใต้มีความชุกความรุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้แบ่งเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจมากที่สุดถึงร้อยละ 32.3 ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 10 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 5 โดยความรุนแรงทางเพศ พบถึงร้อยละ 93 เป็นลักษณะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจหรือข่มขืน และผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว

ศ.นพ.รณชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการรับรู้และการจัดการและการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ร้อยละ 64.4 รับทราบถึงการมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ แต่ร้อยละ 74.3 เลือกใช้ความอดทนในการแก้ปัญหาเป็นหลัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องมากที่สุด รองลงมาเป็นเพื่อน ขณะที่การขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเพียงร้อยละ 16.8

“ที่น่าเป็นห่วงคือ จะพบความรุนแรงทางเพศเยอะขึ้น อย่างข่าวเด็กป.3 ข่มขืนเด็กป.2 ทั้งที่ไม่น่าจะเกิด สะท้อนถึงเจตนคติต่อการตระหนักถึงความรุนแรงยังต่ำมาก ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับประเทศแล้ว” ศ.นพ.รณชัยกล่าว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

Advertisement

 

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศที่น่าเป็นห่วง เพราะผู้กระทำและผู้กระทำอายุต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยไร้ความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยให้ไม่ยอมรับต่อความรุนแรง และต้องไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือภายในครอบครัว แต่ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิและต้องออกมาแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะเข้าควบคุมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเยียวยาผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ที่สำคัญต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว จะต้องสร้างความเข้มแข็ง ไร้ความรุนแรง

ที่ผ่านมา สค.พยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) เพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเอง ให้ความรู้สร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เบื้องต้นจัดทำไปแล้ว 42 พื้นที่ใน 21 จังหวัด และมีเป้าหมายในปี 2562 จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อย่างน้อยควรมีอำเภอละ 1 แห่ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จะมีการเปิดตัวรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และในสังคมทุกรูปแบบ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน  ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงาน ก่อนในวันที่ 25 พฤศจิกายน จะมีการจัดงานเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงจากลานพระประชาบดี พม.ไปถึงลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. ขณะเดียวกันในทุกจังหวัดจะมีการจัดงานรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศเช่นกัน

 

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– อึ้ง! สสส.ชี้ชายยุคใหม่ชอบใช้ความรุนแรง ห่วงเยาวชนหญิงถูกแฟนทำร้ายร่างกายสูง

– สลดสังคมไทย ความรุนแรงทางเพศยังพุ่ง เหล้าปัจจัยกระตุ้นสำคัญ

– จิตแพทย์ส่งข้อความถึงสังคม ‘อย่าปล่อยให้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องของคนในครอบครัว’

– ปัญหาความรุนแรง ครองแชมป์อันดับ 1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image