‘กำพล จำปาพันธ์’ เคารพมนุษย์ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์

“นาคยุดครุฑ”

เพียงแค่เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้โดย “กำพล จำปาพันธ์” ก็สะดุดตาสะดุดใจอย่างมาก เพราะสิ่งที่ได้ยินมาตลอดผ่านวรรณคดีนับแต่ไตรภูมิเป็นต้นมาคือสงครามระหว่างสองเผ่าพันธุ์นี้ดำเนินไปในลักษณะของ “ครุฑยุดนาค”

กำพล จำปาพันธ์ เป็นนักประวัติศาสตร์หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานเยี่ยมๆ ในวารสารวิชาการระดับชาติอยู่หลายชิ้น เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อเกี่ยวกับการกบฏของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ว่ากันว่าถ้าสนใจศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ลาวในแง่มุมที่เคารพความเป็นมนุษย์ละก็ กำพลคือหนึ่งในนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ควรชวนแลกเปลี่ยน

Advertisement

“จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ลาวเท่านั้นที่ผมสนใจ” เขาเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มกว้าง

“ผมสนใจเรื่องอื่นด้วย เช่น ประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์สากล คือสนใจหลากหลาย อย่างลาวกับอยุธยามีตรงนี้มากหน่อย เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง” เขาอธิบาย

เขามองว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนั้น เป็นเพราะเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน การมองเห็น การเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น คือพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง

Advertisement

“ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์กับลาว แต่รวมถึงชาติอื่นๆ ด้วย มีหลายอย่างมากที่ต้องแก้ไข ถ้าเราต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาติอื่น ต้องเห็นคุณค่าผู้อื่น รู้จักเกียรติ เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

“ไม่ว่าผลจะกลับมาอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าสิ่งที่ปฏิบัติไป มองคนอื่นอย่างไร ก็จะสะท้อนตัวเราเอง การรู้จักให้เกียรติ รู้จักเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ย่อมช่วยให้เรามีจิตใจที่เข้าถึงความดีงามบางอย่าง ไม่ใช่จะมาเที่ยวบอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่พฤติกรรม ความคิด การกระทำต่อคนอื่นที่เขาเห็นต่างจากเรากลายเป็นคนเลวไปเสียหมด เราดีของเราอยู่คนเดียว เป็นนิสัยที่อยู่ร่วมโลกกับคนอื่นยาก” เขาอธิบาย

แนวคิดดังกล่าวคือพื้นฐานความคิดสำคัญที่ทำให้เกิดหนังสือชื่อสะดุดตาอย่าง “นาคยุดครุฑ” ขึ้นมา และความสะดุดตาก็ไม่ได้อยู่แค่ชื่อ แต่รวมไปถึงเนื้อหาที่สะดุดใจ

ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษามุมมอง ความคิดของลาว ความสัมพันธ์ไทย-ลาว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของลาว ผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์ลาวผ่านบทความ 6 ชิ้น กำพลบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองแหล่งอารยธรรมสำคัญอย่างลุ่มแม่น้ำโขงกับเจ้าพระยามีความเหมือนมากกว่าที่คิด และความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเฉพาะคติความเชื่อทางศาสนาที่มีร่วมกัน แต่ส่งผลต่อเหตุการณ์เรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่างกัน รวมถึงมุมมองที่มีต่อกันและกัน

“จุดเริ่มต้นอยู่ที่ว่า เราสามารถรับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ลาวในเชิงสังคมวัฒนธรรมได้จากไหนบ้าง ลาวก็เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่มีเหตุการณ์เรื่องราวมากมาย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด แต่ก็จำเป็นต้องมีภาพรวม ผมเลยย่อยออกมาและนำเสนอผ่านเรื่องของงานเขียนประวัติศาสตร์ เพราะเราจะเข้าใจสภาพสังคมวัฒนธรรมของใครก็ตาม งานเขียนทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่นำเสนอหรือสะท้อนตรงนี้ได้

บทความต่างๆ ในเล่มจึงเกิดขึ้นเพื่อความเข้าใจที่มีต่อตัวตน มุมมอง วิถีความคิดของลาว ลาวกับไทยมีความเชื่อถือคล้ายคลึงกัน แต่มีจินตนาการต่อตนเองและคนอื่นต่างกัน ก็พยายามคิดเฟ้นหาคำอยู่หลายคำจนมายุติที่คำว่า “นาค” กับ “ครุฑ”

“นาค” ที่หมายถึงชนพื้นเมืองเดิม สัตว์ในตำนาน แต่ประเด็นสำคัญคืออยู่ในสำนึกรูปแบบวิธีคิดวิธีมองโลกและสังคมของคนลาว ลาวอธิบายเบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและสังคมด้วย “นาค” นาคคือรูปแบบคำอธิบายทางวัฒนธรรม ส่วน “ครุฑ” ก็หมายถึงสัตว์ในตำนาน ผู้รับใช้เทพชั้นสูงอย่างพระนารายณ์ ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของราชการไทย

ความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำระหว่างครุฑกับนาคก็มีลักษณะโครงเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องของความสัมพันธ์ไทยกับลาวในประวัติศาสตร์ การลุกขึ้นสู้ของลาวต่อไทยในอดีตก็เหมือนนาคที่ยุดครุฑ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ เพราะถ้าอ่านชาดกจะพบว่านาคทำร้ายครุฑจนถึงแก่ความตาย เกือบสิ้นเผ่าพันธุ์ได้

