ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ‘สื่อลามกเด็ก’ อาชญากรรมใต้ดิน ‘ยุคไซเบอร์’

สื่อลามกเด็ก

เป็นปัญหา “รูปแบบใหม่” ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “ภัยคุกคามทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์” รวมไปถึง สื่อลามกเด็ก

สื่อลามกเด็ก – โดยรายงานจากไทยฮอตไลน์เปิดเผยรายการรับแจ้ง “สื่อลามกอนาจารเด็ก” เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2559 รับแจ้งรวม 640 รายการ เพิ่มเป็น 1,400 รายการในปี 2560

ที่น่าตกใจ คือ รายงานจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า แนวโน้มศูนย์กลางของ “การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านเว็บแคม” กำลังย้ายฐานจาก “ฟิลิปปินส์” มาที่ “ประเทศไทย”!!

ไม่เพียงเท่านั้น เด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ เป็น เด็กทารก!!!

เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ในประเทศไทย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation) จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ต้นแบบสหประชาชาติเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กผ่านออนไลน์ ณ ห้องประชุมชั้น 1 สถาบันทีไอเจ

Advertisement

ทุก 7 นาที พบภาพอนาจารเด็ก

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากสภาพสังคมที่ปรับเปลี่ยนเป็นพลวัต และการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไป

“ที่เห็นได้ชัดคืออาชญากรรม การแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์ (Online Child Sexual Exploitation หรือ OCSE) ซึ่งเป็นอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ ที่มีความรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น เนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์ในสังคมปัจจุบันทำให้อาชญากรอาศัยเป็นช่องทางละเมิดและแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กได้ง่ายขึ้น”

Advertisement

โดยจากรายงานของ Internet Watch Foundation พบว่า ในทุกๆ 7 นาทีในการใช้งานบนโลกออนไลน์ทั่วโลก เราจะพบภาพเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 11-15 ปี จำนวน 43% อายุน้อยกว่า 10 ปี 55% และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น เป็นเด็กทารกจนถึง 2 ขวบ 2%

“เด็กที่เป็นผู้เสียหายได้รับผลกระทบทั้งด้านชื่อเสียง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพัฒนาในทุกๆ ด้าน ในบางกรณี เด็กที่ถูกละเมิดอาจต้องเสียชีวิตหรืออาจต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร”

ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกรอดพ้น เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะ “ข้ามชาติ”

“การแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ในประเทศที่เคยผ่านพ้นปัญหารุนแรงไปแล้ว หรือมีกฎหมายและนโยบายที่พัฒนาไปพอสมควร เพราะอาชญากรรมนี้มีลักษณะปกปิด มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอ” นายอดิศักดิ์กล่าว

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์

“บ้าน” ไม่ปลอดภัยแล้ว

ด้าน นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนด้านสิทธิเด็กของประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก เปิดเผยว่า ปัญหานี้นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หลายคนมองว่า สื่อลามกเป็นแค่ภาพ คนที่ทำสื่อลามกไม่จำเป็นต้องลงโทษ ทั้งที่ความเป็นจริง ทุกภาพไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องมีการข่มขืน และอนาจารเด็กก่อน

“ทุกภาพที่ใช้เด็กเป็นตัวแสดง เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทุกภาพ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน ต่อเมื่อเห็นภาพกระจายในอินเตอร์เน็ตแล้ว และมันจะไม่มีวันหายไป และจะย้อนกลับมาอยู่ในวงจรเสมอ เหยื่อที่ถูกกระทำก็จะเจอภาพนี้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม

“ซึ่งเราไม่สามารถหยุดมันได้ เพราะมันเจริญเติบโตไปกับการพัฒนาต่างๆ ดังนั้น เราจะป้องกันมันอย่างไร” วันชัยตั้งคำถาม

“การที่เอาเด็กมากระทำอนาจาร และผ่านออนไลน์ เมื่อก่อนเรามีบ้านเป็นสถานที่ป้องกัน เรามีพ่อแม่ญาติพี่น้องดูแล ไม่มีใครถึงเด็กได้ ถ้าครอบครัวระวังดี แต่ทุกวันนี้เด็กอยู่ในห้องนอน กลุ่มพวกนี้ก็เข้าถึงตัวเด็กได้แล้ว ปัญหาสำคัญ คือ เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้การป้องกันแบบเดิมไร้ผล และเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะเข้าไปดูว่าเด็กคุยกับใครบ้าง เพราะอาจสร้างความขัดแย้งในครอบครัว

