ระบบดาวใหม่ใกล้โลก อาจรองรับสิ่งมีชีวิต

ภาพ-ESO

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีแอจ ประเทศเบลเยียม นำโดยมิชาเอล กิลลอง เผยแพร่รายงานการค้นพบระบบดาวใหม่ล่าสุด ที่มีศูนย์กลางเป็นดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดงที่เย็นมากเป็นพิเศษ (อัลตราคูล ดวอร์ฟ) คือ ดาวแทรพพิสต์-1 ทำหน้าที่เหมือนดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ และมีดาวเคราะห์อีก 3 ดวงโคจรอยู่โดยรอบ หนึ่งในจำนวนนั้นอยู่ในเขตที่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ (ฮาบิแททโซน) โดยที่ระบบดาวดังกล่าวนี้อยู่ห่างจากโลกเพียง 39 ปีแสง ทำให้น่าจะเป็นจุดเดียวที่มนุษย์สามารถตรวจสอบยืนยันว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แทรพพิสต์-1 ซึ่งถูกค้นพบโดยการใช้กล้องโทรทรรศน์แทรพพิสต์ในประเทศชิลี มีความสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะ 2,000 เท่า มีความร้อนน้อยกว่าความร้อนของดวงอาทิตย์กว่าครึ่ง และมีมวลเพียง 1 ใน 12 เท่าของดวงอาทิตย์เท่านั้น ในขณะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ใน 8 ของดวงอาทิตย์ หรือโตกว่าดาวพฤหัสบดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ทีมของมหาวิทยาลัยลีแอจเพิ่งค้นพบว่า มีดาวเคราะห์ 3 ดวงมีวงโคจรถาวรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์อ่อนแรงดวงนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวแคระอัลตราคูล ไม่เพียงแค่ 1 ดวง แต่เป็นระบบที่สมบูรณ์เพราะมีถึง 3 ดวงด้วยกัน โดยดาวเคราะห์แต่ละดวงเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโตกว่าโลกเพียงแค่ 10% ดาวเคราะห์ 2 ดวงด้านในสุดนั้น โคจรอยู่ใกล้แทรพพิสต์-1 มากกว่าที่โลกโคจรอยู่ใกล้ดวงอทิตย์ 60-90 เท่าตัว โดยการโคจรแต่ละรอบกินเวลาเพียง 1.5 วันกับ 2.4 วันตามลำดับ วงโคจรของดาวเคราะห์ดวงที่ 3 มีความแน่นอนน้อยกว่า โดยอาจกินเวลา 4.5 วันเรื่อยไปจนมากถึง 73 วันจึงจะครบ 1 รอบ

ทั้งนี้ แม้ดาวเคราะห์ทั้ง 3 จะอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของระบบมากกว่าที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก แต่ดาวเคราะห์ดวงในสุด 2 ดวงกลับได้รับการแผ่รังสีจากแทรพพิสต์-1 เพียงแค่ 4 เท่า และ 2 เท่าของการแผ่รังสีที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์เท่านั้น ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงที่ 3 จะได้รับการแผ่รังสีจากดาวฤกษ์ของระบบน้อยกว่าที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์

Advertisement

เนื่องจากดาวเคราะห์ในระบบดาวใหม่นี้อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ศูนย์กลางมาก ดังนั้น ทีมวิจัยจึงเชื่อว่าดาวเคราะห์ 2 ดวงในสุดนั้นจะได้รับแรงดึงดูดจากแทรพพิสต์-1 จนทำให้กลายเป็นดาวเคราะห์ที่หันด้านที่ตายตัวเข้าหาดาวฤกษ์ศูนย์กลางตลอดเวลา หรือ “ไทดัลลีล็อค” แบบเดียวกับวงโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ซึ่งหมายความว่าทั้งสองดวงมีซีกที่มีกลางวันถาวร และอีกซีกหนึ่งซึ่งเป็นกลางคืนถาวรนั่นเอง

ดาวเคราะห์ดวงที่อยู่ไกลสุดของของระบบดาวแทรพพิสต์-1 น่าจะอยู่ภายในฮาบิแททโซนของระบบดาวนี้ ซึ่งหมายความว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดังกล่าวนี้อบอุ่นพอที่จะทำให้น้ำสามารถคงสภาพของเหลวอยู่ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยประกอบสำคัญของการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ในขณะที่ด้านกลางวันของดาวเคราะห์สองดวงในสุดนั้นน่าจะมีอุณหภูมิสูงเกินไป ส่วนด้านกลางคืนก็เย็นจัดเกินไปสำหรับการกำเนิดสิ่งมีชีวิต แม้ว่าบริเวณรอยต่อระหว่างเขตทั้งสองอาจมีอุณหภูมิในระดับดีพอกับการเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตก็ตาม

ทีมศึกษาวิจัยระบุว่า ขั้นตอนต่อไปก็คือการสังเกตการณ์ผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวเคราะห์ทั้ง 3 เหล่านี้ด้วยกันเมื่อโคจรเข้าไปอยู่ในระยะใกล้กัน เพื่อนำไปคำนวณหามวลของดาวเคราะห์แต่ละดวง ที่จะช่วยให้สามารถประเมินองค์ประกอบของพื้นผิวของดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ด้วย

Advertisement

หลังจากนั้นอาจใช้กล้องโทรทรรศน์สมรรถนะสูงอย่างฮับเบิลสเปซ เพื่อศึกษาบรรยากาศว่าเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image