สติ๊กเกอร์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

แม้จะขยับขยายบริการหลากหลายมากเพื่อให้ครอบคลุมและอำนวยความสะดวกให้กับการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่แอพพลิเคชั่น “แชท” ไลน์ (LINE) ยังเป็นแกนหลักในการยึดโยงฐานลูกค้ากว่า 44 ล้านรายหรือเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศที่มีเฉียดๆ 70 ล้านรายเอาไว้

โดย “ไทย” ถือเป็นหนึ่งในสองประเทศในโลกรองจาก “ญี่ปุ่น” ที่มีฐานลูกค้ามากที่สุด

นอกจากบรรดาสารพัดบริการของ “ไลน์” ทั้งด้านคอนเทนต์, เกม, เพย์เมนต์, อีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่บริการประเภทดิลิเวอรีทั้งหลาย ไม่ว่าจะขนสินค้า/อาหาร ผ่านบริการ “ไลน์แมน” หรือขนคนด้วย “ไลน์แท็กซี่” และบริการใหม่ๆ ที่เชื่อว่าจะมีทยอยออกมาอีกเพียบ

1 ในนั้นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง คือ บริการสินเชื่อภายใต้ความร่วมมือมือกับแบงก์กสิกร แต่ที่น่าสนใจก็คือ ยังมีอีกหนึ่งบริการที่ยังอยู่ยั้งยืนยง และสร้างรายได้ให้ “ไลน์” เป็นกอบเป็นกำอย่างยิ่ง คือธุรกิจ “ไลน์ สติ๊กเกอร์”

Advertisement

ใช่หรือไม่ว่า เพราะ “สติ๊กเกอร์” ทำให้คนไทยนิยมชมชอบการแชตด้วยแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ซึ่งเรื่องนี้คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก (อีกครั้ง) จากสัดส่วนผู้ซื้อสติ๊กเกอร์ต่อผู้ใช้งาน 1 ราย สูงติดอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ญี่ปุ่นและไต้หวัน มีอินโดนีเซียต่อท้ายตามมาเป็นอันดับ 4

ไม่ใช่แค่นั้นในปี 2561 ที่ผ่านมา ธุรกิจ “ไลน์สติ๊กเกอร์” ในประเทศไทยยังสร้างปรากฏการณ์การเติบโตสูงสุดในภูมิภาคนี้ ด้วยยอดดาวน์โหลดเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาด “ครีเอเตอร์สติ๊กเกอร์” ที่โตกว่า 40%

ตลอดทั้งปีที่แล้ว “คนไทย” ส่งสติ๊กเกอร์รวมกันสูงถึง 1 หมื่นล้านครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 31 ล้านครั้งทำให้ยอดขายสติ๊กเกอร์ของไทยเติบโตเป็นอันดับ 1 ของโลกในปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ซื้อสติ๊กเกอร์สูงขึ้น 28%

Advertisement

อันดับสอง คือ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตามมาเป็นอันดับสาม

กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติ๊กเกอร์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ตลาดไทยโตแซงหน้าประเทศอื่น มาจากการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ช่องทางหลักจะยังเป็นการซื้อผ่าน

แอพพลิเคชั่น และ 80% ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต

ขณะที่ช่องทาง “ไลน์สโตร์” ช่วยเพิ่มผู้ใช้ใหม่ได้ถึง 68% ส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง กลุ่มนักศึกษา และผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน รวมเข้ากับการขายผ่าน “ตู้เติมเงิน” กว่า 7 แสนตู้ทั่วประเทศทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้าง

ปัจจุบัน มีผู้ซื้อสติ๊กเกอร์ “ไลน์” ผ่านตู้เติมเงินมากกว่า 1 ล้านคน โดย 60-70% เป็นผู้ซื้อใหม่

อีกภารกิจสำคัญในปีนี้ของไลน์จึงยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะจากการสำรวจพบว่าคนถึง 39% ไม่รู้ว่าจะซื้อ “สติ๊กเกอร์” อย่างไร ขณะที่ “ไลน์สโตร์” ซึ่งเป็นช่องทางที่ชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบกลับมีคนรู้จักไม่มากนัก

