10 ข่าวเชิงสังคม 61 ส่งท้าย ‘ดราม่า’ ปีหมาดุ

10 ข่าวเชิงสังคม 61 ส่งท้าย 'ดราม่า' ปีหมาดุ
10 ข่าวเชิงสังคม 61 ส่งท้าย 'ดราม่า' ปีหมาดุ

10 ข่าวเชิงสังคม 61 ส่งท้าย ‘ดราม่า’ ปีหมาดุ

ข่าวเชิงสังคม – ปีจอกำลังจะผ่านพ้นไป ปีกุน “เรื่องหมู” กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้จะว่าไป เมื่อสำรวจสังคมไทยปี 2561 ต้องเรียกว่า ปีนี้เป็นปี “หมาดุ” เพราะสังคมมีแต่เรื่อง “ดราม่า” โดยเฉพาะเรื่อง “ฉาว” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีการทุจริตครั้ง “มโหฬาร” จนนำมาซึ่งการตรวจสอบทั้งประเทศ

เท่านั้นยังไม่พอ ปีหมาดุยังเต็มไปด้วยข่าว “ความรุนแรงทางเพศ” ที่มีตั้งแต่ทารกยันคนแก่นอนติดเตียง! เกิดอะไรขึ้นมาสังคมที่เหตุใดถึง “เสื่อม!!” ได้ถึงเพียงนี้

แต่ในข่าวร้ายยังมี “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” โดยเฉพาะ “กระบวนการยุติธรรมไทย” ที่ตัดสินคดีทางเพศจนกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของไทย

โดย 10 ข่าวสำคัญด้านสังคมปี 2561 มีข่าวอะไรบ้าง ติดตามอ่านได้ดังนี้

Advertisement

 

1.มหากาพย์โกงเงินคนจน

เป็นคดีใหญ่ระดับประเทศช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่เริ่มต้นจากคนเล็กๆ คนหนึ่ง ในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ภายหลัง แบม-ปณิดา ยศปัญญา นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ก็ได้พบกับความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินงาน เช่น การนำเอกสารทาบกระจก ส่องไฟ เพื่อปลอมลายเซ็นชาวบ้าน ที่มีชื่อได้รับเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและผู้รายได้น้อย ด้วยไม่อยากเข้าร่วมขบวนการ จึงตัดสินใจร้องเรียนหน่วยงานและสื่อมวลชนตรวจสอบ กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบพบทุจริต และขยายผลพบอีกหลายจังหวัด จนนำมาซึ่งคำสั่งโยกย้ายผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงปลายเดือน เพื่อเปิดทางสอบทุจริต

Advertisement

 

2.ปลัด พม.ฆ่าตัวตาย

หลังจากถูกโยกย้ายมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีของ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ไม่เพียงถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย แต่ทั้งคู่พร้อมขบวนการ ยังถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์สินจำนวน 88 ล้านบาท

กระทั่งเข้าสู่เดือนมิถุนายนที่นัดหมายพิจารณาผลสอบวินัย จำนวน 26 ราย แบ่งเป็นข้าราชการระดับสูง 11 ราย และข้าราชการระดับกลาง 26 ราย นายพุฒิพัฒน์ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ด้วยการซดไวน์ใส่ยาพิษพร้อมแฟน ที่บ้านพักหรูแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี เจ้าตัวเสียชีวิต ขณะที่แฟนถึงมือแพทย์ได้ทันรอดชีวิต

ทั้งนี้ ทนายส่วนตัวนายพุฒิพัฒน์ ยังได้เปิดจดหมายที่เจ้าตัวเขียนสั่งเสียไว้ ใจความสำคัญกล่าวถึง “ผมไม่ได้ร่วมมือกับเขา ผมสั่งให้หยุด แต่เขาไม่ฟังผม ผมพลาดที่ไว้ใจคนผิด” ภายหลังนายพุฒิพัฒน์ถูกพิจารณาโทษทางวินัยด้วยการ “ไล่ออกจากราชการ”

นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์
แบม-ปณิดา ยศปัญญา
แบม-ปณิดา ยศปัญญา
มหากาพย์โกงเงินคนจน
มหากาพย์โกงเงินคนจน

 

3.โกงเงินคนพิการ

คดีทุจริตเงินคนจนยังเคลียร์ไม่หมด ในเดือนกันยายน นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ออกมาร้องทุจริตอีก คราวนี้เกิดขึ้นกับการจ้างงานคนพิการในหลายจังหวัด ซึ่งมีตั้งแต่การจ้างงานคนพิการ ที่ใช้ชื่อแต่ไม่ต้องไปทำงานจริง โดยคนพิการจะได้ค่าตอบแทนบางส่วน รวมถึงพบ 1 รายชื่อคนพิการถูกใช้สิทธิในหลายบริษัท ตลอดจนการทุจริตในการให้สัมปทานและโครงการจัดอบรมคนพิการต่างๆ

ทั้งหมดนี้เพื่อจะเลี่ยงการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทรวง พม.ได้สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือกระทรวงแรงงาน สร้างฐานข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศร่วมกัน เพื่ออุดช่องโหว่ต่อไป

