ฝุ่นควัน PM 2.5 ‘มุดไซต์ก่อสร้าง’ คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน

ยังไม่แล้วใจ… PM 2.5 เกิดจากไซต์ก่อสร้างคอนโด-รถไฟฟ้าสายใหม่จิงป๊ะ

ยิ่งนานยิ่งบานปลาย ล่าสุด 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2562 บันทึกไว้เลยว่ารัฐบาล คสช.สั่งให้โรงเรียนหยุด 3 วันรวด มี ท.ทหารอดทนได้ออกมาหาเสียง เอ้ย! ไม่ใช่ ได้ออกมาปฏิบัติหน้าที่ตามท้องถนนอีกครั้ง

ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า “เหตุรำคาญ” เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการควบคุมเหตุรำคาญ และเวลาทำก็ไปหยิบกฎหมายสาธารณสุขมาทำ

ตัวอย่างเช่น “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ระบุแหล่งกำเนิดของเหตุรำคาญ 3 แหล่ง 1.รถยนต์ดีเซลที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน 2.การเผาในที่โล่ง ได้แก่ การเผาหญ้า เผาตอซังข้าว และเผาขยะ เป็นต้น (การเผาไล่ที่ไม่นับค่ะ-ฮา)

Advertisement

และ 3.กิจกรรมการก่อสร้างที่ก่อมลพิษทางอากาศ โดนเต็มๆ กันเลยทีเดียว

เรื่องนี้ไปสอบถามผู้รับเหมา ดีเวลอปเปอร์ กับคอนซัลต์หรือที่ปรึกษา โครงการเอกชน พูดตรงกันว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมในไซต์ก่อสร้าง รัฐบาลควบคุมค่อนข้างรัดกุม กระดิกกระเดี้ยลำบาก

ล่าสุดของล่าสุด บริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนยี่ห้อ LPN เขาทำดีต้องบอกต่อค่ะ นอกจากสร้างคอนโดขายแล้ว หลังจากโอนกรรมสิทธิ์เขาตามไปบริหารนิติบุคคลให้ด้วย เบ็ดเสร็จในมือตอนนี้มี 150 โครงการในกรุงเทพฯ

Advertisement

เขาดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมเป็นต้นมา ฉีดละอองน้ำแบบสเปรย์ อธิบายง่ายๆ คือทำม่านน้ำนั่นเอง ติดตั้งบนชั้นดาดฟ้า เลือกฉีดวันละ 3 ครั้ง เริ่ม 8 โมงเช้า, เที่ยง, 6 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาที่การเดินทางคับคั่งที่สุด

LPN เขาบอกว่าบริษัทมี 6 แนวทางทำไซต์ก่อสร้างรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1.รดน้ำกันฝุ่นให้ถี่ขึ้น ถึงขนาดเปลี่ยนเป็นรดน้ำทุกชั่วโมง 2.ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง ควบคุมไม่ให้ค่าเกินมาตรฐาน

3.ทำม่านน้ำบริเวณถนนหน้าโครงการ-พื้นที่โดยรอบ-บนรั้ว กวาดฝุ่นรอบอาคารมากขึ้นหลังน้ำที่ฉีดแห้งแล้ว

4.ให้คนงานใส่หน้ากาก N95 กันฝุ่น 5.ห้องตัดกระเบื้อง ห้องตัดลามิเนตที่มีพัดลมดูดฝุ่น ต้องติด filter ในช่องเป่าอากาศก่อน

6.วางแผนลดการขนส่งวัสดุก่อสร้างเข้า-ออกไซต์ให้น้อยที่สุด, ขั้นตอนที่การก่อสร้างเพิ่งโผล่พ้นดิน ก็ให้พรมน้ำตลอดวันทั่วทั้งโครงการ

ยกตัวอย่างหล่อๆ อีกสักราย “พี่อ๊อด-ยุทธนา ภูพวก” โปรเจ็กต์ แมเนเจอร์ บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท ไทยแลนด์ ได้ความรู้มาบอกต่อว่า “สผ.-สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” มาตรฐานสูงมว้าก มีกฎหมายกฎระเบียบหยุมหยิมยุ่บยั่บกว่าจะสร้างตึกสูงเสร็จสัก 1 แห่ง

