“Roma” อุทิศแด่ชีวิต “คนรับใช้” ในบ้าน “ชนชั้นกลาง” คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

คําชมและเสียงปรบมือมีให้อย่างมากมายกับผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด “Roma” ของผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าชาวเม็กซิกัน “อัลฟอนโซ กัวรอน”

“ดูจบแล้วยังนึกถึงภาพจากหนังวนเวียนติดอยู่ในหัว” คือหนึ่งในคำบรรยายของผู้ที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเล่าขานให้ฟัง

ใครที่คุ้นเคยกับผลงานของ “กัวรอน” จะเห็น “ลายเซ็น” โดดเด่นจนเป็น “เครื่องหมายการค้า” ในหนังของเขา ไม่ว่าจะเป็น Little Princess, Great Expectations, Y tu mam‡ tambi”n, Harry Potter and the Prisoner of Azkaban, Children of Men และ Gravity

เรามักเห็นสไตล์หนังของเขา เป็นต้นว่า งาน “อินทีเรียดีไซน์” หรือออกแบบฉากภายในที่ชวนหลงใหล การถ่ายทำแบบ Longtake การพากล้องไล่ตามการเคลื่อนไหวของตัวละครแบบยาวต่อเนื่อง ประหนึ่งเรากำลัง “เฝ้ามองชีวิต” ของตัวละครนั้นไปเรื่อยๆ ไปจนถึงสไตล์ “ภาพมุมกว้าง” ที่สวยสะกดสายตา

Advertisement

มาใน “Roma” หนังมีงานภาพที่ “สะกดคนดู”อยู่หมัด อย่างที่เอ่ยมาข้างต้น

การถ่ายภาพมุมกว้าง และเคลื่อนกล้องแพนไปช้าๆ เชื้อเชิญให้คนดูค่อยๆ ละเลียดสัมผัสรายละเอียดของวิถีชีวิต “สาวใช้” และบรรยากาศของเขตโรม่า ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ยุค 70 กลายเป็นภาพที่หนังชวนให้เรามองตามไปเรื่อยๆ

และความพิเศษอยู่ตรงที่ นี่คือ “ภาพยนตร์ส่วนตัว” ที่เล่าเรื่อง “ชีวิตจริง” ของ “อัลฟอนโซ กัวรอน” ในวัยเด็ก และครอบครัวของเขา ที่มีพ่อแม่ ย่า และพี่น้อง 4 คน เป็นครอบครัวเม็กซิกัน ผิวขาว ชนชั้นกลาง ผนวกเข้ากับเรื่องราว “คนรับใช้” ชาวพื้นเมือง พ่วงตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็ก โดยมีนัยยะทางสังคม ชนชั้นคลออยู่ในเรื่อง

Advertisement

เนื้อเรื่องขับเน้นไปที่ชีวิตของคนรับใช้ที่ชื่อ “เกลโอ” ผู้เปรียบเสมือนคนในบ้านมากขึ้นทุกขณะ ขนานไปกับความปริร้าวของพ่อและแม่ ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “ครอบครัว”

“เกลโอ” เป็นชื่อตัวละครสมมุติมาจากคนรับใช้ที่มีตัวตนจริงในครอบครัวของ “กัวรอน” ที่ชื่อ “ลิโบ” หรือ “ลิโบเรีย โรดิเกวซ” และปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ในวัย 74 ปี

แม้ “เกลโอ” จะเหมือนคนในครอบครัวแค่ไหน แต่ในบทบาทหน้าที่ของ “คนรับใช้” ในครอบครัวชนชั้นกลาง เธอยังคงมีกิจวัตรประจำวันในแบบสาวใช้ ตื่นนอนเช้ามืดเตรียมอาหาร ปลุกสมาชิกในบ้าน เก็บอึสุนัข กวาดล้างลานบ้าน ดูแลเด็กๆ ทำงานบ้านจิปาถะ

“กัวรอน” ที่ปัจจุบันในวัย 56 ปี เลือกพูดถึงอดีตคนรับใช้ที่ดูแลเขาตั้งแต่ยังเด็กในมุมให้ความ “เคารพและผูกพัน” พร้อมนำเสนอชีวิตอีกด้านของสาวใช้ ยามที่อยู่ “นอกบ้าน” เธอคือผู้หญิงอีกคนที่มีทั้งทุกข์และสุขเช่นเดียวกัน

ในบริบททางสังคม หนังให้ภาพของ “ครอบครัวชนชั้นกลาง” ที่มีความ “ลักลั่น” บนความ “สมบูรณ์แบบ” ในแบบ “ฟองสบู่” รอวันแตก ไว้เด่นชัด อาทิ การเลี้ยงสุนัขเฝ้าบ้าน แต่ไม่เคยพาสุนัขออกไปวิ่งหรือได้ออกจากบ้าน โดยที่คนในบ้านก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลหรือจะเล่นกับสุนัขเลย แต่ละวันจึงเป็นหน้าที่ของคนรับใช้ที่ต้องกวาดอึสุนัขที่โรงรถ ยามที่เจ้านายถอยรถออกจากบ้านไปแล้ว