“พวกนี้ไม่ได้ถ่ายรูปอย่างเดียว แต่ทั้งถ่ายรูป คลิป และค้าขายในออนไลน์ เช่น ให้สมาชิกที่จ่ายเงิน ให้ดูการกระทำไลฟ์สด ให้ดูโดยนัดหมายวันเวลา ให้เงินเด็ก พัน สองพัน แต่เขามีรายได้มหาศาลจากตรงนั้น

“อีกทั้งยังมีเครือข่ายที่แนะนำกันได้ว่า ที่ไหนปลอดภัย เช่น อย่าใช้โรงแรม ให้เช่าคอนโด เพราะเป็นที่รโหฐาน จะทำกันเป็นกระบวนการ แนะนำแม้กระทั่งวิธีหนีหากถูกจับกุมด้วย ข้อมูลพวกนี้เป็นเน็ตเวิร์กที่น่ากลัวมาก”

ทั้งยูเอ็น และอาเซียนห่วงใยกันมาก เพราะเป็นการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน

“รูปสามารถส่งได้เสี้ยววินาที แต่ไปทั่วโลก และคนทำสามารถปกปิดตัวเองได้ ขณะเดียวกัน กฎหมายติดข้อจำกัดเรื่องพรมแดน กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกตามไม่ถึง กฎหมายตามไม่ทัน กระบวนการเขตแดนเป็นข้อจำกัด ขณะที่เม็ดเงินจากธุรกิจนี้มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการทำความผิด การติดตามจับก็ยาก ที่ร้ายคือ เมื่อจับได้แล้ว พวกนี้ได้ประกันทุกคน และออกนอกประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย แม้ว่าเราจะมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำอนาจารเด็ก แต่เรายังไม่มีกฎหมายอีกหลายฉบับ”

ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่วันชัยทิ้งท้ายว่า “เราจะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด”

นายวันชัย รุจนวงศ์

แฉพฤติกรรม”หลอกเด็ก”

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ กล่าวว่า กลุ่มเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 2.เด็กที่ถูกชักจูงไปในทางที่นำไปสู่การละเมิดได้ เช่น ชักจูงทางออนไลน์ หรือการเข้ามาทำความรู้จักคุ้นเคยของผู้ต้องหา

“พฤติกรรมเข้าถึงตัวเด็กมีหลายรูปแบบ ทั้งจากทางออนไลน์ พูดคุยผ่านเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ อย่างเคสล่าสุดที่จับได้ คนร้ายเป็นฝรั่ง ก็ใช้วิธีแชตผ่านแมสเซนเจอร์คุยกับเด็ก โดยโปรแกรมแปลภาษาของกูเกิล หรือ Google translate แปลไทยเป็นอังกฤษ ส่วนเด็กก็ใช้แปลจากอังกฤษเป็นไทย”

ไม่หมดเท่านี้ ยังมีอีกหลายวิธี ที่ผู้ปกครองต้องระวังตัว เพราะ “รู้หน้า ไม่รู้ใจ” จริงๆ

ร.ต.อ.เขมชาติเผยว่า วิธีการเข้าถึงตัวเด็กของผู้ร้ายจะใช้การทำยังไงให้เด็กไว้เนื้อเชื่อใจ โดยมากมักอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายๆ เช่น เป็นครูสอนภาษา ครูสอนดนตรี

“บางรายเราเจอว่า บ้านมีสระว่ายน้ำ พาเด็กมาว่ายน้ำ สอนระยะหนึ่ง เด็กเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือบางคนให้เด็กมาเล่นเกม บ้านติดไวไฟสัญญาณไฮสปีด เด็กก็ถูกใจเลือกมาเล่นเกมที่บ้านนี้ อีกทั้งบางคนใช้วิธีแจกขนม บ้านไม่มีเด็กอยู่เลย แต่ในตู้เย็นมีแต่ขนมเด็ก หรือเคสที่เจอที่ภาคเหนือ เป็นอดีตพระสงฆ์ชาวอังกฤษมาสอนนั่งสมาธิเด็ก”