จากการเก็บข้อมูลสถิติการส่งสติ๊กเกอร์ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาพบว่า มียอดการส่งสติ๊กเกอร์ทั้งในรูปแบบที่มีการจำหน่าย และแจกฟรีโดยแบรนด์ต่างๆ รวม 2 วัน ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2561-1 มกราคม 2562 สูงกว่า 252 ล้านครั้ง

โดยเฉพาะวันที่ 1 มกราคม 2561 มีการส่งตลอด 24 ชั่วโมงกว่า 157 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6.5 ล้านครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 51%

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “สติ๊กเกอร์” ยังเป็นหนึ่งเครื่องมือในการสื่อสารยอดฮิตของคนไทยที่นอกจากจะใช้แทนคำพูดแบบไม่ต้องพิมพ์ยาวแล้วยังช่วยสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างเข้าใจ, ชัดเจน และสนุกขึ้นอีกด้วย

“กณพ” ย้ำว่าการเติบโตของ “ไลน์สติ๊กเกอร์” มาจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องตัวคอนเทนต์เอง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นของสติ๊กเกอร์ที่มีหลายเซตสร้างปรากฏการณ์ให้ผู้คนสนใจดาวน์โหลดจำนวนมาก เช่น สติ๊กเกอร์จากละครดังบุพเพสันนิวาส เป็นต้น

โดยเทรนด์สติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยม มี 4 รูปแบบ คือ 1.สติ๊กเกอร์ชื่อ 2.สติ๊กเกอร์เล่นคำ เช่น มุขต่างๆ 3.สติ๊กเกอร์ที่มีตัวอักษรใหญ่ และ 4.สติ๊กเกอร์คนดัง, ดารา ซึ่งสอดคล้องกับยอดดาวน์โหลดของทั้งออฟฟิเชียลสติ๊กเกอร์ และครีเอเตอร์สติ๊กเกอร์ที่พบว่า อันดับสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่ในกลุ่มท็อป 10 ล้วนเป็นสติ๊กเกอร์ใน 4 กลุ่มนี้ทั้งหมด

และปีนี้ยังเตรียมเพิ่มสติ๊กเกอร์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อผลักดันการใช้งานเพิ่มขึ้น รวมถึงจะนำ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่มีชื่อเสียงมาทำ “ออฟฟิเชียล สติ๊กเกอร์” ด้วย แม้ฐานแฟนคลับอาจไม่มากเท่ากับศิลปิน ดารา แต่มี “เอ็นเกจเมนต์มากกว่า”

อีกปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับสติ๊กเกอร์ที่ประสบความสำเร็จ คือการทำ Collaboration Stickers หรือการออกสติ๊กเกอร์ที่เป็นคอนเทนต์จากค่ายผู้ผลิตที่ออกแบบโดยครีเอเตอร์ชื่อดัง โดยพบว่าเมื่อเนื้อหาคอนเทนต์ เช่น เพลง และลายเส้นครีเอเตอร์ที่มีเอกลักษณ์และได้รับความนิยมมาร่วมมือกันออกสติ๊กเกอร์จะมีการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

เพิ่มทั้งโอกาสในการขาย และสร้างสีสันใหม่ให้ผู้ใช้งานได้

นอกจากจะมุ่งเน้นขยายช่องทางการชำระเงินเพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น อย่างการเปิดให้ชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งได้แล้วยังจะมีความร่วมกับพันธมิตร ทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์ และช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อต่อยอดความสำเร็จของ O2O Strategy รวมถึงการทำ Loyalty program ต่างๆ เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างผู้ใช้สติ๊กเกอร์ และไลน์ให้เหนียวแน่นขึ้นด้วย

ไม่ใช่เฉพาะแต่ “ไลน์สติ๊กเกอร์” เท่านั้น กว่า 7 ปี นับจากแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ถือกำเนิดขึ้น เบื้องหลังสารพัดบริการทั้งที่มีอยู่แล้ว และกำลังจะมีต่อไปล้วนมาจากหลักคิดที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือการคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น และมุ่งไปที่การแก้ Pain Point ของผู้ใช้งานเพื่อทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image