Hello เซเลบ…รู้ลึก ‘วงใน’ วงการอัญมณี ‘2 ซีอีโอ’ แห่ง จัสมิน กรุ๊ป

จัสมินกรุ๊ป

Hello Celeb วันนี้ พาไปรู้จักกับ 2 พี่น้อง ผู้บริหารแบรนด์ อัญมณี สัญชาติไทย จัสมิน กรุ๊ป ที่กำลังมาแรงน่าจับตามอง 

อัญมณี – เป็นผู้บริหารเจเนอเรชั่น 2 ที่เข้ามาสานต่อ “จัสมิน จิวเวลรี่ กรุ๊ป” แบรนด์เครื่องประดับ สัญชาติไทยที่ต้องเรียกว่า “รุ่นใหม่ไฟแรงเฟร่อ”

เพราะ “คิดข้ามชอร์ต” ต่อยอดธุรกิจ จากรุ่นคุณพ่อที่ทำธุรกิจแบบเวิร์ด ออฟ เมาธ์ (word of mouth) ดีแล้วบอกต่อ ไปสู่การคิดใหญ่ (Think Big) ขยายสาขา “แบรนด์จัสมิน” ที่มีประวัติมายาวนานถึง 50 ปี ให้ “โกอินเตอร์” ไปต่างประเทศทั่วทุกประเทศในเอเชีย

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ กอล์ฟ-ภาณุวัฒน์ และ ภา-โสภาพรรณ ทรัพย์มณีอนันต์ ก็มองว่าเป็นความ “ท้าทาย”

โดยทั้งคู่ได้เปิด “บ้านหรู” ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายริมทะเลสาบย่านบางนาตราด ให้มติชนเข้าพูดคุย

Advertisement

กอล์ฟ-ภาณุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จัสมิน จิวเวลรี่ กรุ๊ป จำกัด ในวัย 37 จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

เป็น “หนุ่มมาดแมน” แต่มาจับงานด้านของสวยๆ งามๆ ภาณุวัฒน์บอกว่า แม้โปรดักต์จะดูเป็นผู้หญิง แต่ในแง่ของกระบวนการผลิต ไม่อ่อนหวานเท่าไหร่

“ธุรกิจนี้ไม่ได้อ่อนหวาน แต่ต้องใช้ความแข็งพอสมควร อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์ และความคุ้นเคย ซึ่งไม่มีโรงเรียนสอน แต่ผมคุ้นเคยและเติบโตมากับธุรกิจนี้ตั้งแต่เด็กๆ อีกทั้ง จิวเวลรี่ยังเปิดโอกาสให้ผมได้พบปะและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของผู้คนมากมายจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ รวมไปถึงนักลงทุนอิสระ ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จในสายงานตัวเองทั้งสิ้น จิวเวลรี่จึงน่าสนใจสำหรับผม”

ขณะที่ ภา-โสภาพรรณ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท จัสมิน จิวเวลรี่ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารอายุยังน้อยในวัย 28 ปี จบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญาโทบริหารธุรกิจ สาขานวัตกรรมและเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนมาจับธุรกิจของครอบครัว โสภาพรรณได้ลองทำงานในสายงานต่างๆ หลายรูปแบบ ทั้งเอเยนซี่โฆษณา นิตยสาร งานวิชาการ การตลาด จนเมื่อเรียนจบปริญญาโท เธอก็มีโอกาสทำงานในร้านจิวเวลรี่ ที่สหรัฐอเมริกา และจากตรงนี้ ทำให้เธอค้นพบว่า “เธอมีความสุขและสนุกมาก” กับงานนี้

“นั่นเองทำให้ภาค้นพบว่าเรารักและชื่นชอบด้านสายจิวเวลรี่จริงๆ ไม่ใช่เพียงเพราะความเคยชิน” น้องนุชสุดท้องของบ้านเผย

“จิวเวลรี่ไม่ได้เป็นแค่สิ่งของสำหรับประดับตกแต่ง แต่เสน่ห์ของจิวเวลรี่ อยู่ที่การได้ค้นหาตัวตนของผู้ที่เข้ามาในร้าน ทุกการกระทำตั้งแต่การยิ้ม สวัสดี จนไปถึงพูดคุยของลูกค้า ล้วนมีส่วนในการออกแบบจิวเวลรี่ให้เหมาะกับบุคลิกของคนนั้นๆ เปรียบเหมือนการที่เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จิวเวลรี่จึงมีเสน่ห์ดึงดูดที่น่าหลงใหลเมื่อเข้ามาได้สัมผัส”

