ฝุ่นควัน PM 2.5 ‘เริ่มต้นที่บ้าน’ คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

“PM 2.5” ศัพท์เทคนิคมาอีกแว้ว

ก่อนหน้านี้เพิ่งชวนคุยหัวข้อย่ำมลพิษตามไปดูบ้านมรดกโลก 2,000 ล้านหยวนในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนมาแล้ว นึกไม่ถึงเลยว่ามหานครกรุงเทพจะโดนเข้าจนได้

แถมโดนเล่นงานจนโด่งดังไปทั่วโลก บางสถานทูตเริ่มออกคำเตือนนักท่องเที่ยวของตัวเองให้ระมัดระวังถ้ายังคิดจะมาท่องเที่ยวในเมืองไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ

ดูคลิปของคณะอาจารย์แพทย์โรงพยาบาลศิริราช บอกว่าฝุ่นควัน PM 2.5 ผู้ใหญ่ก็มองแต่เรื่องตัวเอง อาจารย์หมอสะกิดเตือนว่าต้องคำนึงการดูแลเด็กด้วย

Advertisement

นิยามคำว่าเด็กคืออายุไม่เกิน 20 ปี ถ้าสูดฝุ่นควันเข้าไปสะสมมากๆ อนาคตอีก 20 ปีหน้ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าเด็กวัยเดียวกันแต่ได้รับการป้องกันไม่ให้ไปเจอ PM 2.5 ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องตระหนักกันให้มากๆ ค่ะ

วันนี้มาดู PM 2.5 เกี่ยวข้องอะไรกับวงการอสังหาริมทรัพย์ ถามแบบซื่อบื้อกันเลยทีเดียว ในที่นี้บอกได้ว่าเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทางอ้อม มีนักเลงคีย์บอร์ดส่งคอนเทนต์ว่อนโซเชียลบอกว่าฝุ่นควันรอบนี้ต้นตอมาจากไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียมกับรถไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วกรุง

Advertisement

ภาคธุรกิจอสังหาฯ ก็เลยโดนตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายสักพักใหญ่ ก่อนจะมีคำเฉลยว่าสาเหตุหลักมาจากเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรม กับในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

ทางตรง ตอนแรกกะจะชวนคุยประเด็นไซต์ก่อสร้างกับ PM 2.5 เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเล็กๆ มาจากไซต์ก่อสร้างจริง แค่เปอร์เซ็นต์อยู่หลัก 10% เศษ ไม่ใช่ตัวการใหญ่

แต่พอดีว่ามีงานแทรก ทาง “สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย” ส่งคอนเทนต์ดีๆ ที่เห็นว่าต้องรีบบอกต่อ เป็นมุมมองของผู้ออกแบบอสังหาฯ

ถ้าจะล็อกการออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นทางในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีหนทางทำได้ ที่สำคัญ ทำได้ในระดับ “บ้าน” กับระดับ “เมือง”

เรามาดูกันที่ระดับบ้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีสถาปัตย์ นั่งทำงานเป็นคณบดี?ถาปัตย์ลาดกระบัง แนะนำไว้ 5 ข้อ ดังนี้

เริ่มจาก 1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน

ก่อนอื่นเราต้องรู้สาเหตุการเกิดฝุ่น สมการเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะอากาศอุ่น (เย็น vs อุ่น) ส่งผลให้เกิดภาวะสภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่ลมหนาวพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่นจึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าตัวบ้าน

2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน

การออกแบบงานภูมิทัศน์หรือการจัดสวนควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน ใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นจำนวนมาก

หากเป็นบ้านมีบริเวณควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน นำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง เคล็ดลับอยู่ที่การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้นอีกด้วย

3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย

เรื่องใกล้ตัวมากแต่นึกไม่ถึง การเลือกใช้วัสดุตกแต่ง การออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น ใช้เหล็กดัดลวดลาย ออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว รวมทั้งการออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น

ข้อแนะนำยังรวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น

4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ

ยุคนี้ถือเป็นอุปกรณ์เสริมได้ แต่ถ้าติดตั้งแล้วกฎเหล็กคือต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมฝุ่นกับเชื้อโรค

ข้อแนะนำยังเลยเถิดมาถึงหากบ้านไหนนิยมใช้พรมเช็ดเท้า-พรมปูพื้น ต้องขยันทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน

5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน

อันนี้เข้าข่ายเป็นเทคนิคเหตุผลเพราะพื้นที่ว่างเหนือตู้และเพดานเป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด ฉะนั้น ให้เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงพอดีหรือติดฝ้าเพดานไปเลย

เกร็ดย่อยยังรวมถึงหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด

ส่วนการออกแบบระดับเมือง จริงๆ แล้วถูกกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี ควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตร/ประชากร 1 คน ส่วนสถิติแท้จริงตอนนี้อย่าเพิ่งไปรู้เลยค่ะ เศร้าใจเปล่าๆ

พื้นที่สีเขียวยิ่งเยอะยิ่งดีเพราะต้นไม้ใบหญ้าช่วยดักฝุ่นละอองอยู่แล้ว เหลียวดูกรุงเทพฯของเรามีความหนาแน่นสูงแต่มีพื้นที่สีเขียว 10% เทียบกับเกาะสิงคโปร์ที่กว้าง x ยาวแค่ 23 x 42 กิโลเมตร เล็กกว่าเกาะภูเก็ตแต่สามารถเนรมิตพื้นที่สีเขียวถึง 47%

การจำกัดการใช้รถยนต์ ทำโซนนิ่งห้ามรถยนต์ต่ำมาตรฐานเข้ามาวิ่ง สร้างรถไฟฟ้า-ระบบขนส่งสาธารณะเจ๋งๆ สร้างไบค์เลนเยอะๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ช่วยได้หมด

มีสิ่งหนึ่งดีที่สุดในโลกคือเริ่มต้นที่ตัวเรา ทำคนละไม้คนละมือเล็กๆ น้อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว งดการเผาสิ่งปฏิกูล และอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ได้เทศน์ใครเป็นพิเศษ เป็นคำแนะนำของสภาคณบดีสถาปัตย์ จิง จิ๊ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image