เรื่อยไปถึงที่ครอบครัวดันทุรังใช้รถคันใหญ่ที่แทบจะจอดได้ยากลำบากในลานจอดของตัวบ้าน จนถึงเมื่อพ่อตัดสินใจขนตู้ใส่หนังสือทั่วบ้านออกไปหมด ทิ้งไว้แต่หนังสือกองเต็มไว้ที่พื้น

หนังยังมีฉากสัญญะสวยๆ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ “น้ำล้างพื้น” ถูกกวาดซัดไปมาผ่านหน้าจอช้าๆ เหมือนระลอกคลื่นซัดชายฝั่ง ก่อนที่คนดูจะได้เห็นภาพสะท้อนลงแผ่นน้ำที่พื้นว่า มีเครื่องบินลอยลำผ่านมา

นั่นคือการ “เปิดฉาก” ความทรงจำทีละเล็กละน้อยของ “กัวรอน” เมื่อเครื่องบิน คือตัวแทนความทรงจำในอดีตของเขา เพราะการเป็น “นักบิน” คือความฝันวัยเด็กของกัวรอนนั่นเอง

เป็นการบินกลับมาสู่ความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็ก เพื่อสำรวจและตรวจตรา

และเมื่อฉากไคลแมกซ์ท้ายๆ ของเรื่องที่ทะเล คลื่นที่ซัดอย่างรุนแรงไม่ต่างจากฉากเปิดที่การกวาดน้ำก็เหมือน “ระลอกคลื่น” เป็นดั่งเช่นความทรงจำของ “กัวรอน” ที่ค่อยๆ ชัดเจนและก่อตัวเป็นความรักความผูกพันระดับ “มหาสมุทร” ของคนในครอบครัวกับสาวใช้คนนี้

ความตราตรึงของ “Roma” คือเรื่องราวที่สวยงาม เรียบง่าย เล่าเรื่องผ่าน “งานภาพ” ระดับ “เล่นใหญ่” ทำให้ตัวหนังได้รับคำชมล้นหลาม และน่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อ กัวรอนยินยอมให้ “Roma” ที่เป็นดั่งเช่น “หนังส่วนตัว” ของเขา ได้ออกฉายบนบริการสตรีมมิ่ง “เน็ตฟลิกซ์”

จะมีเพียงข้อแม้เดียวคือ ในสายการประกวด “ภาพยนตร์สตรีมมิ่ง” จะเข้าสู่เวทีประกวดได้ ต้องฉายในระบบโรงภาพยนตร์ก่อน จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ประกวด และเมื่อ Roma เป็นหนังฟอร์มดีแววรุ่งบนเวทีรางวัล

“ดีล” ระหว่างผู้กำกับใหญ่เจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง “กัวรอน” กับ “เน็ตฟลิกซ์” ย่อมต้องมีการนำผลงาน Roma ออกฉายขึ้นจอในโรงภาพยนตร์

และ Roma ก็เริ่มต้นได้สวย เมื่อหนังคว้ารางวัลใหญ่ “สิงโตทองคำ” จากเทศกาลภาพยนตร์เวนิส

น่าสนใจตรงที่ว่า “กัวรอน” สร้างหนังที่มีทรง “ขายยาก” (หนังภาษาต่างประเทศและเป็นหนังขาวดำ) แต่เมื่อผลงานแตะระดับคุณภาพ แรงปากต่อปากของ Roma ทำให้คนดูแห่ไปดูทั้งในโรงภาพยนตร์ที่เข้าฉายไม่กี่โรง และต้องเพิ่มโรงในเวลาต่อมา ผนวกกับกระแสที่ส่งมาถึงฝั่งคนดูแบบสตรีมมิ่งในเน็ตฟลิกซ์

จากหนังที่อาจได้คนดูเฉพาะกลุ่ม ขยับตำแหน่งเป็นหนังที่ “เข้าถึง” คนดูหมู่มากได้ และนั่นย่อมเป็นเรื่องดีไม่ว่าคุณจะดู “Roma” ในโรงภาพยนตร์หรือสตรีมมิ่งบนจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ มือถือ คุณกำลังได้สัมผัสหนังที่กลั่นมาจากความทรงจำของผู้กำกับ ที่ต้องการอุทิศให้เห็นถึงชีวิต “คนรับใช้” คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่เราคุ้นชินกับสถานะของพวกเขาจนอาจมองข้ามไป

“สำหรับผมแล้ว ความทรงจำเหมือนรอยร้าวบนผนัง ต่อให้เอาปูนมาโบก เอาสีมาทาทับ แต่รอยร้าวจะยังอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างจากความเจ็บปวดในชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะนานเท่าไร เราจะยังจดจำมันได้ และไม่เคยเลือนหายไป” กัวรอนกล่าวไว้

“Roma” จึงเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำที่ถ่ายทอดออกมาได้สะกดสายตาผู้ชม และสวยงามเฉกเช่นงานศิลปะชิ้นเยี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image