ไม่ได้บริหารงานแค่ 2 คน แต่ยังมีพี่น้องอีก 2 คนที่ร่วมบริหารด้วย และเมื่อ 4 พี่น้อง มารวมตัวกัน การทำงานเลยต้อง “แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน” เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่

“ตรงนี้จะทำให้เอฟเฟ็กต์ระหว่างพี่น้อยลง” ภานุวัฒน์เผย

โสภาพรรณ
ภาณุวัฒน์

ตลอด 3 ปีที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว จัสมิน กรุ๊ป เติบโตขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% และขยายสาขาอีก 3 สาขา จากเดิมที่มีหน้าร้านที่โรงแรมดุสิตธานี ขยายไปที่ ดิ เอ็มโพเรียม, โรงแรมอนันตรา และล่าสุด สาขาทาคาชิมายะ ไอคอนสยาม

นอกจากนี้ ยังเพิ่มดีไซน์ความสวยงาม และแพสชั่นลงไปในโปรดักต์ เพราะยุคนี้ กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ “อายุน้อยลงเรื่อยๆ” และลูกค้า “จ่ายง่าย” ขึ้น

“เดี๋ยวนี้ ไอโฟนครึ่งแสนแล้ว และยังผ่อน 0 เปอร์เซ็นต์ 10 เดือน ทุกคนจ่ายแล้วเรียบร้อย หรือเมื่อก่อนกินข้าวหัวละ 1,000 แพงมาก เดี๋ยวนี้หัวละหมื่น-สองหมื่นก็มี เครื่องบินอีโคโนมีคลาสไม่เต็ม แต่เฟิร์สต์คลาส กับบิซิเนสคลาส เต็มไปแล้ว” พี่ชายคนโตเล่าถึงเทรนด์การจับจ่ายใส้สอยของคนยุค 4.0

“เทรนด์ยุคนี้ คนจะจ่ายกับประสบการณ์เยอะขึ้น และคนก็คุ้นเคยก็การจ่ายมากกว่าการออม ไม่เหมือนยุคพ่อแม่เราที่มี 80% ออมก่อน แต่สมัยนี้ใช้ก่อน ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เราพยายามตอบโจทย์กลุ่มนี้ สินค้าของเราสตาร์ตหลักหมื่น ลูกค้าถามว่า ทำไมเพชรถูก จริงๆ ไม่ได้ถูก แต่คุณชินกับตัวเลขที่เฟ้อขึ้นต่างหาก สร้อยข้อมือเพชรราคา 2-3 แสน ลูกค้าไม่ตกใจ กลายเป็นซื้อง่ายขึ้น เพียงแต่เราต้องรอนานขึ้นเท่านั้นเอง”

โดยเหตุผลที่ต้อง “รอนาน” เพราะ…

“มีเงินก้อนแรก จิวเวลลียังไม่ได้ ต้องรอเค้าซื้อนาฬิกา สมาร์ทโฟน รถหรู บ้าน คอนโดฯ ไปเที่ยว อะไรมาก่อน แล้วค่อยหันมาว่า แล้วจะแต่งตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ต้องรอนานขึ้น แต่ไม่ยากที่จะปิดการขายหลักแสน”

โสภาพรรณ ทรัพย์มณีอนันต์ ให้คำแนะนำกับลูกค้าที่เข้ามาภายในร้านอย่างเป็นกันเอง
เพชรรูปทรงต่างๆที่สะท้อนถึงลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันของเจ้าของ

แม้จะนำการบริหารแบบคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ก็ยังเก็บ “ข้อดี” ในการทำงานแบบคนรุ่นเก๋าไว้ด้วย

“คุณพ่อจะย้ำเรื่องลูกค้าเป็นหลัก ทำยังไงก็ได้ ให้เค้าไม่มาว่าเรา เพราะการสร้างลูกค้านั้นยาก แต่สร้างศัตรูนั้นง่าย และต้องคิดถึงลูกค้า ซื้อของไปต้องได้ใช้ ทำของอะไรต้องแข็งแรง อย่าให้ลูกค้าไม่แฮปปี้ ถ้าเค้าไม่แฮปปี้เมื่อไหร่ เค้าจะไม่กลับมา แล้วก็จะทำให้เพื่อนเค้าไม่มาด้วย”