บุคลิกเหมือนรักเด็ก แต่เบื้องหลังมาอนาจารเด็ก โดยผู้ร้ายมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

“ทฤษฎีที่ยังใช้ได้แทบจะทุกรายกับกรณีนี้ คือ ละเมิดทางเพศเด็ก มักเจอสื่อลามกเด็ก” ร.ต.อ.เขมชาติระบุ และว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น เด็กอายุ 9-10 ขวบ ไม่รู้ว่า นี่คือพฤติกรรมผิดกฎหมาย ทำให้ไม่มีเด็กคนไหนมาแจ้งความ และพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้

อีกทั้ง “ดาร์กเว็บไซต์” ที่เผยแพร่ภาพลามกเด็ก ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการปราบปราม เพราะ “ปิดเว็บหนึ่ง ก็มีอีกเว็บหนึ่งเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเรื่องการดำเนินคดีดังกล่าวให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจ โดยยึดเหยื่อเป็นศูนย์กลาง ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย เพราะเป็นเรื่อง “ใต้ดิน”

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องเท่าทันเทคโนโลยี คนร้ายใช้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ในการกระทำผิด เราก็ต้องใช้เทคโนโลยีให้เท่าทัน หลายสิ่งหลายอย่างอยู่ใต้ดิน เป็นดาร์กเว็บไซต์ พวกนี้ เป็นชุมชนของเขา เราจะทำยังไงถึงจะเข้าถึง หรือเข้าไปรวบรวมหลักฐานจากสิ่งที่อยู่ใต้ดินให้ได้ นับเป็นอาชญากรรมที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในยุคปัจจุบัน” ร.ต.อ.เขมชาติทิ้งท้าย

ช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อเด็กที่ไม่ต้องเป็นผู้เคราะห์ร้ายอีกต่อไป

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี

เปิดข้อมูล “อาชญากรรมข้ามชาติ” สุดสะพรึง

จากข้อมูลของ ไมโครซอฟท์ ระบุว่า ทุกๆ 60 วินาที มีการขายและส่งต่อภาพเด็กประมาณ 500 ภาพ และในแต่ละวัน มีภาพได้รับการอัพโหลดและส่งต่อกัน 1.8 ล้านภาพ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเฝ้าระวังการอัพโหลดภาพลามกเด็ก และที่น่าตกใจ ใน 100 ภาพมีประมาณ 4.3 ภาพเป็นภาพเด็กทารก

ซึ่งการล่วงละเมิดเด็กอายุน้อยมากๆ โดยเฉพาะเด็กทารก และเด็กก่อนเข้าสู่วัยรุ่น โดยร้อยละ 64.8 เป็นเด็กหญิงร้อยละ 31.1 เป็นเด็กผู้ชาย และอีกร้อยละ 4.1 เป็นภาพเด็กหญิงและชายอยู่ด้วยกัน

เป็นภัยคุกคามทั่วโลก และทุกประเทศในอาเซียนกำลังประสบกับสถานการณ์ใกล้เคียงกัน

รายงานจาก UNODC ระบุถึงแนวโน้มว่าศูนย์กลางของ “การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านเว็บแคม” กำลังย้ายจากฟิลิปปินส์มาที่ประเทศไทย

ขณะที่ ไทยฮอตไลน์ ระบุว่า ได้รับแจ้งกรณีการการถ่ายทอดสดออนไลน์การละเมิดทางเพศเด็กแบบเรียลไทม์ (ไลฟ์สตรีมมิ่ง) และการแบล๊กเมล์ทางเพศ เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยข้อท้าทายของภูมิภาคอาเซียนด้านนโยบายและกฎหมาย อาทิ

1. ขาดกฎหมายเฉพาะที่ครอบคลุมและสามารถคุ้มครองเด็กและจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรอบด้าน

2. กฎหมายล้าสมัย ไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

3. มีลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเกิดข้อท้าทายต่อการดำเนินคดี

4.ขาดบุคลากร เงินทุน ศักยภาพที่ทัดเทียมกับปัญหา หรือหน่วยงานเฉพาะในการจัดการกับปัญหา

5.ขาดฐานข้อมูล Child Sex Offenders Database ระดับประเทศที่เชื่อมโยงกันของหน่วยงานต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image