นายปรีดา ลิ้มนนทกุล (นั่งรถเข็น)
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล (นั่งรถเข็น)

 

4.โศกนาฏกรรมแม่ฆ่าลูก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ “แม่ฆ่าลูก” ที่โจษจันกันไปทั้งสังคม กับคดีแม่อายุ 21 ปี ผลักลูกชายวัย 2 ขวบ ตกน้ำเสียชีวิต ที่จังหวัดปทุมธานี

ซึ่งภายหลังเกิดเหตุถนนทุกสายตั้งแต่เพื่อนบ้าน สื่อมวลชน ตลอดจนคนในสังคม ต่างรุมต่อว่าแม่รายนี้ว่าเป็น “แม่ใจยักษ์” ทว่านักสิทธิสตรีกลับเห็นต่าง โดยได้จัดงานเสวนา “โศกนาฏกรรมแม่ลูก…บทเรียนและทางออกสังคมไทย” ซึ่งให้ข้อคิดไว้น่าสนใจว่า “ควรพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่ควรกล่าวโทษเพื่อเพียงปลดปล่อยความรู้สึกไม่ดีของตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้” ทั้งนี้ เพราะเข้าใจถึงบทบาทของผู้หญิง ที่บางครั้งอาจไม่มีทางออก

สอดคล้องกับคำรับสารภาพแม่คนดังกล่าว “เครียด ลูกไม่มีคนดูแล ดิฉันต้องทำงาน พอลูกมาอยู่ด้วย ก็ทำงานไม่ได้ เลยยิ่งเครียด จึงตัดสินใจผลักตกน้ำ เพราะไม่มีใครสนใจ ที่บ้านก็โดนตัดไฟ ก็ไม่มีใครสนใจเลย ข้าวไม่มีกิน ก็ไม่มีใครสนใจ คือต้องหาเอง ต้องดิ้นรนเอง”

โศกนาฏกรรมแม่ฆ่าลูก
โศกนาฏกรรมแม่ฆ่าลูก

 

5.ไลฟ์สดทำร้ายร่างกายแฟน

เป็นเรื่องสะเทือนใจคนในสังคม เมื่อการถูกทำร้ายพัฒนาขึ้นเป็นการ “ไลฟ์สด” ทำร้ายกันของคู่รัก เรื่องราวของ เอ็ม-ชัยชนะ ศิริชาติ แอดมินเพจสอนการลงทุน ที่กักขังแฟนสาวในห้องพักของตัวเองย่านเขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ทั้งได้ทารุณกรรมรูปแบบต่างๆ จนชาวโซเชียลทนไม่ไหว แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายและจับกุมผู้กระทำในที่สุด ซึ่งเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ นักสิทธิสตรีก็เช่นกัน

นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน และสตรี กล่าวว่า ต้องไม่คิดว่าเมื่อเรารักกับใคร แล้วใครรักกับเรา แปลว่าชีวิตของเรากับของเขาต้องเป็นของกันและกัน จะเอาให้ตายก็ได้ เอาให้อยู่ก็ได้ เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตใครอย่างนั้น ฉะนั้นต้องคิดว่าผู้หญิงเข้ามาในชีวิตของเราได้ ก็ออกไปจากชีวิตของเราได้เช่นกัน

 

6.ทอมทำร้ายแฟน

เป็นคดีคนรักทำร้ายร่างกาย ที่ถูกนำมาปลุกกระแสสังคมอย่างมาก กับคดีทอมใช้หมวกกันน็อกคทุบและทำร้ายแฟนสาว ที่คอนโดแห่งหนึ่งย่านรัชดา กรุงเทพฯ จนฝ่ายหญิงอยู่ในสภาพสะบักสะบอม ร้องขอความช่วยเหลือจาเพื่อนบ้านชาวคอนโดที่มายืนดูเหตุการณ์ กระทั่งมีหญิงชายคู่หนึ่งที่อดทนต่อความรุนแรงนี้ไม่ไหว อาสาตัวเข้าช่วยยุติเหตุการณ์และนำส่งผู้เสียหายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในที่สุด

ซึ่งสังคมต่างตั้งคำถาม ไทยมุงทำไมไม่เข้าไปช่วย? ช่วยแล้วเขาดีกันเราจะหมาไหม? ช่วยแล้วเขามีปืนเราจะตายไหม? ขณะที่เอ็นจีโอด้านผู้หญิงอย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของสังคม ของสาธารณชน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ไม่ควรเพิกเฉย ควรเข้าไปช่วยเหลือ อย่างน้อยที่สุดคือแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ายุติปัญหา

ทอมทำร้ายแฟน
ทอมทำร้ายแฟน
ทิชา ณ นคร
ทิชา ณ นคร

 

7.ซินดี้กับแฮชแท็ก #METOO #HEARMETOO

ทั่วโลกมีการรณรงค์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศว่ามีอยู่จริง ผ่านแฮชแท็ก #METOO ซึ่งเกิดครั้งแรกตอนปี 2549 มีคนดังระดับโลกร่วมแชร์ประสบการณ์ว่าเรื่องดังกล่าวมีอยู่จริง จนทำให้เป็นแฮชแท็กดังระดับโลก

