Fahrenheit 11/9 การกลับมาเปิดโปงแหลก แหกกันถ้วนหน้าการเมืองสหรัฐ ด้วยฝีมือ “ไมเคิล มัวร์” คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

หลังเคยสร้างชื่อระดับโลกกับหนังสารคดีเปิดโปง และต่อต้าน “จอร์จ บุช” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่โยงใยกับครอบครัวบิน ลาเดน หลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรด 11 กันยายน จากภาพยนตร์สารคดี “Fahrenheit 9/11” จนได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ พร้อมกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ถ้วนหน้า

ขณะที่อีกผลงานการันตีความเป็นนักทำหนังสารคดีสายตรวจสอบ และฉีกหน้ารัฐ-สังคมอเมริกันของ “ไมเคิล มัวร์” ยังนำพาให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาหนังสารคดียอดเยี่ยมจากเรื่อง “Bowling for Columbine” ที่มีเนื้อหาจากเหตุการณ์กราดยิงหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ โยงใยกับธุรกิจปืนในสหรัฐมาแล้ว

US filmmaker Michael Moore arrives for the premiere of “Fahrenheit 11/9” at the Samuel Goldwyn theatre in Beverly Hills, California on September 19, 2018. (Photo by VALERIE MACON / AFP)

ในวัย 64 ปี นักทำหนังสารคดีจอมเสียดสี ปล่อย “หนังสารคดีการเมือง” เรื่องล่าสุดของเขา “Fahrenheit 11/9”

ช่างเป็นเรื่องตลกร้ายที่เลขคู่นี้สลับกันจากหนังเรื่องก่อน เพราะ “มัวร์” ถือเอาวันที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2016 (11/9) คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ที่จะย้อนไปสำรวจปัญหาการเมืองในประเทศประชาธิปไตยแห่งนี้ ที่เขามองว่า “หายนะ” แล้ว

Advertisement

เมื่อแตะของร้อนอย่างการทำหนังสารคดี “การเมือง” แน่นอนว่าบรรดากระแสที่ตามมาจากคนดูนั้นก็ดุเดือดเช่นกัน

ผนวกด้วยเอกลักษณ์อันชัดเจนของเขาคือ เป็นนักทำหนังที่ “แสดงจุดยืน” “ทัศนคติ” และ “มุมมอง” ของตัวเองแบบชัดเจนไม่มีกั๊ก คนดู Fahrenheit 11/9 จึงได้รับสารที่อยากจะประกาศเจตจำนงทางการเมืองจาก “ไมเคิล มัวร์” เต็มๆ

นั่นจึงนำมาสู่ความเห็นที่น่าสนใจของผู้ชมหลังดูจบ โดยเฉพาะคนดูชาวสหรัฐ ประเภทคอการเมือง ทั้งหลาย ตั้งแต่กลุ่มหัวเอียงขวา เอียงซ้าย ต่างมีมุมมองนานาทรรศนะ และยังมีคำวิจารณ์ต่อตัวหนังสารคดีที่มาทั้งจากผู้เห็นด้วย เห็นแย้ง ตั้งข้อสงสัย ตกใจกับชุดข้อมูลในหนัง กลุ่มฐานเสียงพรรครีพับลิกันก็ด่าเนื้อหาในหนังสารคดีว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ และแม้แต่แฟนคลับของ “พรรคเดโมแครต” ก็แทบรู้สึกใจสลายจากสิ่งที่เห็นในหนัง

Advertisement

ใครที่ดูตัวอย่างหนัง “Fahrenheit 11/9” แล้ว อาจเข้าใจว่า “ไมเคิล มัวร์” กำลังพุ่งเป้าชำแหละ “ทรัมป์” แบบไม่ต่างจาก “จอร์จ บุช” จากพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกัน

แต่หนนี้เขาไปไกลกว่านั้น…

หนังสารคดีเริ่มต้นเล่าด้วยความมั่นใจต่อการวิเคราะห์ของ “ไมเคิล มัวร์” ก่อนหน้า ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแล้วว่า ถึงอย่างไร “ทรัมป์” ก็จะชนะเลือกตั้ง ไม่ว่านโยบายหาเสียงจะดูกดขี่ แบ่งแยกการปกครอง ไร้สาระ วายร้าย เอาใจทุนใหญ่ หรือไม่น่าจะเป็นที่นิยมชมชอบในสายตาผู้คนหมู่มากแค่ไหน ไม่ว่าบรรดาเซเลบริตี้ผู้สนใจการเมือง นักวิเคราะห์การเมือง คอลัมนิสต์ สื่อดัง จะประสานเสียงว่า “ทรัมป์” ไม่มีโอกาสชนะ

แต่ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2016 ทั้งสหรัฐอเมริกาและทั้งโลกก็ต้องยอมรับผู้นำคนใหม่ที่มีบุคลิกและทัศนคติสุดล่อแหลม เต็มไปด้วยข้อน่ากังขาหลายอย่างได้เข้าสู่บริบทการเมืองสหรัฐแล้ว

หลายคนอาจคิดว่านั่นคือ จุดเริ่มต้นของ “วันหายนะ” เมื่อ “ทรัมป์” ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบขาวได้ แต่ใน “Fahrenheit 11/9” ไมเคิล มัวร์ บอกว่า “จุดเริ่มต้นของหายนะที่แท้จริง” ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาแรมปี และอันที่จริงฝังรากลึกมานานแล้ว จนทำให้ประเทศนี้ (สหรัฐอเมริกา) มี “หลายหน้า” มากเกินไป

