เคยสงสัยไหมทำไมละครไทยต้องตบตี! มาถอดรหัส “อคติทางเพศ” “ผู้หญิง” ใน “สื่อ”

“หากอยากรู้ว่าบ้านเมืองนี้เป็นอย่างไร ให้ดูสิ่งที่ “สื่อ” สื่อสารออกมา เพราะสามารถสะท้อนสภาพสังคมในขณะนั้นได้”

เป็นประโยคคำถามชวนหาคำตอบในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ผู้หญิงในสื่อ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงาน กสทช.

ภายในงาน หลังจากมีการนำเสนอผลงานวิจัย ยังเปิดให้นักวิชาการและผู้รณรงค์ด้านผู้หญิงมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ภาพของผู้หญิงในสื่อ”

รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพของผู้หญิงในสื่อไทยไม่หลากหลาย มีแต่จะถูกผลิตซ้ำ เช่น ผู้หญิงในบทบาทแม่ บทบาทภรรยา มีการแย่งชิงผู้ชาย ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงและหลากหลายของผู้หญิง ที่มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งจะทำให้เข้าใจเรื่องเพศสภาพ ชนชั้น ศาสนา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ด้วย ขณะที่เมื่อย้อนไปดูผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อเอง ซึ่งเคยมีการสำรวจผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อ 1,000 กว่ารายในวงการสื่อประเทศออสเตรเลีย พบว่าผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเฉลี่ยร้อยละ 20 ทั้งต้องเจอปัญหาการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ขณะที่พวกเธอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนสุดท้ายต้องตัดสินใจเปลี่ยนงาน

Advertisement

“หากพูดถึงผู้หญิงในสื่อที่พบการละเมิดสิทธิ การไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็คงต้องพูดถึงผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อด้วย ซึ่งจะเห็นว่าพวกเธอก็ถูกคุกคามทางเพศเช่นกัน ก็ฝากผู้ผลิตสื่อทุกรูปแบบไปคิดต่อ ทำอย่างไรจะไม่สะท้อนปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องลงมือทำในองค์กรตนเองด้วย” รศ.ชลิดาภรณ์กล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อว่า เคยทำการศึกษาวิจัยนโยบายบริหารงานบุคคลในสถานีโทรทัศน์ที่เป็นฟรีทีวีของไทยทั้ง 6 ช่องเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่างานบริหารบุคคลของทุกช่องไม่มีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเลย ไม่มีมาตรการป้องกันดูแลการคุกคามทางเพศ ส่วนสมมุติฐานว่า หากเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อ จะทำให้สื่อสื่อสารออกมาอย่างคำนึงความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิผู้หญิงหรือไม่นั้น ตรงนี้จากงานวิจัยเดียวกันก็ค้นพบว่า สัดส่วนผู้หญิงในกระบวนการผลิตสื่อของไทยมีมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงจะมีสัดส่วนผู้ชายมากกว่า ฉะนั้น เรื่องสัดส่วนของเพศในกระบวนการผลิตสื่อไม่น่ามีนัยยะอะไรกับอคติทางเพศ เพียงอยู่ที่ฐานคิด ทัศนคติของคนผลิตสื่อ

นายนิธิพันธ์ วิประวิทย์ ผู้ริเริ่มแคมเปญ “เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปกติ” ในเว็บไซต์เชนจ์ ดอท โออาร์จี (Change.org) ซึ่งมียอดผู้ร่วมรณรงค์แล้ว 5.9 หมื่นรายชื่อ กล่าวว่า แคมเปญนี้เกิดจากความกังวลที่เมื่อ 2 ปีก่อน ที่สังคมไทยมีข่าวข่มขืนใหญ่ๆ หลายเหตุการณ์ในเดือนเดียวกัน อย่างข่าวนักเรียนในชุดลูกเสือและเนตรนารีร่วมกันจับเพื่อนผู้หญิงร่วมห้องให้เพื่อนชายข่มขืน ซึ่งไม่รู้ว่าเด็กเหล่านี้ไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากที่ไหน แต่ที่สังเกตเห็นคือ พฤติกรรมแบบนี้มีในละครโทรทัศน์ ซึ่งน่าแปลกว่าในช่องเดียวกัน หากเป็นรายการเล่าข่าวตอนเช้า จะบอกพฤติกรรมนี้ว่าเป็นเรื่องไม่ดี เป็นปัญหาอาชญากรรม แต่พอเป็นรายการละครตอนค่ำ กลับทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกสนาน ตนจึงตั้งคำถาม

