On the Basis of Sex ‘กฎหมาย’ ที่พึงต้องพิจารณา ตามสภาพภูมิอากาศของ ‘ยุคสมัย’ คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

หลายครั้งของการต่อสู้เรียกร้องในประเด็นด้านสิทธิ ผู้ที่ถูกกระทำอย่างไม่เท่าเทียมย่อมเข้าใจหัวอก และรู้ซึ้งจากผลแห่งการถูกกระทำนั้น พวกเขาจึงพร้อมที่จะต่อสู้กับมัน และบางคนก็ขับเคลื่อนจนสำเร็จในระดับ “เปลี่ยนแปลงสังคม”

หนึ่งในคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ระดับเห็นผลนี้ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาย่อมจารึกชื่อของ รูธ เบเดอร์กินส์เบิร์ก นักกฎหมายหญิงด้านสตรีนิยมผู้สร้างตำนานการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมระหว่างเพศขึ้นมา

ภาพยนตร์เรื่อง “On the Basis of Sex” ดัดแปลงจากประวัติและชีวิตจริงของ “รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก” ชาวสหรัฐเชื้อสายยิว เกิดจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในทศวรรษ 30 ปัจจุบันอายุ 85 ปี

เริ่มชีวิตด้านกฎหมายในฐานะ “อาจารย์สอนวิชากฎหมายและสตรี” ผันตัวมาสู่ “ทนายความ” และนักกฎหมายหญิง กระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด “ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ”

Advertisement

ตลอดชีวิตที่เธอเดินหน้าผลักดันแก้ไข “กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ” มาตลอดหลายทศวรรษ โดยเลือกคดีที่มีเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในเรื่องการแบ่งแยกทางเพศ ซึ่งผลแห่งคดีเมื่อว่าความชนะได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาในระบบกฎหมายสหรัฐ

เธอมีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและการแบ่งแยกทางเพศ รวมทั้งเข้าร่วมกับ “สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน” American Civil Liberties Union หรือ ACLU ในยุค 70

 

เรื่องราวในภาพยนตร์ “On the Basis of Sex” เล่าได้น่าติดตาม ตัวหนังปูให้เห็นชีวิตต้องสู้ของ “รูธ กินส์เบิร์ก” สมัยเป็นนักศึกษากฎหมายตั้งแต่ “มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”(ก่อนจะโอนย้ายมาเรียนต่อที่ ม.โคลัมเบีย) ซึ่งในยุค 50 นั้น เป็นเรื่องใหม่มากๆ เพราะมีผู้หญิงสอบได้เข้าเรียนกฎหมายที่ฮาร์วาร์ดเป็นครั้งแรก 9 คน และ “รูธ” เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งการเป็น “นักเรียนกฎหมายหญิง” ในฮาร์วาร์ดไม่ได้ราบรื่น นอกจากต้องเรียนหนักโดยวิสัยอยู่แล้ว ยังถูก “ตัดสิน” จากภาพลักษณ์ความเป็นผู้หญิงทั้งจากนักเรียนกฎหมายด้วยกัน อาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย

โดยเฉพาะการถูกกีดกันทางอาชีพหน้าที่การงาน เพราะทัศนคติที่มองผู้หญิงในแวดวงนักกฎหมายยุค 50 เป็นเรื่องไม่ปกติ และยังถูกดูแคลนถึงความสามารถ

แม้ว่า “รูธ กินส์เบิร์ก” จะจบเป็นที่หนึ่งของรุ่นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีบทความทางวิชาการด้านกฎหมายเขียนเผยแพร่สมัยเรียน

ด้วยศักยภาพและความสามารถที่มีกลับไม่ได้รับการเปิดกว้างจากสำนักงานกฎหมาย เธออยากเป็นทนายความ อยากว่าความในคดีที่ท้าทาย แต่หลังจากเรียนจบออกตระเวนสัมภาษณ์งานตามสำนักกฎหมายในนิวยอร์ก เธอถูกปฏิเสธทั้งหมด ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ทั้งความเป็นผู้หญิงที่อาจมีอารมณ์อ่อนไหวกระทบต่อคดี หรือบางสำนักงานก็จำกัดสัดส่วนจากการจ้างงานนักกฎหมายหญิง เรื่อยไปถึงเสนอให้เป็นเลขานุการแทนนักกฎหมาย หรือเหตุผลไม่รับเข้างานขนาดที่ว่าเกรงกลัวเรื่องชู้สาวในสำนักงาน

นั่นทำให้เส้นทางชีวิตของ “รูธ กินส์เบิร์ก” หันเหไปเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสอนที่มหาวิทยาลัยรัทเกอร์แทนจนดำรงตำแหน่งเป็น “ศาสตราจารย์” อยู่กว่าสิบปี ก่อนที่เธอจะผันตัวเองมาเป็นทนายความต่อสู้ในประเด็น “แบ่งแยกทางเพศ” ในเวลาต่อมาท่ามกลางยุคสมัยที่ “การเรียกร้องสิทธิพลเมือง” กำลังเบ่งบาน