ดังนั้น ไม่มีใครเหนือกว่าใคร นาคที่ดูด้อยกว่าก็สามารถปรับเปลี่ยนสถานะบทบาทได้ การมองจากมุมของคนอื่น มีประโยชน์ในแง่ที่ฝึกฝนตัวเราให้รู้จักเข้าใจผู้อื่น ถอยห่างจากอคติ เห็นคนเป็นคนเท่ากัน

ถึงอย่างไรเราก็ต้องรู้จักเรียนรู้และเข้าใจวิถีของคนอื่น ที่อาจมีทั้งเหมือนทั้งต่างจากเรา แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่าง นั่นไม่สำคัญเท่าเราสามารถรับรู้และเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็นของเขาจริงๆ” กำพลอธิบาย

กำพลยังเล่าด้วยว่า ในแง่สังคมวัฒนธรรม ลาวเป็นชาติที่ใกล้เคียงกับสยาม-ไทยมากที่สุดแล้ว แต่ความใกล้เคียงกันนั้นกลับถูกตีความในลักษณะว่า ลาวเป็นน้อง ไทยเป็นพี่ หรือบ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งเขามองว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะนอกจากลาวไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว ยังเป็นเรื่องประหลาดที่นำอารยธรรมที่มีมาก่อนหน้าตนเองเป็นเวลานานอย่างนั้นมาเรียกเป็น “น้อง” และอารยธรรมที่เกิดทีหลังมาเรียกเป็น “พี่” ทั้งที่ประวัติศาสตร์ชาติของลาวนับย้อนหลังไปไกลกว่าไทยมาก แต่นั่นเป็นผลจากลัทธิชาตินิยมในการเขียนประวัติศาสตร์ ที่พยายามลากเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นของชาติหมด

“การมองชาติอื่นอย่างดูถูกดูแคลนเป็นลักษณะวิธีคิดของชาตินิยมในหลายประเทศ ปัจจุบันไทยเราหนักหน่อย เพราะความคิดที่ครองอำนาจเป็นความคิดอย่างเดียวกับสมัยสงครามเย็น ซึ่งโลกเขาไปถึงไหนแล้ว อย่างเรื่องเจ้าอนุวงศ์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย พระราชพงศาวดารเขียนบันทึกไว้แย่ขนาดหนักอย่างไร ก่อนนี้งานเขียนประวัติศาสตร์ลาวหลายชิ้นก็อิงตามข้อมูลของฝั่งไทย แต่คนละมุมกัน ไทยมองเป็นกบฏลาวมองเป็นวีรบุรุษ เรื่องราวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้เกิดก่อนรัฐชาติ เมื่อเอามาจัดจำแนกประเภทผ่านผลประโยชน์เรื่องชาติก็เกิดปัญหาแบบนี้ แต่ในปัจจุบันหากใครมีโอกาสเดินทางไปลาวทางด้านหนองคาย จากสะพานมิตรภาพฝั่งไทยไป ไปบริเวณสวนสาธารณะของอีกฝั่งโขงจะพบอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่าน ในรูปหันพระพักตร์มายังฝั่งไทย ยื่นพระหัตถ์เหมือนจะขอเช็กแฮนด์กับฝั่งไทย ย้อนกลับมาฝั่งไทย จะพบความย้อนแย้งอีกอย่าง

หรืออนุสาวรีย์ปราบฮ่อที่พยายามถ่ายทอดเรื่องราวสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าครั้งหนึ่งไทยเคยยกทัพไปช่วยลาวจัดการอริศัตรูอย่างฮ่อนะ ซึ่งเราลองคิดดูว่า อนุสาวรีย์ในลักษณะนี้ส่งเสริมความสัมพันธ์ความเข้าใจอันดีต่อกันหรือไม่ จริงๆ สงครามปราบฮ่อคือสงครามที่สยามเข้าไปแย่งชิงดินแดนอ้างสิทธิต่างๆ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามา นี่กลายเป็นผู้ถูกกระทำแสดงไมตรี แต่อีกฝ่ายเลือกที่จะลำเลิกไม่รู้จัก อดีตก็คืออดีต แต่เรามักไม่สามารถแยกอดีตออกจากปัจจุบัน”

แต่ในอีกแง่หนึ่ง กำพลก็ยอมรับว่าไทย-ลาวมีความพยายามปรับสัมพันธ์มาตลอด เพียงแต่เป็นการปรับด้านเศรษฐกิจ มีความร่วมมือทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การบริการ แต่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเขียนประวัติศาสตร์ และปัจจุบันมีวาทกรรมใหม่ที่มองว่า “ลาวคือแบตเตอรี่ของไทย”

“อย่างเขื่อนในลาวทุกวันนี้ปั่นกระแสไฟจ่ายมาไทยเยอะมาก ทำให้ลาวมีอำนาจต่อรองกับไทยมากขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันลาวเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การมองลาวว่าเป็นเหมือนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะพลาดอย่างมหันต์ คนรุ่นใหม่ของลาวได้เรียนภาษาอังกฤษมาก เราจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับลาวใหม่นี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่ไปยึดติดอยู่แต่กับลาวเก่า แล้วพยายามหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการสร้างความสัมพันธ์อันดี”

กำพลบอกว่า ส่วนตัวแล้วเขายังตอบได้ไม่ชัดว่าจุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน แต่ไม่ใช่แบบในหนัง “สะบายดี หลวงพะบาง” แน่นอน

เพราะนี่คือความจริงที่ไม่ใช่เรื่องเล่าโรแมนติก

“อย่างที่ครุฑอยากให้เป็น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image