(ว่าที่) แพทย์รุ่นใหม่! นักเรียนทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

(ว่าที่) แพทย์รุ่นใหม่! นักเรียนทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2561 ทั้งหมด 5 ราย จากผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 21 ราย 9 สถาบัน อาทิ

ผู้ผ่านการคัดเลือกได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2561

บอนด์ – กัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์ อายุ 23 ปี น.ศ.แพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลเกียรติคุณประกาศในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย และด้วยความสามารถในเชิงฟิสิกส์นี้ทำให้เขาสนใจเกี่ยวกับ “การพัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับคัดกรองโรคต้อหินโดยอาศัยอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริง (Virtual reality headset) และระบบคอมพิวเตอร์สำหรับวิเคราะห์ฐานข้อมูลของผู้ป่วยต้อหิน” ซึ่งจะเป็นต้นแบบของระบบคัดกรองโรคตาแบบอัตโนมัติในอนาคต

“ต้อหินเป็นโรคที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้จะไม่แสดงอาการจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย จึงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะตาบอดที่รักษาไม่ได้ ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผมมีความชื่นชอบเรื่องฟิสิกส์ตลอดจนสนใจเกี่ยวกับการสร้างโปรแกรม การพัฒนาเครื่องมือ จึงอยากไปศึกษาระบบการทำงานและการพัฒนาอุปกรณ์ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาวางรากฐานระบบคัดกรองโรคต้อหิน ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาไม่สูง สามารถกระจายไปสู่โรงพยาบาลในชุมชนได้ คาดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดจำนวนผู้ป่วยตาบอดได้” กัญจน์พัฒณ์กล่าว

บอนด์ – กัญจน์พัฒณ์ เตมหิวงศ์

ด้าน แจ๊ค-จารุพงษ์ แสงบุญมี อายุ 28 ปี น.ศ.แพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีความสนใจในด้านงานวิจัยมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็ง ที่มีดีกรีเป็นตัวแทนนักวิจัยรุ่นเยาว์ของไทย เข้าร่วมประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ณ เมืองลินเดา เยอรมนี ในปี 2556

Advertisement

ทั้งนี้ จารุพงษ์สนใจไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกาในเรื่อง “บทบาทของโปรตีน Cyclins และ Cyclin dependent ในสภาวะกลูโคสสูงในโรคเบาหวานเพื่อศึกษาแนวทางการใช้โมเลกุลเป้าหมายในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี” ด้วยอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสูงที่สุดในโลก

“งานวิจัยที่เห็นอิมแพ็คสูงๆ ส่วนมากก็จะเป็นงานวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์จะถูกนำไปใช้ได้ค่อนข้างรวดเร็ว และผมเติบโตมาในต่างจังหวัด เห็นคนป่วยที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งเยอะเหมือนกัน รวมถึงคุณปู่ของผมด้วย จึงคิดว่าปัญหาเรื่องโรคมะเร็งที่มีอยู่ในบ้านเราควรถูกแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยที่ผมพอจะช่วยได้ แต่กระนั้นต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลโลยีทางด้านการแพทย์ของเราอาจจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่ในด้านความรู้ความสามารถของคนไทยเราเทียบได้ในระดับโลก ผมจึงอยากไปศึกษาเรียนรู้กระบวนการวิธีคิดที่จะนำมาใช้ในวงการแพทย์ที่ไทยและสร้างเครือข่ายงานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อไป” จารุพงษ์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

แจ๊ค-จารุพงษ์ แสงบุญมี

ปิดท้ายด้วย ว่าที่แพทย์หญิง ไบร์ท-พิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์ น.ศ.แพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สนใจในเรื่อง “การคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานโดยการวิเคราะห์เสียงผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์” เนื่องด้วยมีผลการศึกษาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลต่อเส้นเสียงในการสร้างลักษณะคลื่นเสียงที่ต่างออกไป จึงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดเป็นแอพพลิเคชั่นมือถือที่เพียงส่งเสียงแล้วสามารถวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองโรคเบาหวานในกลุ่มผู้ที่กลัวเข็ม และเข้าถึงพื้นที่ขาดแคลนบุคลากรได้ด้วย

Advertisement
ไบร์ท-พิชชาทร ศุภกิจจานุสันติ์

ทั้งนี้ ว่าที่คุณหมอคนสวย ตั้งใจไปศึกษาระบบการเขียนโปรแกรม และระบบปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกาเพื่อให้แอพพลิเคชั่นเกิดขึ้นได้จริง ด้วยในขณะนี้ก็มีความพร้อมแล้วถึง 80% เพราะมีผลการศึกษาสนับสนุน ประกอบกับความสามารถด้านไอทีของเธอก็ไม่ธรรมดา เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน เวิลด์ โรโบคัพ 2011 ที่ประเทศตุรกีมาแล้ว

“การเป็นแพทย์คือการช่วยคนซึ่งอาจจะช่วยได้ทีละรายๆ ไป แต่เมื่อนำความสามารถที่มีด้านการเขียนโปรแกรมมาร่วมกับงานวิจัยหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เราช่วยคนได้เยอะขึ้น เวลาที่เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วย และญาติที่มาเฝ้า เห็นคนไข้ได้กลับบ้านมันคือของขวัญสำหรับเรา ทำให้มีความสุข และมีกำลังใจในการทำงานตรงนี้ต่อไป” พิชชาทรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image