ในหนังสารคดี เขาเสนอมุมมองที่เข้มข้นของตัวเองว่า โดยพื้นฐานสหรัฐคือประเทศเสรีนิยม ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความลิเบอรัล โดยอ้างถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ด้านสิทธิพลเมือง การเคลื่อนไหวของคนยุคบุปผาชน แต่เพราะระบบการเมืองสหรัฐได้สร้างนิยามบางอย่างที่ “ลวงตา” ว่าเราคือ “ประเทศประชาธิปไตย” แต่แท้จริงแล้วในเบื้องหลังการเมือง “ไมเคิล มัวร์” ตั้งคำถามว่า เราอาจอยู่ในภาวะ “มีประชาธิปไตยน้อยลง” อยู่หรือไม่? หรือที่จริงมันไม่มีอยู่จริง!?

ไฮไลต์สุดคือ หวังอะไรไม่ได้กับ “นักการเมืองรุ่นใหญ่” ของทั้งพรรค “รีพับลิกัน” และ “เดโมแครต”

“ไมเคิล มัวร์” นำเสนอมุมมองของเขา ผ่านหนังเรื่องนี้ ถึงความ “ไม่มีตัวเลือก” ของรีพับลิกันที่ส่งให้ “ทรัมป์” ได้เป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในขณะที่พรรคเดโมแครต ถูกจวกถึงความ “หลงผิด” ที่พรรคไม่สนับสนุน “เบอร์นี แซนเดอร์ส” นักประชาธิปไตยสังคม ลงแข่งขัน แต่กลับเลือก “ฮิลลารี คลินตัน” ที่มีสภาพเป็นตัวแทน “ทุนใหญ่” ที่ไม่ได้แตกต่างจากรีพับลิกันเลย

หนังสารคดีการเมืองของเขาเริ่มนำเสนอตั้งแต่ความอ่อนด้อยของระบบการเมืองสหรัฐ ที่เขาขุดมาตั้งแต่ความเชื่อมั่นใน “รัฐธรรมนูญอันฉาบฉวย” ด้วยถ้อยคำบรรยายเสียงในสารคดีอย่างประชดประชัน ไปจนถึงความน่าเคลือบแคลงของสื่อสารมวลชนระดับชั้นนำ

จากนั้นการเรียงร้อยเรื่องราวย้อนหลังจึงเกิดขึ้นผ่าน “3 เหตุการณ์” นั่นคือ วิกฤตน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วที่เมืองฟลินท์ ในรัฐมิชิแกน เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนที่รัฐฟลอริดา และเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ประท้วงเรียกร้องสวัสดิการของครูมัธยมจาก 55 รัฐ

ทั้ง 3 เหตุการณ์ ถูกละเลยและบกพร่องจากการบริหารงานโดยรัฐบาลท้องถิ่น ที่อยู่ในยุครัฐบาลโอบามา ความขมขื่นและเจ็บช้ำน้ำใจ ทำให้ผู้คนที่เคยเป็นฐานเสียงละทิ้งการสนับสนุนพรรค ไปสู่โหมดนิ่งเฉยทางการเมือง ด้วยตัวเลขผู้ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวนสูงมาก

สิ่งเหล่านี้คือ แรงส่งให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะ “ฮิลลารี คลินตัน”

และเมื่อถึงจุดนี้ การเมืองถึงทางตัน หนังของเขาพาไปดูภารกิจของประชาชนที่ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสิทธิทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ที่มีบทบาททั้งการเมืองภาคประชาสังคม และการเข้ามาสู่การเมืองจริงผ่านการเลือกตั้ง

ในแง่อรรถรสของการรับชม มือทำหนังสารคดีระดับรางวัลใช้การเล่าเรื่องที่น่าสนใจผ่านการตัดต่อ ดนตรีประกอบ และน้ำเสียงของเขาในหนังอย่างทรงพลัง เพื่อโน้มนำทางอารมณ์ต่อคนดู บางฉากทั้งตลกร้ายจนคนดูต้องส่งเสียงหัวเราะในลำคอ บางฉากหดหู่ทำให้เราน้ำตาซึม และบางฉากก็สร้างความหวังและพลังใจที่จะลุกขึ้นต่อสู้แบบที่ “ไมเคิล มัวร์” ต้องการส่งสาร

หากมีใครสักคนที่รังเกียจความเห็นแบบ “ครึ่งๆ กลางๆ ทางการเมือง” นั่นคือ “ไมเคิล มัวร์”

หนังสารคดีของเขา “ไม่ประนีประนอม” ที่จะอยู่จุดกึ่งกลางของการเมือง เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบของเขา และไม่ใช่สิ่งที่อยากจะบอกในหนังสารคดีการเมืองเรื่องนี้อย่างแน่นอน

“Fahrenheit 11/9” คือการส่งสารออกมาให้ “สะเทือน”

แม้จะถูกซัดด้วยข้อหาหนังชวนเชื่อ แต่เอาเข้าจริง “ไมเคิล มัวร์” กำลังบอกเราว่า ถ้าคุณชอบ คุณจะเห็นหนังสารคดีเรื่องนี้ในมุมของการ “ลุกขึ้นทวงสิทธิของประชาชน” และอยากสนับสนุน “คนรุ่นใหม่” ให้มาล้างระบบการเมืองเก่าๆ

และถ้าคุณไม่ชอบมัน ก็แค่ด่า แล้วอยู่กับรัฐบาล “ทรัมป์” สมัยสองไปได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image