นี่คือเรื่องราวของนักกฎหมายชั้นดี ที่ต้องถูกกฎหมายที่ตัวเองร่ำเรียนและเขียนขึ้นมาเป็นร้อยปีเลือกปฏิบัติใส่ตัวเองอย่างไม่มีทางดิ้นหนี

กว่าที่ “รูธ กินส์เบิร์ก” จะได้ว่าความในศาลครั้งแรก ได้เป็น “ทนายความ” เต็มตัว ก็ต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรษ

แต่ในความโชคร้ายที่ยุคสมัยเริ่มต้นหน้าที่การงานของ “รูธ กินส์เบิร์ก” ไม่เอื้อให้ผู้หญิงทำงานในแวดวงกฎหมาย แต่เธอยังโชคดีที่สามี (มาร์ตี้ กินส์เบิร์ก) ที่พบรักกันสมัยเรียนและเป็นนักกฎหมายด้านภาษีผู้เก่งกาจ กลับเข้าใจภรรยาอย่างสุดซึ้งถึงความฝันที่ต้องการเป็น “ทนายความ” นอกจากเป็นกำลังใจ ปลอบประโลมแล้ว ยังช่วยเหลือและผลักดันเป็นสายลมใต้ปีกให้ภรรยาอยู่บ่อยครั้ง

หากถามว่า “รูธ กินส์เบิร์ก” ใช้ความรู้ทางกฎหมายช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ขนาดไหน มีคดีสำคัญที่เธอเข้าร่วมต่อสู้จนชนะ และกลายมาเป็นบรรทัดฐานกฎหมายใหม่ อาทิ กฎหมายของรัฐไอดาโฮที่เดิมให้ผู้ชายเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ตายที่ไม่มีพินัยกรรมระบุไว้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางเพศ

“รูธ กินส์เบิร์ก” เข้ามาช่วยในคดีที่พ่อแม่ในรัฐไอดาโอ ฟ้องร้องสิทธิกันเองในพินัยกรรมที่ไม่ระบุชัดเจนของลูกที่เสียชีวิต โดยมีบทบาทเข้ามาช่วยเขียนคำสรุปแถลงปิดคดีจนชนะคดีสำเร็จ และกลายเป็นครั้งแรกที่กฎหมายที่เกี่ยวกับเพศมีบรรทัดฐานที่มีความเท่าเทียมกัน

รวมทั้งชนะในคดีที่รัฐมีข้อกำหนดด้านภาษีว่าจะไม่ลดหย่อนภาษีให้ชายโสดที่ต้องดูแลครอบครัว ซึ่งเธอเชื่อมโยงประเด็นการแบ่งแยกทางเพศนี้มาถึงผู้หญิงที่ถูกกีดกันด้านหน้าที่การงานในสังคม

นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในแวดวงวิชาการกฎหมาย แต่งตำราเรื่องการแบ่งแยกทางเพศสำหรับโรงเรียนกฎหมาย เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่แบ่งแยกอย่างไม่เท่าเทียม เป็นต้น

กระทั่งในปี 1993 เธอได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ” ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่ต้องการถ่วงดุลผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม

แต่กว่าจะมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตหน้าที่การงานทางกฎหมายในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงนั้น “รูธ กินส์เบิร์ก” ก็ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในฐานะสตรีเพศมาก่อนนับทศวรรษ

วลีเด็ดที่ภาพยนตร์ “On the Basis of Sex” ย้ำกลายๆ ผ่าน วลีของอาจารย์วิชากฎหมายในฮาร์วาร์ดที่ยกขึ้นมาระหว่างเล็กเชอร์นักเรียนทั้งห้อง ขณะที่ “รูธ กินส์เบิร์ก” เป็นนักเรียนหญิงคนเดียวในชั้นเรียนที่ว่า…

“ศาลไม่ควรตัดสินไปตามการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศในแต่ละวัน แต่ศาลต้องพิจารณาไปตามสภาพภูมิอากาศของยุคสมัย”

เช่นเดียวกับสตรีที่เกือบจะมาก่อนกาลอย่าง “รูธ กินส์เบิร์ก” ที่เกือบจะไม่ได้มีอาชีพด้านกฎหมายเมื่อสังคมสมัยนั้นกีดกัน ในฐานะผู้ถูกกดขี่ย่อมเข้าใจถึงสภาวะนั้นได้ดีทำให้เธอลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องแก้ไขให้สังคม

เฉกเช่นที่ “ยุคสมัยที่สังคมเปลี่ยนไป” กฎหมายหลายมาตรากลายสภาพบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม ก็ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขตามสภาพของภูมิอากาศของยุคสมัย ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะใช้กันมาเป็นร้อยปีจนเชื่อสนิทใจอย่างเป็นประเพณีก็ตาม


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image