นอกจาก “คิดถึงลูกค้าเป็นหลัก” แล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ เซอร์วิสหลังการขาย ที่ยังคงไว้ และมองไกลที่จะขยายสาขาไปต่างประเทศ โดยมองเป้าว่าจะไปในทั่วเอเชีย

“คนไทยกับคนเอเชียไม่ต่างกัน ยกเว้นญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเค้า แต่ไทย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ รูปแบบการบริโภคเครื่องประดับใกล้เคียงกัน และกลุ่มลูกค้าที่เราจับ ใช้การสื่อสารแบบเดียวกัน ดังนั้น มันเป็นความท้าทายที่เราจะเห็นในรุ่นของเราขยายไประดับเอเชีย” ภาณุวัฒน์ตั้งเป้าหมาย

คลุกคลีกับวงการอัญมณีมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ 2 พี่น้องมีประสบการณ์เรื่องนี้พอตัว โดยทั้งคู่เล่าว่า ถ้าพูดเรื่องฝีมือก็ต้องยกให้ “ไทยแลนด์” ของเรา ที่มีช่างมีฝีมือมากมาย แต่ถ้าถามถึงอัญมณีในไทย อย่าง “ทับทิมสยาม” ตอนนี้ค่อนข้างหายาก เพราะเหมืองของเราไม่สามารถขุดเพิ่มได้อีกแล้ว ทำให้ราคาของทับทิมสยามแพงมาก ถ้าสวยแบบธรรมชาติ ไม่ผ่านกระบวนปรับปรุง กะรัตละ 1 ล้าน ถ้า 5 กะรัต ก็ 5 ล้าน

“ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่คนเล่นพลอยแย่งกัน เพราะใครๆ ก็อยากได้”

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน
เพิ่มเพื่อนขณะที่ “มรกต” ไปทาง “โคลอมเบีย” เป็นหลัก เพราะเป็นสายแร่มรกตที่สวยที่สุด ส่วน พลอย ทับทิม ไพลิน ที่สวยๆ ก็ต้องยกให้ “พม่า” มีสายแร่งดงามที่สุดในโลก มีคุณภาพ เพราะเป็นประเทศเล็ก และหายาก

“เรามักจะได้ยินพลอยพม่า พลอยแอฟริกา ถ้าให้เทียบพลอยชนิดเดียวกัน ราคาพลอยแอฟริกาจะน้อยกว่าพลอยพม่า เพราะหายาก มีปริมาณน้อย ผลิตน้อย ราคาจิวเวลลี สะท้อนที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งก็คือ ราคาที่ขุดขึ้นมานั่นเอง”

พูดถึง พลอย ไพลิน มรกต ไม่พูดถึงอัญมณีในใจใครหลายคนคงไม่ได้ นั่นคือ “เพชร” ที่ผู้บริหารจัสมิน บอกว่า ตอนนี้ ถ้าจะให้บอกว่าเพชรดีที่สุดต้องมาจากแหล่งไหน “ตอบยาก” เพราะมีบางแหล่งที่ไม่ได้ดีที่สุด แต่มูลค่าสูง เพราะมีเรื่องราวมีประวัติศาสตร์ เช่น ค้นพบว่าเป็นเครื่องประดับของกษัตริย์หรือราชินีบางองค์ ทำให้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะบอกว่า ที่นี่ดีกว่าที่นั่น ตามหลักภูมิศาสตร์ อัญมณีศาสตร์ ไม่มีที่ไหนดีกว่ากัน มีคุณสมบัติเท่าๆ กัน

“เมื่อก่อน หลายคนจะสับสนระหว่างพชรรัสเซีย เพชรเบลเยียม พวกนี้เรียกว่าแหล่งเจียระไน ไม่ใช่แหล่งกำเนิด ซึ่งตอนนี้แหล่งเจียระไนเพชรเกือบทั้งหมดมาจาก “อินเดีย” โดยเฉพาะเพชรกลม เพราะอินเดียค่าแรงถูก ภาษาได้ เทคโนโลยีมี จึงเป็นกลไกทางธุรกิจปกติที่ต้องไปอินเดีย”

แต่ถ้าถามถึงอัญมณี ที่แพงที่สุดในตอนนี้ 2 พี่น้องแบรนด์จัสมิน ยกให้ “หยก”

