‘หมึกพิมพ์ลายนูน’ นวัตกรรมไทยเพื่อคนตาบอด

แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไม่หยุดยั้ง การคิดค้นใหม่ๆ ออกมาได้ยังคงเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นนวัตกรรมสำหรับผู้ที่ด้อยโอกาส และเป็นฝีมือการคิดค้นของคนไทยด้วยแล้ว ความชื่นชมยินดีย่อมเพิ่มเป็นทวีคูณ

เหมือนเช่นกรณีของ “หมึกพิมพ์ลายนูน” ผลงานจากการคิดค้นของคนไทยที่นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลกแล้ว สิ่งที่คิดค้นขึ้นยังสามารถช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาให้สามารถเพิ่มพูนความรู้ ขยายขอบเขตการเรียนรู้ออกไปกว้างขวางไม่รู้จักจบสิ้น ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกทำให้ราคาถูกลงจนมีไว้ใช้งานได้ทั่วไปอันเป็นผลของการคิดค้นครั้งนี้

ความสามารถพิเศษของ “หมึกพิมพ์ลายนูน” ก็คือการเป็นหมึกพิมพ์ที่สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ททั่วไป ที่ราคาเริ่มต้นไม่เกิน 2,000 บาท แต่ให้งานพิมพ์ที่มีลักษณะนูนขึ้นมา ให้สัมผัสจับต้องและเรียนรู้ความแตกต่างได้ ซึ่งต่างไปจากหมึกพิมพ์ธรรมดาทั่วๆ ไป

ผลที่ได้ก็คือ ทำให้เราสามารถใช้เครื่องพิมพ์ธรรมดาเหล่านี้ไปพิมพ์อักษรเบรล แทนที่เครื่องพิมพ์อักษรเบรลโดยเฉพาะ ซึ่งราคาเริ่มต้นสูงเป็นเรือนแสนได้ นอกเหนือจากนั้น ผู้พิการทางสายตายังสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ที่พิมพ์โดยใช้หมึกพิมพ์ลายนูนนี้ ไปศึกษาทำความเข้าใจกับอีกหลายสิ่งหลายอย่างได้โดยง่ายดาย อย่างเช่น การเรียนรู้ถึงลักษณะของประเทศใดประเทศหนึ่งบนแผนที่ โดยอาศัยการพิมพ์แผนที่ดังกล่าวออกมาเป็นลายนูนให้สัมผัสได้เป็นต้น

Advertisement

“หมึกพิมพ์ลายนูน” เป็นความคิดริเริ่มของ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย ที่ต้องการเปิดโลกการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาให้กว้างขวางขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งนำแนวคิดเรื่องนี้ไปหารือกับ ดร.นพรัตน์ พฤกษ์ทวีศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในที่สุดก็ได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และคำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จากบริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จนสามารถพัฒนาหมึกพิมพ์พิเศษนี้ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ

สาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ของ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เปิดเผยว่า “หมึกพิมพ์ลายนูน” คือการพัฒนาหมึกพิมพ์ธรรมดาให้มีคุณสมบัติ “พองตัวได้” เมื่อถูกความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้มีความนูนเพียงพอต่อการสัมผัสและรู้สึกได้ถึงรายละเอียดแม้มองไม่เห็น ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้พิมพ์อักษรเบรลบนกระดาษธรรมดาและทดแทนการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์อักษรเบรลที่มีราคาสูงได้ และยังใช้พิมพ์เป็นอักษรปกติ หรือลวดลายอื่นๆ ให้คนตาบอดได้สัมผัสจริงๆ ได้

“ถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่และเป็นการพลิกโฉมการเข้าถึงความรู้ของคนตาบอด โดยเฉพาะผู้ที่ตาบอดแต่กำเนิดและไม่เคยสัมผัสหลายต่อหลายสิ่งที่คนสายตาปกติเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อาทิ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ลักษณะตัวโน้ต หรือแม้แต่ภาพวาดศิลปะ หมึกพิมพ์ลายนูนจะเป็นเหมือนกุญแจที่จะเปิดพาพวกเขาไปยังโลกใบใหม่ที่ช่วยให้พวกเขารับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์แก่การใช้ชีวิตประจำวัน หรือเพื่อการเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ดนตรี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ เป็นต้น”

Advertisement

นวัตกรรม “หมึกพิมพ์ลายนูน” นี้เตรียมนำมาทดสอบการใช้งานในจริงเป็นการนำร่อง ด้วยการให้บริการการพิมพ์แก่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเป็นที่แรก ภายใต้การสนับสนุนอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากไทยซัมซุง โดยในขั้นต้นจะดำเนินการพิมพ์ที่สมาคม ภายใต้การควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

นำ2

ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยอมรับว่ายินดีและประทับใจเป็นอย่างมากที่บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย, ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนคนตาบอด ทางสมาคมเชื่อมั่นว่านวัตกรรม “หมึกพิมพ์ลายนูน” นี้จะช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น และเข้าถึงการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อสามารถพัฒนาตนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมได้เท่าเทียมคนปกติได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ทางภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของธรรมศาสตร์กำลังหาทางร่วมกับบริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน เพื่อจดสิทธิบัตรนวัตกรรมนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image