“พวกเราไม่ได้ต่อต้านฉากข่มขืน แต่ต่อต้านการข่มขืนของพระเอกต่อนางเอกว่าเป็นเรื่องปกติรับได้ จริงอยู่ว่าการดูสื่ออาจไม่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมนั้นในวันสองวัน แต่นี่เป็นการสั่งสมพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ผมและเพื่อนหลายคนเคยส่งอีเมล์แจ้งไปยังช่องต้นสังกัดว่าละครคุณมีปัญหา แต่ช่องกลับเงียบเฉย จึงมาเปิดแคมเปญนี้และร้องกับ กสทช. เพราะอยากเตือนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิด ไม่ควรทำ และนี่ไม่ใช่เรื่องการจำกัดเรตช่วงเวลาฉาย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรมี” นายนิธิพันธ์กล่าว

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า กสทช.อาจไม่มีอำนาจไปลงโทษ เพียงส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ปฏิบัติตามจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเวลาเราเตือนไป พวกเขาก็รับฟังและพยายามปรับปรุงบ้าง อย่างไรก็ดี ตนจะนำร่างแนวปฏิบัตินี้ไปประชุมกับตัวแทนผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์เพื่อประกาศใช้ต่อไป

 

lad01100559p2

รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ดร.ชเนตตี ทินนาม,

นิธิพันธ์ วิประวิทย์, สุภิญญา กลางณรงค์

แนวปฏิบัติการ “ผลิตสื่อ” ที่ “คำนึง” สิทธิสตรี
เนื่อง ด้วยสถานการณ์สื่อไทยที่ผ่านมามีปัญหาทางจริยธรรมอยู่ต่อเนื่อง กสทช.จึงให้มีการศึกษาวิจัย “การพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการนําเสนอรายการโทรทัศน์ บนหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรี” มุ่งหวังให้เป็นคู่มือการทํางานของสื่อมวลชนในประเทศไทยต่อไป

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลวิจัยว่า งานวิจัยได้เก็บข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง 10 ปี และได้สนทนากลุ่มกับผู้เกี่ยวข้องด้านข่าว ละคร โฆษณา และผู้ทำงานด้านผู้หญิง พบข้อควรปรับปรุงและต้องส่งเสริมแบ่งเป็น 3 หัวข้อดังนี้

1.แนวปฏิบัติสำหรับรายการข่าวโทรทัศน์ เช่น สื่อไม่ควรตั้งคำถามที่เปิดบาดแผลของแหล่งข่าว ควรนำเสนอประเด็นข่าวด้านบวกเกี่ยวกับผู้หญิง ควรเพิ่มบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์

2.แนวปฏิบัติรายการละครโทรทัศน์ เช่น ควรนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอนามัยเจริญพันธุ์หรือโรคทาง เพศ บนพื้นฐานจากงานวิจัย หรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ไม่ควรสร้างค่านิยมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศที่ สามารถกระทำความรุนแรงได้ ควรนำเสนอช่องทางช่วยเหลือผู้หญิงที่สอดคล้องความจริงในทางปฏิบัติ พร้อมข้อมูลด้านกฎหมาย

3.แนวปฏิบัติรายการโฆษณาโทรทัศน์ เช่น ไม่ควรทำให้เรื่องเพศกลายเป็นสินค้า ไม่สร้างภาพตายตัวว่าผู้หญิงหมกมุ่นอยู่กับการบริโภคอย่างไม่มีเหตุผล ควรนิยามความงามของผู้หญิงที่เกิดจากตัวผู้หญิง ไม่ใช่กำหนดตามอุดมคติของผู้ชายหรือสังคม ที่ต้องขาว ตาโต จมูกโด่ง อกโต

“ไม่คิดว่าแนวปฏิบัตินี้จะไปหยุดความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตสื่อ ขอเพียงทำอย่างไรจะไม่ไปละเมิดสิทธิ ขณะที่ กสทช.เองนอกจากขับเคลื่อนแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ควรแนะนำแนวทางให้องค์กรสื่อเองมีนโยบายบริหารงานบุคคลที่จะทำให้ทุกคนใน องค์กรมีความสุข เท่าเทียมทางเพศ มีมาตรการป้องกันการคุกคามทางเพศ” ดร.ชเนตตีกล่าวทิ้งท้าย

อ่านแนวปฏิบัติการผลิตรายการโทรทัศน์ฯเต็มๆ ได้ที่ https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/590300000002.pdf

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image