‘นาซา’ เล็งพัฒนา เครื่องบิน’ซีรีส์เอ็กซ์’รุ่นใหม่

(ภาพ NASA)

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เพียงรับผิดชอบในด้านการบริหารจัดการการสำรวจอวกาศของประเทศเท่านั้น ยังรับผิดชอบในการผลักดันให้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการบินขึ้นอีกด้วย เพิ่งจะประกาศแผนงานในการพัฒนาเครื่องบิน “เอ็กซ์” รุ่นใหม่ขึ้นภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเตรียมใช้แผนพัฒนาดังกล่าวนี้เป็นเครื่องมือในการเร่งให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีสะอาดหรือกรีนเทคโนโลยี และนำไปประยุกต์ใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมการบินในอนาคต ตามแนวความคิดริเริ่ม “เส้นขอบฟ้าการบินใหม่” ของนาซานั่นเอง

ในอดีตที่ผ่านมา เครื่องบินซีรีส์ “เอ็กซ์” ที่นาซาผลักดันให้เกิดขึ้นมักเป็นเครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย สร้างสถิติแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

เครื่องบิน “เอ็กซ์-1” ที่พัฒนาขึ้นภายใต้การผลักดันของนาซา และบินโดย ชัค เยเกอร์ เมื่อปี 1974 ทำสถิติเป็นเครื่องบินลำแรกที่สามารถทำความเร็วได้ในระดับเหนือกว่าความเร็วเสียง นอกจากนั้นเครื่องบิน อื่นๆ ในซีรีส์เอ็กซ์นี้ก็มีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเช่นเดียวกัน ด้วยการแสดงให้เห็นศักยภาพของเครื่องบินแบบสเว็ปท์ วิง, แรมเจ็ต, เครื่องบินที่สามารถขึ้นลงได้ในแนวดิ่ง และอื่นๆ

เครื่องบินลำล่าสุดในซีรีส์เอ็กซ์ ก็คือ เอ็กซ์-56 ซึ่งผลิตออกมาเมื่อปี 2013 และอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อไต่ระดับความสูงที่สูงที่สุด และมีขีดความสามารถในการบินต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในบรรดาเครื่องบินประเภทไร้นักบิน (ยูวีเอ)

Advertisement

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานาซาเพิ่งให้สัญญาแก่ล็อคฮีดมาร์ติน ยักษ์ใหญ่ในวงการออกแบบและผลิตเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้พัฒนาเครื่องบินที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง หรือซุปเปอร์โซนิค โดยกำหนดให้สามารถผลิตเครื่องบินต้นแบบเพื่อทดสอบได้ภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้ เครื่องบินลำนี้จะเป็นเครื่องบินที่ใช้เพื่อการทดลองเทคโนโลยี “ไควเอต ซุปเปอร์โซนิค เทคโนโลยี” หรือ “คิวเอสเอสที” อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้เพื่อลดการเกิดโซนิค บูม ที่ทำให้เครื่องบินโดยสารแบบซุปเปอร์โซนิค ไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นทั่วโลก

ทั้งนี้การที่นาซาเน้นให้ความสำคัญในการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีในการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะสร้างอิทธิพลในระยะยาวซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกลดการพึ่งพาน้ำมันจากฟอสซิลลง พร้อมกับที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดน้อยลงพร้อมกันไปด้วย

นอกจากนั้น ในกรณีที่น้ำมันเชื้อเพลิงได้รับการคาดหมายว่าจะมีราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต เรื่องนี้ก็เท่ากับช่วยทั้งอุตสาหกรรมการบินและผู้โดยสารไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image