นักดาราศาสตร์เชื่อ พบ”ดาวเคราะห์ดวงที่9″

ภาพ-Caltech via AFP

หลังจาก “พลูโต” ถูกปลดออกจากการเป็น “ดาวเคราะห์” ในระบบสุริยะของเราไปเมื่อปี 2006 และกลายเป็นเพียง “ดาวเคราะห์แคระ” เราก็ไม่สามารถเรียกบริวารทั้งหลายของดวงอาทิตย์ว่าเป็นดาว “นพเคราะห์” อีกต่อไป (“นพ” คือ 9 “นพเคราะห์” คือดาวเคราะห์ทั้ง 9) เพราะหลงเหลือเพียง 8 ดวง

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยทางด้านดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (คาลเท็ค) นำโดยนักค้นหาดาวเคราะห์ชื่อดังอย่าง ดร.ไมค์ บราวน์ แสดงความเชื่อมั่นว่าค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เป็นดาวบริวารของดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา และทำให้ดาวบริวารทั้งหมดกลายเป็น “นพเคราะห์” ได้อีกครั้ง

ดาวเคราะห์ที่ว่านี้ถูกตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการเอาไว้ในตอนนี้ว่า “แพลเนทไนน์” หรือบางทีก็เรียกว่า “แพลเนท เอ็กซ์” ทีมวิจัยของคาลเท็คคำนวณเอาไว้ว่ามีมวลมากกว่าโลกเราประมาณ 10 เท่าตัว โคจรอยู่รอบนอกสุดของระบบสุริยะ เลยไปจาก “พลูโต” ที่อยู่ในแถบของกลุ่มดาวที่เรียกกันว่า “คีเปอร์เบลท์” หรือแถบคีเปอร์ ออกไปไม่น้อย ที่สำคัญก็คือว่า วงโคจรของ “แพลเนทไนน์” ดวงนี้กว้างใหญ่มากเป็นพิเศษ ชนิดกว่าจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ 1 รอบ ต้องกินเวลาระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ปีเลยทีเดียว

ปัญหาที่ทำให้ “แพลเนทไนน์” นี้ยังเป็นที่กังขาอยู่ก็คือ ทีมวิจัยของคาลเท็คไม่ได้ “ค้นพบ” ดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วยการ “พบเห็น” แต่เป็นการค้นพบจากการสังเกตเห็นดาวดวงอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงเรียงตัวกันแบบผิดปกติ แล้วใช้การคำนวณเพื่อยืนยันว่ามีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณดังกล่าวที่มีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะก่อให้เกิดการเรียงตัวผิดปกติดังกล่าวนั้น

Advertisement

จากการคำนวณอีกเหมือนกันที่ทีมวิจัยเสนอแนะเป็นข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ว่า ดาวเคราะห์ดวงที่ยังไม่มีใครเห็นดวงนี้ โคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์คิดเป็นระยะทางราว 20 เท่าของระยะห่างโดยเฉลี่ยระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ทั้ง 8

ประเด็นที่ว่าระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์ดวงอื่นอยู่นอกเหนือจากที่ค้นพบแล้วหรือไม่ เป็นที่ถกเถียงกันมานับร้อยๆ ปีแล้ว มีการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ๆ อยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ถูก “นิยามของดาวเคราะห์” ที่สหภาพดาราศาสตร์สากล (ไอเอยู) ปัดตกไปว่าไม่เข้าข่ายเป็นดาวเคราะห์

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2005 บราวน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่เป็นพิเศษ เคยอ้างการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ในคีเปอร์เบลท์ (ที่ตอนนั้นถือเป็นดวงที่ 10 ในระบบสุริยะ) ดาวเคราะห์ดวงนั้นได้รับชื่ออย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาว่า “เอริส” จนทำให้มีการตรวจสอบและกำหนดนิยามดาวเคราะห์ใหม่ที่ชัดเจนขึ้นจากไอเอยู ซึ่งส่งผลให้ทั้งพลูโตและเอริส กลายเป็นดาวเคราะห์แคระไปในที่สุดในปีถัดมา

Advertisement

เอริส ที่ ดร.บราวน์ค้นพบนั้นมีขนาดความกว้าง 2,236 กิโลเมตร เข้าใจกันในเวลานั้นว่ามีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อย แต่ข้อเท็จจริงในเวลานี้ก็คือ พลูโตมีขนาดใหญ่กว่าเอริสเล็กน้อยเท่านั้น

ดร.ไมค์ บราวน์ และทีมงานอย่าง คอนสแตนติน แบทีกิน เชื่อมั่นในการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้สูงมาก ถึงขนาดมั่นใจว่าอีกไม่นานกล้องดูดาวขนาดใหญ่ทั้งหลายบนพื้นโลกก็จะสามารถ “เห็น” ดาวเคราะห์ใหม่ดวงนี้ได้และยืนยันการค้นพบของตนในที่สุด

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะถือว่าเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ของระบบสุริยะเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image