โดยปีนี้เกิดเป็นกระแสในไทย จากการรณรงค์ของ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดง ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ที่ห้ามผู้หญิงแต่งตัววาบหวิวเล่นสงกรานต์

ซึ่งเธอมองว่านี้คือความคิดชายเป็นใหญ่ ทำไมไม่ห้ามผู้ชายไม่ให้คุกคามทางเพศผู้หญิง แทนที่จะมาประกาศดังกล่าว แม้จะไม่ได้รณรงค์ผ่านแฮชแท็กนี้โดยตรง แต่ภายหลังออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าว จากนั้นเธอก็เสมือนเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิง คอยเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้หญิงเรื่อยมา และช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ UN Women เปิดตัวแคมเปญใหม่ผ่านแฮชแท็ก #HEARMETOO เชิญชวนคนในสังคมทาลิปสติกสีส้ม เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ยุติความรุนแรง

ซินดี้กับแฮชแท็ก #METOO #HEARMETOO (3)
ซินดี้กับแฮชแท็ก #METOO #HEARMETOO (3)

ซินดี้กับแฮชแท็ก #METOO #HEARMETOO (3)
ซินดี้กับแฮชแท็ก #METOO #HEARMETOO (3)

 

8.ศาลตัดสินคดีค้ากามน้ำเพียงดิน

เป็นคดีดังข้ามปีที่ศาลเพิ่งพิจารณาตัดสินในปีนี้ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด “คดีค้ามนุษย์” ที่ทำเป็นขบวนการ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้าราชการในหลายแวดวงเข้าไปเกี่ยวข้อง ในการซื้อกามเด็กและเยาวชนหญิง ที่บ้านน้ำเพียงดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ภายหลังแม่ผู้เสียหายและตัวผู้เสียหายได้เรียกร้องความยุติธรรม โดยมีเอ็นจีโอด้านผู้หญิงคอยเอ็มพาวเวอร์ให้ยังยืนหยัดต่อสู้ จึงนำมาซึ่งคำพิพากษาในหลายศาล เริ่มที่เดือนเมษายน ศาลอาญากรุงเทพฯ มีคำพิพากษาจำเลย 8 คน จำคุกตั้งแต่ 8-320 ปี, ต่อมาเดือนกันยายน ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำพิพากษาจำเลย 1 คน ให้รอลงอาญา 2 ปี และเดือนตุลาคม ศาลอาญากรุงเทพฯ มีคำพิพากษารอบ 2 จำเลย 4 คน จำคุกตั้งแต่ 65-309 ปี

ทั้งนี้ เอ็นจีโอด้านผู้หญิงยังคาดหวังให้เอาผิดกับข้าราชการระดับสูงซื้อกามเด็กหญิง ที่ยังลอยนวลอีกหลายคน

 

9.รุมโทรมเกาะแรด

เป็นอีกคดีดังข้ามปีที่ศาลมาพิจารณาตัดสินในปีนี้ ซึ่งคดีนี้สะเทือนขวัญจนหลายคนนึกถึงคดีคืนบาปพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยเป็นคดีที่เด็กหญิงอายุ 14 ปี ในบ้านเกาะแรด อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ถูกเพื่อนบ้านซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่วนเวียนข่มขืนและรุมโทรมหลายหน แม่ทราบเรื่องจึงเข้าร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ พยายามอยู่พอสมควร จนได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ยังเป็นคดีแห่งความสับสน ที่ชาวบ้านต่างเชื่อว่าเป็นการกุข่าวเรียกเงิน กระทั่งมีการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ และนำมาสู่คำพิพากษาของศาลจังหวัดพังงา ที่สั่งจำคุกจำเลย 11 คน ตั้งแต่ 15 ปีจนถึงตลอดชีวิตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะเป็นแบบอย่างคดีทางเพศในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

10.ยกเลิกรับสมัครนรต.หญิง

จัดเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีความก้าวหน้าที่สุด เพราะได้ให้โอกาสผู้หญิงสู่เส้นทางการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.)หญิงตั้งแต่ปี 2552 ผ่านไปแล้ว 10 รุ่น จู่ๆ ในปีการศึกษา 2562 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ยกเลิกการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอก (หญิง) เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทำเอาบรรดานักวิชาการ เอ็นจีโอด้านสิทธิสตรี ตลอดจนนักการเมืองหญิงส่ายหัวไปตามๆ กัน เพราะเหมือนถอยหลังเข้าคลอง และยังห่วงคดีเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง และเพศจากนี้จะเป็นอย่างไร หากไม่มีตำรวจหญิงที่คอยเข้าใจความอ่อนไหว

ยกเลิกรับสมัครนรต.หญิง
ยกเลิกรับสมัครนรต.หญิง

ถือเป็น 10 ข่าวเหตุการณ์ใหญ่ที่หลายข่าวยังต้องติดตามผลลัพธ์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image