“ทุกวันนี้ หยกแพง เพราะคนจีนนิยม ไม่ว่าอะไรที่คนจีนจับ ราคาพุ่งหมด และถ้าเค้าเลิกเมื่อไหร่ ราคาก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม เพราะเค้ามีกันเป็นล้านคน ใหญ่กว่าประเทศหนึ่งไปแล้ว แล้วเค้ารวยมหาศาล จับอะไรที จับพร้อมกันหมด มันดึงตลาดหมดเลย ตอนนี้ หยก แตะไม่ได้สักอย่าง แพงมาก แพงที่สุดในอัญมณีแล้ว เม็ดเท่านิ้วหัวแม่โป้ง ราคากว่า 100 ล้านบาท”

ทำงานด้านนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าทั้งคู่จะมีอัญมณีสะสมไว้เป็นตู้ๆ ตรงกันข้าม มีเล็กน้อยเท่านั้น

น้องสาว แม้จะชอบเพชร แต่เธอก็ไม่ค่อยซื้อสะสม ฟากพี่ชายนั้น ชอบพลอย เพราะพลอยมีเสน่ห์ แต่ก็มีเก็บไว้ไม่มาก ด้วยเหตุผล “ไม่มีกำลังซื้อ”

“มันก็จะมีความขัดแย้งเล็กๆ ว่า ฉันทำงานเรื่องเพชรพลอย ยังต้องเสียเงินซื้ออีกเหรอ แต่ที่เราไม่เอามาเป็นของตัวเอง เพราะไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของบริษัท และเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมา ถ้าเราอยากได้เราก็ต้องจ่ายบริษัท ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการป้องกันความขัดแย้ง ในการทำงานของเรา 4 คนที่น้องด้วย จึงพยายามทำในระบบบริษัทมากที่สุด” น้องสาวคนสุดท้องกล่าว

ทำงานกับของลักชัวรี่ แต่มีไลฟ์สไตล์ “ไม่ติดหรู” ทุกวันนี้ ถ้าไม่นับการทำงานที่ต้องแต่งตัวเข้าสังคม พวกเขาก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้พรีเซนต์ว่าเป็นเจ้าของแบรนด์หรู ถ้าช่วงไหนที่ต้องรีบส่งงานลูกค้า ก็จะนั่งพี่วินไปส่งถึงที่แบบไม่เกี่ยงงอน

“ยิ่งเวลาทำงาน ภาจะไม่ประโคมใส่เครื่องประดับอะไรมาก เพราะทำงานไม่สะดวก” สาวภาว่า

ขณะที่ ภาณุวัฒน์เสริมว่า “ภาพลักษณ์ทางธุรกิจ อาจทำให้เราดูเหมือนไฮโซหรูหรา แต่สำหรับเรา การอยู่กับของแพง ไม่จำเป็นต้องทำตัวแพง แค่เรารู้ว่า ตัวเองเป็นยังไงก็พอ”

“อย่างลูกค้าของเรา กลุ่มกระเป๋าหนักๆ มีเงินมากๆ บอกชื่อไป ไม่มีใครรู้จัก โลว์โปรไฟล์ แต่ซื้อทุกเดือน หรือบางคนไม่แต่งตัวเลย สะพายย่าม แต่ซื้อของเราหลักแสนหลักล้าน จากตรงนี้ จึงทำให้ผมเข้าใจว่า คนที่มีระดับหนึ่งก็อยากจะให้คนอื่นรู้ว่า มีเยอะกว่านั้น แต่พอมีมากไปกว่านั้น จะเริ่มกลัว จะแบบแย่แล้ว ฉันมีเยอะแล้ว ไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีเยอะ กลัวลูกโดนลักพาตัว กลัวโดนทำร้าย มันจะมีเส้นที่ข้าม ถ้ามีไปขนาดนั้นแล้วต้องกลัว”

สำหรับ 2 พี่น้อง จึงไม่ยึดติดกับคำว่า “ไฮโซ” โดยพี่ชายขอใช้ชีวิตกับครอบครัว อย่างไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรกังวลในหัว ก็เพียงพอแล้ว

ขณะที่ น้องสาว ขอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยการเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต มองทุกอย่างเป็นเรื่องตลก และท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีมาก แต่มีอย่างพอเพียงก็สุขใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image