หลักๆ กฎหมายบังคับให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ, ระดับเสียงโดยทั่วไป, ค่าความสั่นสะเทือน, วิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้ง

เจ้าของโครงการถูกบังคับให้ทำรายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละอองรวม (TSP) และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนหรือ PM-10

ยังไม่นับตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ก๊าซไฮโดรคาร์บอน (THC), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ฯลฯ

เริ่มเยอะแล้ว ช่างมันเถอะ เรามาดูบรรยากาศไซต์ก่อสร้างกันดีกว่า จะพบว่ามีหน้าตาอย่างนี้ค่ะ เริ่มต้นจากบริษัทล้อมรั้วสูง 2 เมตรป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นออกสู่ภายนอก

มีการใช้ผ้าใบหรือตาข่ายถี่กั้นรอบอาคาร อันนี้เองที่เราจะคุ้นตากับภาพคอนโดสูงๆ แล้วเหมือนมีผ้าใบหุ้มตึก เรียกว่า mess sheet เห็นบอกว่าราคาหลายตังค์หรือหลายล้าน แต่ใช้ซ้ำได้

ความยากอยู่ตรงการติดตั้ง ถ้าตึกสูง 8 ชั้นก็ติดตั้ง 8 ชั้น ถ้าตึกสูง 35 ชั้นก็ติดตั้ง 35 ชั้น ปกติตอนติดตั้งว่ายุ่งยากแล้ว ตอนรื้อถอนยากกว่าเยอะ

มีการจัดคนงานทำความสะอาดและพรมน้ำก่อนกวาดทุกครั้ง เพื่อลดการทำฝุ่นฟุ้งกระจาย

สำหรับเศษวัสดุก่อสร้างอยู่บนชั้น 30 จะทิ้งยังไงดีล่ะ วิธีการเขาจะทำปล่องทิ้งแล้วพรมน้ำเศษวัสดุก่อนหย่อนลงปล่อง ไม่ให้ฝุ่นฟุ้งไปบ้านข้างเคียง

ในไซต์เขามีกฎเหล็กดับเครื่องยนต์-เครื่องจักรถ้าไม่ได้ใช้งาน ดูแลให้มีสภาพดีเยี่ยมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ

ในการขนส่งก็เป็นตัวการเกิดฝุ่นได้ สิ่งที่ทำคือจำกัดความเร็ว 30 กม./ชั่วโมง มีการคลุมผ้าใบรถกระบะรถบรรทุก เพื่อป้องกันเศษวัสดุตกหล่นหรือฟุ้งกระจายบนถนนหนทาง

ก่อนออกจากไซต์ รถบรรทุกใหญ่เล็กทุกคันต้องล้างล้อรถเพื่อไม่ให้มีดินติดล้อออกไป

ถ้าไซต์ก่อสร้างอยู่กลางเมืองมากๆ หรืออยู่ใกล้เจ้าที่ เอ้ย! ไม่ใช่ อยู่ใกล้เพื่อนบ้านเขี้ยวๆ อาจต้องสร้างรั้วเมทัล ชีต หนา 2 มม.เพื่อเป็นกำแพงกันเสียง และอาจต้องติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงอีกต่างหาก

บางกรณีที่ต้องมีการขุดดินแปลว่าต้องมีการกองดิน มาตรการป้องกันฝุ่นละออง เช่น กองดิน หิน ทรายบนพื้นต้องมีผ้าใบคลุมมิดชิด ไม่ให้ฝุ่นฟุ้ง

ยังมีเรื่องขุดดินไปทิ้งนอกโครงการ มาตรการที่ใช้กันคือนอกจากจำกัดความเร็ว ยังเพิ่มดีกรีด้วยการจำกัดน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 15 ตันสำหรับรถ 6 ล้อ และไม่เกิน 25 ตันสำหรับรถ 10 ล้อ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าไซต์ก่อสร้างอาคารไม่มีฝุ่น

แต่เขาพยายามอธิบายว่ากระผมไม่ใช่ตัวการหลักปัญหา PM 2.5 เด้อคับเด้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image